โฟกัสพระเครื่อง : พระขุนแผนใบพุทรา หลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง พระเกจิชื่อดังสามโคก

(ซ้าย) หลวงพ่อหร่ำ เกสโร (กลาง) พระขุนแผนใบพุทรา หลวงพ่อหร่ำ (หน้า) (ขวา) พระขุนแผนใบพุทรา หลวงพ่อหร่ำ (หลัง)

โฟกัสพระเครื่อง–(เสรีภาพ อันมัย)

โคมคำ / [email protected]

 

พระขุนแผนใบพุทรา

หลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง

พระเกจิชื่อดังสามโคก

 

“หลวงพ่อหร่ำ เกสโร” วัดกร่าง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งปทุมธานี

วัตถุมงคลที่เป็นสุดยอดปรารถนา อาทิ ตะกรุด ผ้ายันต์ รูปกระดาษ พระเนื้อดินเผา พระพิมพ์เม็ดน้อยหน่า เป็นต้น

แต่ที่โดดเด่นเป็นที่เลื่องลือ คือ “พระขุนแผนใบพุทรา”

จัดสร้างขึ้นด้วยเนื้อดินผสมผงและว่านมหาเสน่ห์ มีทั้งส่วนผสมของพระกรุต่างๆ แต่เนื้อพระค่อนข้างแห้งและหยาบ ปรากฏแร่เม็ดสีแดงบ้าง สีขาวขุ่นแบบพระบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี

สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2460 แม้จะหย่อนความงามเพราะเป็นฝีมือช่างชาวบ้าน ช่วยกันแกะแม่พิมพ์จากหินมีดโกน จากนั้นนำเข้าพิธีปลุกเสกหลายพรรษา แล้วนำมาบรรจุกรุในพระเจดีย์ด้านหน้าพระวิหาร

เป็นเลิศ ดีครบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ ชาวสามโคกทราบเป็นอย่างดี เรียกขานกันว่า “ขุนแผนแห่งเมืองปทุม” ชาวบ้านแถบนั้น ใครมีในครอบครองต่างหวงแหน จึงไม่ค่อยได้พบเห็นกัน

กลายเป็นวัตถุมงคลที่ชาวเมืองปทุมต่างเสาะแสวงหา

วัดกร่าง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ ต.บางกระบือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.2300 สมัยกรุงศรีอยุธยา

ตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีเจ้าอาวาสรูปแรกชื่อ พระอธิการวัน และหลวงพ่อหร่ำ ก็เป็นหนึ่งในเจ้าอาวาสวัดกร่างที่มีชื่อเสียงมาก ได้รับความเลื่อมใสศรัทธามาอย่างยาวนาน

 

มีนามเดิมว่าหร่ำ เกิดที่บ้านบางกระบือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2415 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน บิดาชื่อ นายแอบ มารดาชื่อ นางเผือน

ในช่วงวัยเยาว์ ศึกษาภาษาไทยและภาษาบาลีกับหลวงพ่อนอม ที่วัดกร่าง หลังจากนั้น อายุ 17 ปี บรรพชาประจำอยู่วัดดังกล่าว

อายุครบ 20 ปี อุปสมบท มีพระอธิการหิน วัดสวนมะม่วง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการนอม วัดกร่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า เกสโร

 

อยู่จำพรรษาที่วัดกร่าง ศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานจากหลวงพ่อนอม ซึ่งเป็นพระผู้เชี่ยวชาญในด้านกัมมัฏฐาน อีกทั้งได้รับถ่ายทอดวิชาทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี ตลอดจนเวทมนตร์วิทยาคมจนหมดสิ้น

สำหรับพระอธิการนอมนั้นเป็นพระเชื้อสายมอญและเป็นที่นับถือเคารพและศรัทธาจากหลวงพ่อกลั่น ธัมมโชโต วัดพระญาติ จ.พระนครศรีอยุธยา และหลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา เคยเดินทางมาศึกษาวิชาด้วยเสมอ

