ปฏิรูปตำรวจจริงจัง ‘ต้องเข้าใจ’ เสียงย้ำเตือน พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ‘นักสืบสวนชั้นครูของวงการสีกากี’

ถามว่าจะปฏิรูปตำรวจไหม?

มีเหตุอะไรต้องปฏิรูป?

การปฏิรูปกับการพัฒนาหรือการปรับปรุง ความหมายมันคนละอย่าง ปฏิรูปหมายถึงพลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย

แต่ว่าการพัฒนาหมายถึงปรับปรุงส่วนที่ไม่ดีให้ดีขึ้น

พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ อดีต ผบช.น. กล่าวถึงเสียงเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจที่ดังขึ้นเป็นระยะๆ ในสังคมไทย แต่ยังไม่ถึงฝันเสียที

อดีต ผบช.น.มองว่าประเด็นสำคัญ คนที่จะเป็นกรรมการหรือเป็นผู้ที่จะเข้ามาปฏิรูปหรือคิดในการจะปฏิรูปตำรวจนั้น ขอให้ศึกษาโครงสร้างหรือการปฏิบัติงาน หรือการประกอบกันเป็นตำรวจให้เข้าใจเสียก่อน ทั้งอำนาจหน้าที่ สวัสดิการ จำนวนคน ปริมาณงาน ลักษณะอะไรต่างๆ ผมขอร้องแค่นี้เอง เช่น เงินเดือนตำรวจเป็นอย่างไร สวัสดิการบ้านพักที่อยู่อาศัย การสวัสดิการกับครอบครัว เขาอยู่กันอย่างไร อันนี้สำคัญมาก ถ้าเปรียบเป็นการทหาร เขาบอกว่า “ท้องต้องอิ่มก่อนถึงจะออกรบ ถึงจะเอาชนะกันได้” อันนี้ประเด็นสำคัญ ขอให้เข้าใจ

ผมไม่ว่าอะไร ในฐานะที่เคยเป็นตำรวจ ผมเกษียณมา 20 กว่าปีแล้ว แต่เมื่อมองย้อนไปแล้วก็น่าเห็นใจ ตำรวจในทุกระดับชั้นมีปัญหา มันขาดอะไรไปเยอะมาก ตำรวจทุกคนที่ทำหน้าที่สืบสวนปราบปรามต้องมีอาวุธ ถามว่าสำนักตำรวจแห่งชาติมีอาวุธที่ดีพอ ทันสมัยให้เขาแต่ละคนไหม?

ส่วนใหญ่ตำรวจต้องหาซื้ออาวุธกันเอง ห้องทำงานก็ต้องดิ้นรนปรับปรุงกันเอง ไม่เหมือนตำรวจเพื่อนบ้านซึ่งเมื่อเขาได้รับคำสั่งย้าย เขาไปแต่ตัว หิ้วเพียงกระเป๋าไปก็ทำงานได้เลย มีบ้านพักให้ มีห้องทำงานให้ มีโต๊ะทำงานให้ มีอุปกรณ์ เช่น พนักงานสอบสวนเข้าเวร จะเอาผู้ต้องหาไปฝากขัง จะไปดูที่เกิดเหตุ ก็มีรถสนองตอบให้

เพราะฉะนั้น ตำรวจบางคนต้องดิ้นรน เข้าเวรครั้งหนึ่ง รับแจ้งสามถึงสี่คดี ถ้ากำลังไม่พอ ประชาชนที่มาแจ้งความก็ต้องรอ ตำรวจรับแจ้งเสร็จ ไม่ใช่นั่งอยู่ที่ห้อง ต้องไปดูที่เกิดเหตุ แม้กระทั่งคดีจราจรก็ต้องไปดูที่เกิดเหตุ

ตำรวจร้อยเวรออกไปจากโรงพัก ถ้าไม่มีตำรวจคนที่หนึ่งที่สองสำรองไว้ ชาวบ้านก็ต้องเสียเวลาในการรอคอยอีกคดีหนึ่ง เพราะฉะนั้น ต้องดูพวกนี้ให้ดี กำลังตำรวจในแต่ละสถานที่เพียงพอไหม ขอให้ดูโครงสร้างตรงนี้เสียก่อน ศึกษาลักษณะงานของตำรวจ ซึ่งไม่เหมือนงานทั่วไป ตำรวจคนหนึ่งต้องทำงานอย่างไร ตำรวจร้อยคนในโรงพักหนึ่ง ก็แบ่งงานเป็นฝ่ายธุรการ เป็นฝ่ายจราจร ฝ่ายสอบสวน ฝ่ายสายตรวจ เหลือตำแหน่งของแต่ละหน้าที่ไม่กี่คนนะครับ แล้วก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ 24 ชั่วโมง

