เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : การสาธารณสุขต้องทั่วไทย

ขอต่อเรื่องการสาธารณสุขของ คุณหมอประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนร่วมรุ่นอีกสักสองสามประเด็น ประเดี๋ยวคุณหมอจะมาต่อว่า เรียนร่วมกัน ฟังบรรยายมาแล้ว ทำไมไม่ถ่ายทอดให้จบ

ประเด็นที่คุณหมอประนอมว่าถึงบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพอำเภอ มีจุดมุ่งหมาย “ลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดรอคอยการส่งต่อ” ทั้งหมด 12 สาขาของโรค คือ

1. หัวใจและหลอดเลือด 2. มะเร็ง ดูแลเรื่องรังสีรักษา การให้คีโม 3. อุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุด้านจราจร 4. ทารกแรกเกิด ทารกเกิดมามีน้ำหนักน้อย 5. จิตเวช เรื่องการผ่าตัดกต้อกระจก การชะลอความเสื่อมของไต (ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร) 6. ตา ต้อกระจก 7. ไต 8. 5 สาขาหลัก เป็นคำย่อ สู สัน เหม็ด เด็ก ออโธปิดิก หมายความถึง สูตินรีเวช ศัลยกรรม (เหม็ด ไม่ทราบความหมาย) เด็กและออโธปิดิกมีความหมายตามนั้น 9. ทันตกรรม 10. NCDs โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน 11. แพทย์แผนไทย 12. ปลูกถ่ายอวัยวะ และบริการปฐมภูมิ

ส่วนระบบสุขภาพอำเภอ กลไกที่สำคัญในพื้นที่ คือ มีทรัพยากรครบทุกภาคส่วน มีความสัมพันธ์ มีความรู้ทั้งมือหนึ่งและมือสอง มีความรักความผูกพันในบ้านเกิด

การปฏิรูประบบบริการสุขภาพที่มีพื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีทีมบริหารจัดการ ทีมหมอครอบครัว และการบริหารจัดการการเงิน

รายละเอียดต้องสอบถามที่กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะกับ แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข (ขณะนี้ไม่ทราบว่าก้าวหน้าขึ้นไปมีตำแหน่งอะไรแล้ว)

วันนี้เป็นเรื่องของการสาธารณสุขล้วนๆ ต่อจากคุณหมอประนอม เป็นหน้าที่ของ แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ที่ให้เกียรติมาบรรยายเรื่อง การจัดการสาธารณสุขในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แบ่งหัวข้อบรรยายโดยย่อหลายหัวข้อ ดังนี้

ความท้าทายในการจัดการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ปัญหาคือการเปลี่ยนโครงสร้างประชากร การขยายตัวของเมือง การย้ายถิ่น ปัญหาสุขภาพคนเมือง การยกระดับให้เป็นมหานครแห่งเอเชีย ปี 2575 การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

คุณหมอวันทนีย์ว่าถึงวิสัยทัศน์ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร และนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมุ่งสู่มหานครน่าอยู่อย่างยั่งยืน ต้องให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นด้านการบริหารจัดการมหานครตามหลักธรรมาภิบาล รวมถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานความน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีสังคมและเศรษฐกิจบนพื้นฐานความพอเพียงพักพิงซึ่งกันและกัน โดยมุ่งสร้างสังคมสันติสุข และทรัพยากรมนุษย์บนพื้นฐานของความรู้เพื่อการดำรงชีวิตที่ดีในปัจจุบันและอนาคต

ขณะที่แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร มียุทธศาสตร์การพัฒนา 5 แผน ตั้งแต่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการ พัฒนาศักยภาพกรุงเทพมหานคร พัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งสิ่งแวดล้อม ให้เป็นมหานครแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และเป็นต้นแบบการบริหารมหานคร

คุณหมอวันทนีย์แจ้งถึงนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 6 นโยบาย ซึ่งเคยกล่าวถึงไปแล้ว มีอาทิ มหานครแห่งการเรียนรู้ มหานครสีเขียว มหานครแห่งความสุข มหานครแห่งโอกาส มหานครแห่งความปลอดภัย และมหานครแห่งอาเซียน

ปัจจุบันมีนโยบายเร่งด่วน 3 นโยบาย คือ นโยบายที่ 3 มหานครแห่งความสุข ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง พัฒนาโรงพยาบาลครอบคลุมพื้นที่ 4 มุมเมือง ดูแลผู้สูงวัยครบวงจร ยกระดับศูนย์ผู้สูงอายุใกล้บ้าน เพิ่มบริการสาธารณสุข 24 ชั่วโมง สร้างศูนย์กีฬาทันสมัย 4 มุมเมือง ยกระดับลานกีฬาที่มีอยู่เดิม 200 แห่ง นโยบายที่ 5 มหานครแห่งความปลอดภัย จัดหาอาสาสมัครชุมชนเสริมเฝ้าระวังภัยทุกชุมชน

และนโยบายที่ 6 ร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของอาเซียนและของโลก การเฝ้าระวังโรคติดต่อ แจ้งเตือนข่าวการระบาดของโรคติดต่อแก่เครือข่ายงานระบาดวิทยา

คุณหมอวันทนีย์ขยายความถึงนโยบายมหานครแห่งความสุขด้านการสาธารณสุขว่า เพิ่มจำนวนผู้รับบริการคัดกรองมะเร็งสตรี ด้วยการพัฒนาศักยภาพบริการคลินิกวางแผนครอบครัว หลังคลอด วัยทอง ให้ได้มาตรฐาน โดยมีสถานให้บริการทางการแพทย์และศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านรองรับ

สำหรับการดูแลดูแลผู้สูงอายุครบวงจร เป็นหนึ่งในนโยบายมหานครแห่งความสุข มีโครงการพัฒนา การดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชนของศูนย์บริการสาธารณสุข โครงการคลินิกกายภาพบำบัด โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และโครงการพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน

ส่วนการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านคือโครงการพัฒนามาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อรับรองคุณภาพ โครงการพัฒนาคลินิกเฉพาะทางผู้ป่วยนอกศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย

เรื่องการจัดการการศึกษา การพัฒนาสังคม ความปลอดภัยของประชาชนในเมือง มาถึงเรื่องการจัดการสาธารณสุขในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารเมืองต้องเรียนรู้และนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และเพื่อให้ประชาชนทั้งที่อยู่ในเมืองและที่อยู่ห่างไกลออกไปได้รับบริการทางสาธารณสุข เสริมสร้างสุขภาพพลานามัยที่ดีให้เกิดขึ้น

โดยเฉพาะในเรื่องของผู้สูงอายุ ซึ่งนับวันจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น กระทั่งประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ดังนั้น การเตรียมตัวเพื่อรับกับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งประชากรในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในเขตเมืองใหญ่ของประเทศไทย จึงต้องเตรียมตัวศึกษาไว้ตั้งแต่บัดนี้ และต้องเปิดโอกาสให้ผู้บริหารชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารองค์การบริหารจังหวัด ผู้บริหารองค์การบริหารตำบล ผู้บริหารเทศบาล ทั้งเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล ตลอดจนข้าราชการการเมืองระดับท้องถิ่นได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรประเภทนี้ให้มากขึ้น

เพื่อให้ประชาชนไทยทั้งประเทศได้มีโอกาสได้รับบริการที่ดีจากท้องถิ่นทั่วไทยในโอกาสต่อไป