เวลาหลวงพ่อกลั่นเข้ามากรุงเทพฯ จะต้องแวะวัดกร่าง เพื่อสนทนาธรรมด้วยเสมอ

บั้นปลายชีวิตไว้ใจให้หลวงพ่อหร่ำลงตะกรุดโทนและถวายให้ปลุกเสกกำกับ พร้อมกับบอกญาติโยมว่า “ถ้าต้องการได้ตะกรุดโทนละก็ ไม่ต้องมาหาฉัน เพราะฉันหูตาไม่ดีแล้ว ให้ท่านหร่ำเขาลงและปลุกเสกให้ ส่วนถ้าจะให้ฉันปลุกเสก ก็ค่อยเอามาให้ตอนหลังก็ได้ ท่านหร่ำเขาก็เสกได้เหมือนฉันนั่นแหละ”

ครั้นมรณภาพ หลวงพ่อกันต์ที่เป็นคู่สวดของหลวงพ่อหร่ำก็ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน แต่ไม่นานก็ลาสิกขาไป ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันอาราธนาหลวงพ่อหร่ำดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน

เป็นพระที่ชาวบ้านเคารพเลื่อมใสศรัทธา ใครเป็นอะไร เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปให้ช่วยรักษา โดยใช้สมุนไพรต่างๆ ซึ่งมีความชำนาญยิ่ง

นอกจากนี้ ก็ยังมีผู้ให้ช่วยทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมอาบรด เสริมความเป็นสิริมงคล

 

ด้านวัตถุมงคล สร้างไว้หลายอย่าง เช่น ตะกรุดโทนที่เด่นในเรื่องมหาอุด, ผ้ายันต์ รูปถ่ายขาว-ดำ, พระเนื้อดินเผาพิมพ์พระขุนแผนใบพุทรา, พระพิมพ์เม็ดบัว, พระพิมพ์เม็ดน้อยหน่า ฯลฯ

มีเรื่องเล่าขานเมื่อครั้งยังมีชีวิต ในครั้งนั้นมี 3 โจรพี่น้องออกหากินด้วยการปล้นชาวบ้าน แต่ไม่มีใครจับได้ ยิงก็ไม่ถูก ร่ำลือกันว่าเป็นเพราะ 3 โจรร้ายมีเหรียญหลวงพ่อหร่ำรุ่นหนึ่ง มีอยู่เพียงเหรียญเดียว 3 โจรนับถือหลวงพ่อมาก จึงตกลงกันตัดแบ่งเหรียญ เพื่อใช้คุ้มครองตนเป็นสามส่วน ส่วนบนพี่คนโตได้ไปบูชา ส่วนกลางคนกลางได้ไป ส่วนล่างน้องคนเล็กได้ไป

วันหนึ่งพวกโจรคิดถึงจึงนั่งเรือมาหาตอนค่ำ เพราะกลัวคนเห็น แต่เมื่อพวกโจรเทียบเรือขึ้นมาก็เจอหลวงพ่อหร่ำนั่งอยู่เหมือนกับจะรอคอย พวกโจรทั้งสามเจอก็ก้มลงกราบยังไม่ทันพูดอะไร

หลวงพ่อพูดขึ้นมาว่า “พวกมึงนับถือข้าอย่างไร เอาข้าไปตัดเป็นท่อนๆ” สามโจรพี่น้องสะดุ้ง เพราะเรื่องตัดเหรียญแบ่งกันใช้ ไม่มีใครรู้เรื่องนี้

จากนั้นจึงเทศน์อบรมสั่งสอนจนสำนึกให้สาบานต่อหน้าว่าจะเลิกอาชีพโจร ตั้งใจทำมาหากิน ซึ่งโจรสามพี่น้องก็ทำตาม จึงให้คืนเหรียญที่ถูกตัดเป็นสามส่วน และให้เหรียญใหม่แทนไปคนละเหรียญ

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2504 มรณภาพลงด้วยโรคชรา

สิริอายุ 89 ปี พรรษา 68