เพราะฉะนั้น กำลังพลก็เป็นเรื่องสำคัญ ความไม่สะดวก ความไม่ทันใจของผู้เสียหายเวลาไปแจ้งความที่โรงพักเป็นเรื่องที่ถูกตำหนิอยู่เสมอ ถามตำรวจเขาบ้างว่าเขาเดือดร้อนอะไร เขามีปัญหาอะไรบ้าง แก้ตรงนั้น

ทุกคนที่เข้ามาเป็นตำรวจผมเชื่อว่าเขามีเจตนาดี น้อยคนที่เข้ามาเพื่อหวังจะกอบโกย แต่ว่าสภาวะบังคับ พออยู่ไปในนานๆ บางคนก็ประชดชีวิตบ้าง อะไรบ้าง

 

ดังนั้น สิ่งที่ พล.ต.ท.วรรณรัตน์เรียกร้องคือ ขอให้ศึกษางานระบบ งานโครงสร้างของตำรวจให้ถ่องแท้เสียก่อน เงินเดือนระหว่างตำรวจมาเลเซีย ตำรวจสิงคโปร์ ตำรวจฮ่องกง กับเงินเดือนตำรวจไทย เป็นอย่างไร บ้านพักมีให้พร้อมไหม เพราะเขาต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น การปรับปรุงก็จะตรงเป้าหมาย แก้ปัญหาแล้วปรับปรุงเลย ที่สำคัญคือต้องรองรับความต้องการและปัญหาของประชาชนแค่ไหนอย่างไร อย่างบางคนพูดเรื่องงานสืบสวนกับงานสอบสวนต้องแยกกัน ผมว่างานสืบสวนกับงานสอบสวนมันเป็นเหมือนพี่กับน้อง ฝ่ายสืบสวนเขาได้อะไรมา เขาก็ส่งให้ฝ่ายสอบสวน จริงๆ แล้วมันต้องไปด้วยกัน ควบคู่กัน

คณะกรรมการที่จะมาปฏิรูปอย่ามาคิดตรงปลายเหตุ เพราะเอาแค่เงินเดือนก็เทียบกันไม่ได้แล้ว เอาแค่สวัสดิการบ้านพักของตำรวจซึ่งจะต้องรับผิดชอบงาน 24 ชั่วโมงก็ไม่ได้แล้ว

เวลาระดมกำลัง เช่น ต้องเอาตำรวจจากโรงพักจากหน่วยนั้นหน่วยนี้มาช่วยกันสนับสนุน ในฐานะผู้บังคับบัญชาจะนั่งงอมืองอเท้าโดยไม่แก้ปัญหา มันไม่ได้ มันก็ต้องโยกกันไปโยกกันมาอยู่อย่างนี้ เพราะกำลังมันไม่พอ

 

สําหรับ “ภาพลบ” ตำรวจในใจประชาชน พล.ต.ท.วรรณรัตน์บอกว่า ตำรวจมีประมาณ 2-3 แสนคน พอไปทำอะไรพลาดหน่อย ส่วนใหญ่สังคมก็เหมารวมว่าตำรวจก็เป็นอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องเฉพาะตัว เฉพาะกลุ่ม ตำรวจเองก็มีระเบียบ คำสั่งว่า ผู้บังคับบัญชาต้องดูแลสอดส่องไม่ให้ตำรวจชันผู้น้อยประพฤตินอกลู่นอกทาง ทำผิด มันมี ไปดูสถิตินะครับ ผมว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติแทบจะเป็นหน่วยงานที่ไล่ตำรวจ ไล่คนออกมากที่สุด เขาไม่ได้นิ่งนอนใจ ผมถึงบอกว่าโครงสร้างของตำรวจเรา ในเรื่องของสวัสดิการก็ดี ในเรื่องความเป็นอยู่ที่พอเพียงแค่ไหนหรืออย่างไร ต้องดิ้นรนแค่ไหนหรืออย่างไร เป็นส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราไม่เคยเลี้ยงคน คนไหนร้ายเราก็ตัดทิ้ง

