เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : มาถึงเรื่องภาษีและการคลัง (ต่อ)

นโยบายการคลังที่ อาจารย์ไพรินทร์ ศรีศุภวินิจ บรรยายต่อจากนั้น คืออัตราการจัดเก็บรายได้ กับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดู GDP คือรายได้ประชาชาติ จาก

1.อัตราการบริโภคเฉลี่ย = รายได้ภาษี -:- ฐานภาษี

2. Tax Buoyancy = อัตราการเปลี่ยนของภาษี -:- อัตราการเปลี่ยนของ GDP

3. รายได้ต่อ GDP

การคลังของรัฐบาล มี 4 หน่วยงานหลักในการพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณ คือ กระทรวงการคลังเป็นการประมาณการรายได้ สำนักงบประมาณ รวบรวมความต้องการใช้งบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินภาวะเศรษฐกิจ และธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน

เรื่องของการจัดทำงบประมาณ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องจัดทำงบประมาณประจำปีส่งให้รัฐบาลเพื่อจัดทำงบประมาณของหน่วยงานนั้น ใน 3 ด้าน คือ ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า เกินดุล สมดุล หรือขาดดุล นโยบายงบประมาณ คือวงเงินงบประมาณ ประมาณการรายรับ และวงเงินกู้ (กรณีขาดดุล) โครงสร้างงบประมาณ มีรายจ่ายประจำปี รายจ่ายลงทุน ชำระคืนเงินกู้ และรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง

อาจารย์ไพรินทร์ ว่าถึงการบริหารหนี้สินของรัฐบาลจากพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2558 ความหมายของหนี้สาธารณะคือ หนี้ที่กระทรวงการคลังกู้ หนี้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจกู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ให้กู้ยืมโดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน

ดังนั้น การบริหารหนี้สาธารณะ คือ การก่อหนี้โดยการกู้หรือการค้ำประกัน การชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับหนี้สาธารณะ

ขณะที่หนี้รัฐบาลกู้ เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ

1.ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ 2.พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 3.ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ 4.ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ 5.พัฒนาตลาดตราสารหนี้ใหม่

จากนั้น เป็นเรื่องของวินัยการคลังภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 มีดังนี้

1. การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เมื่องบประมาณรายจ่างสูงกว่าประมาณการรายได้

2. การกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นเงินตราต่างประเทศกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ถ้าตลาดในประเทศเอื้ออำนวยก็สามารถกู้ทดแทนการกู้จากต่างประเทศ กรณีที่ต้นทุนต่ำกว่า มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้

3. การค้ำประกันเงินกู้และการให้กู้ต่อ เป็นเงินบาทกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

กระทรวงการคลังใช้กรอบความยั่งยืนทางด้านการคลังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะกลางและระยะยาว ประกอบด้วยตัวชี้วัด 4 ตัว คือ

อัตราหนี้คงค้างต่อ GDP ต้องไม่เกินร้อยละ 60 ภาระหนี้ต่องบประมาณต้องไม่เกินร้อยละ 15 การจัดทำงบประมาณต้องลดการขาดดุลเพื่อให้เข้าสู่สมดุล และสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25

การก่อหนั้มี 2 ประเภท คือ กู้ยืมภายในประเทศ ตั๋วเงินคลัง กู้ระยะสั้น (1 ปี) ตั๋วสัญญาใช้เงิน กู้ระยะปานกลาง (1-5 ปี) พันธบัตรรัฐบาล กู้ระยะยาว (มากกว่า 5 ปี) กู้ยืมภายนอกประเทศ กู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ คือการชำระล่วงหน้า การหาแหล่งเงินกู้ทดแทน และการแปลงหนี้

การบริหารทรัพย์สินของรัฐบาล มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมธนารักษ์ ใช้ที่ราชพัสดุให้ได้ประโยชน์สูงสุด รัฐวิสาหกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจในการบริการสาธารณะแก่ประชาชน โดยไม่เกิดภาระทางการคลังแก่รัฐบาล กรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่บริหารเงินสด (เงินคงคลัง) เพื่อให้มีเงินสดเพียงพอต่อการรับ-จ่าย โดยคำนึงถึงต้นทุนในการถือครองเงิน

การบริหารเงินสดของรัฐบาล สำนักงานเศรษฐกิจและการคลังคาดการรายได้นำส่ง เป็นรายวัน เศรษฐกิจดีรายได้ดี เศรษฐกิจตกรายได้ตก กรมบัญชีกลางคาดการณ์การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ

อาจารย์ไพรินทร์ บรรยายถึงโครงสร้างรายได้ของประเทศว่ามีรายได้สาธารณะ ประกอบด้วย

รัฐบาล มีรายได้จากภาษีอากร และจากที่ไม่ใช่ภาษีอากร

องค์กรปกครองท้องถิ่น จากรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง จากรัฐบาลจัดเก็บให้ และจากรัฐบาลอุดหนุน

รัฐวิสาหกิจ รายได้จากค่าบริการ จากการบริหารทรัพย์สิน

ปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บทุก 100 บาท จะจัดสรรให้องค์กรปกครองท้องถิ่นประมาณ 20 บาท คงเหลือเป็นรายได้รัฐบาล 48 บาท

จากนี้เป็นเรื่องของการคลังท้องถิ่น ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม มีแนวโน้มพึ่งพาการจัดสรรรายได้จากรัฐบาลมากกว่าการจัดเก็บรายได้ด้วยตัวเอง แสดงถึงความไม่เป็นอิสระ และขาดความสามารถในการจัดเก็บรายได้เอง ส่วนรายจ่ายขององค์กรปกครองท้องที่ มีภารกิจเพิ่มมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายขยายตัวมากขึ้น ต้องมีการกำหนดความรับผิดชอบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับรัฐบาล รวมถึงการวางแผนและควบคุมการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ มิฉะนั้นจะทำให้การใช้จ่ายไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร

ดุลการคลัง ภาคการคลังขององค์กรปกครองท้องถิ่นในอนาคตจะมีขนาด 1 ใน 3 ของภาคการคลังประเทศ หากขาดการประสานนโยบายและการบริหารการคลังจะเป็นอุปสรรคในการดูแลภาพรวมทางเศรษฐกิจ

องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องมีวินัยการคลังด้านรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และการหาประโยชน์จากทรัพย์สิน ประมาณการรายได้ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด กำหนดสัดส่วนรายได้ขั้นต่ำ จัดเก็บเอง อัตราการขยายตัวด้านรายได้ วินัยการคลังด้านรายจ่าย กำหนดสัดส่วนของงบฯ ลงทุนและงบฯ ประจำปีให้เหมาะสมกับรายได้ที่จัดหาได้ กำหนดเป้าหมายการลงทุนขั้นต่ำร้อยละ 10 ควรลงทุนด้านสังคมและการพัฒนาคุณภาพชีวิต วินัยทางการคลังด้านดุลการคลังขาดดุลได้ แต่ควรเพื่อนำมาใช้จ่ายเพื่อการลงทุน รายจ่ายเร่งด่วนที่จำเป็นหรือเพื่อนำไปลงทุน เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การบริหารจัดการให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังของรัฐบาล วินัยการคลังด้านการก่อหนี้ กู้เพื่อชดเชยการขาดงบประมาณ กู้เพื่อโครงการ

เงินนอกงบประมาณควรเป็นโครงการที่มีผลคุ้มค่า มีกำหนดเพดานเงินกู้ ควบคุมการชำระเงิน คำนึงถึงความสามารถชำระหนี้ และผลตอบแทน