เดี๋ยวนี้สื่อไม่เหมือนสมัยก่อน เมื่อเป็นข่าวก็รู้กันทั่วประเทศ มีคำถามว่า ทำไมข้าราชการหน่วยอื่นถึงไม่มีปัญหา เพราะงานตำรวจเป็นงานที่สัมผัสกับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง คนที่มาโรงพักคือคนที่เดือดร้อน คนที่มีความสุขก็ไม่เคยขึ้นโรงพัก ตำรวจบางคนก็สนองต่อความเดือดร้อน แต่ตำรวจบางคนก็อาจจะอยู่ในภาวะซึ่งตัวเองไม่พร้อมจะทำงาน เช่น กำลังมีอารมณ์อะไรต่ออะไรไปบ้าง ตำรวจที่ทำหน้าที่บริการประชาชนต้องเป็นคนซึ่งเข้าใจชีวิตคน คนเขาเดือดร้อน บางทีพูดจากับเขาแบบซ้ำเติม ไม่เข้าใจในจิตวิทยา

(เหตุการณ์แบบที่ จ.นครสวรรค์ กรณีผู้กำกับโจ้ทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิต) ผมว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่เรื่องของตำรวจส่วนใหญ่เลย ต้องทำความเข้าใจอันนี้ เขาอาจจะมีวิธีการทำงานซึ่งไม่เหมือนกับตำรวจทั่วไป แล้วเขาก็ยังไม่เคยเจอปัญหาหรืออุปสรรค พอมาเจอทีเดียวก็หงายท้องเลย

ความจริงแล้ววิธีที่จะเอาข้อมูล จะสอบสวนผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย มันมีเยอะแยะหลายวิธี ต้องอดทนอดกลั้น ใช้เวลาในการสอบสวน มีข้อมูลที่จะดักหน้าดักหลังผู้ต้องหา

การบีบคั้นให้รับสารภาพหรือให้บอกกล่าวมันมีวิธีการเยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังเลย

ผมเคยสอบผู้ต้องหาตั้งแต่สี่โมงเช้าจนถึงตีสาม เขาก็มารับสารภาพตอนตีสาม เพราะเขาอยากจะนอนเต็มทีแล้ว เราก็ไม่ต้องทำอะไร แค่นั่งคุยกับเขา อยากกินกาแฟก็ให้กิน อยากกินน้ำก็ให้กิน แต่ว่าเราก็ต้องทู่ซี้ ทนนั่งคุยกับเขา ดักหน้าดักหลังจนเขาบอก “ผมรับสารภาพดีกว่า และผมอยากจะนอนแล้ว”

เพราะฉะนั้น คนที่จะสอบสวนต้องมีข้อมูล ไม่ใช่อยู่ๆ ไปถามให้เขาพูด ไม่ได้ เราต้องรู้ที่มาที่ไปว่าคดีนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ดักหน้าดักหลัง จนเขาเห็นว่า เรารู้อะไรเขาหมดแล้ว เพียงแต่ว่าอยากจะพูดเองดีกว่า เพื่อได้โอกาสในทางคดี เช่น รับสารภาพให้การเป็นประโยชน์จะมีส่วนทางการดำเนินคดี เราต้องชี้แจง

สำคัญที่สุดคือต้องทำงานกันเป็นทีม ฝ่ายสืบสวน ฝ่ายสอบสวนต้องเข้าใจสถานการณ์ของผู้ต้องหา นี่เป็นวิธีหนึ่ง ซึ่งเขาอาจจะใจร้อนไปหน่อยก็ได้

ตำรวจรุ่นหลังอาจจะมีประสบการณ์น้อยเกินไป ผมไม่ใช้คำว่า “ขาด” เขาคงคิดถึงความสำเร็จเกินไป เร่งรัดในความสำเร็จของงานมากเกินไป เพื่อจะแสดงให้ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าได้สร้างผลงานอะไรต่ออะไร ความจริงมันมีวิธีเยอะแยะที่จะให้ผู้ถูกสอบสวนเข้าใจ จำนนด้วยหลักฐาน

อย่างคดีใหญ่ๆ หลายคดี บางทีเราคุยกันไม่กี่คำ เขาก็รับสารภาพแล้ว เขารู้ว่าเรารู้จริง เรามีข้อมูลจริง เขาก็ไม่ดื้อที่จะปฏิเสธไป เช้ายังไม่รับ เดี๋ยวบ่ายก็ไปสอบสวนใหม่ได้ ค่ำๆ ก็เข้าไปสอบใหม่ได้ เพราะในสถานที่สอบสวน ในโรงพัก เราทำได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ระบบสืบสวนสอบสวนมันพัฒนากันไปเรื่อย สมัยผมเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ไม่มีทีวีวงจรปิดแบบนี้ ที่ร้านสะดวกซื้อก็ไม่มี ธนาคารก็ไม่มี ถนนหนทางก็ไม่มี เราก็ต้องใช้สาย ใช้เทคนิคทางวิทยาการต่างๆ

ผมยกตัวอย่าง ซอยตัน จะเข้าไปสังเกต ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องปลอมตัวเป็นพนักงานไฟฟ้าบ้าง คนขายไอศกรีมบ้าง สมัยนั้นไม่มีเคอรี่ส่งของ ปลอมตัวเป็นพนักงานไปรษณีย์บ้าง

สมัยก่อน ผมยกตัวอย่าง คดีฆ่าแล้วหลบหนี เราก็ไม่รู้ว่าเขาหลบไปอยู่ที่ไหน เราก็ดักเฝ้าการติดต่อมาที่บ้านของคนร้ายว่าคนร้ายติดต่อมาบ้างไหม ส่งจดหมายมาบ้างไหม เราก็ประสานกับไปรษณีย์ว่า ถ้ามีจดหมายมาถึงบ้านนี้ ผมขอดูต้นฉบับที่ประทับตราส่งว่าส่งมาจากไหน เราก็จะได้รู้แคบลงไปว่ามาจากจุดไหน

ถ้าเป็นสมัยนี้ก็โทรศัพท์ ใช้เทคนิค มันก็พัฒนามาเรื่อย

 

พล.ต.ท.วรรณรัตน์ที่ถูกยกย่องเป็นนักสืบสวนชั้นครู กล่างถึงระบบแต่งตั้งที่ไม่ดี ส่งผลต่อการสืบสวน ว่า มันก็มีทุกยุคทุกสมัย ผมยกตัวอย่าง คนที่ไม่ถนัดงานสอบสวน แล้วได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานสอบสวน เขาไม่ถนัดงานสืบสวน แต่เอาเขาไปเป็นฝ่ายสืบสวน หรือว่าอยู่ดีๆ ถูกย้ายไปในหน้าที่ที่ตัวเองไม่ถนัด

จะบอกว่า “เป็นตำรวจต้องทำได้ทุกอย่าง” มันเป็นไปไม่ได้ทุกคน มันเป็นอาชีพที่ต้องมีความชำนาญเฉพาะด้านเป็นของตัวเอง การแต่งตั้งนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ช่วงที่ผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผมขอแต่งตั้งผู้กำกับสืบสวน 1-9 ด้วยตัวเอง ผู้บังคับบัญชาท่านให้เลย แล้วงานมันก็เดิน แล้วพอแต่งตั้งผู้กำกับ ผมก็บอก คุณไปเลือกสารวัตรได้ 1-2 คน คือเราสามารถพูดกันได้ขนาดนั้น

เพราะฉะนั้น ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อผลงานทั้งนั้น เวลาเกิดคดีสำคัญๆ ขึ้นมา ผู้บังคับบัญชาเป็นหนังหน้าไฟ แล้วต้องถูกสื่อมวลชนซักถาม

ผู้บังคับบัญชาชั้นบน นักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรี เขาก็จะถามถึงความคืบหน้า ผู้บังคับบัญชาก็อึดอัด ถ้างานมันค้างเติ่ง จับไม่ได้ นี่คือตัวจักรกล

สังเกตว่าระยะหลังนี้คดีที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ถ้าเอานักสืบไปทำ มันจะได้หมด มันไม่มีอะไรที่ยากเกิน การจะจับกุมใคร พยานหลักฐานมันต้องมีที่มาที่ไป สมเหตุสมผลจนศาลอนุมัติได้ อาศัยวิทยาการ เครื่องมือต่างๆ ประกอบประสานร่วมกัน เชื่อมโยงกันได้ เพราะฉะนั้น คดีใหญ่ๆ สังเกตเถอะ มันจะต้องเชื่อมโยงกัน

ชมคลิป