จีน-สหรัฐ-อาเซียน กับข้อพิพาททะเลจีนใต้ การแผ่ขยาย-โต้กลับ หรือหยั่งเชิง/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

จีน-สหรัฐ-อาเซียน

กับข้อพิพาททะเลจีนใต้

การแผ่ขยาย-โต้กลับ หรือหยั่งเชิง

 

ข้อพิพาทน่านน้ำในทะเลจีนใต้ นับเป็นอีกเรื่องที่ใกล้ไทยทั้งในแง่เศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ ซึ่งจีนมุ่งมั่นสร้างอิทธิพลแผ่ขยายอำนาจเหนือพรมแดนน่านน้ำและเข้าหาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างจุดรองรับแผนยุทธศาสตร์ทางทะเลที่ขยายตัวซึ่งสอดรับกับมหายุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สู่การเชื่อมโลกทั้งใบตามทิศทางของจีน

พื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นน่านน้ำสากล เพราะพื้นที่ดังกล่าว เป็นทางผ่านของการขนส่งทางทะเลที่คึกคัก น่านน้ำใกล้ชิดจนบางทีทับซ้อนกันหลายชาติโดยเฉพาะชาติสมาชิกอาเซียน

แต่ในช่วงหลายปีมานี้ จีนแผ่อิทธิพลทางทะเลโดยใช้วิธีต่างๆ เพื่ออ้างเขตอำนาจอธิปไตยทางทะเลเพื่อเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลในการตักตวงมาเป็นผลประโยชน์ในการสร้างอำนาจเศรษฐกิจเหนือชาติอื่น

แต่เส้นพรมแดนทางทะเลก็ทับซ้อนกับประเทศอื่น ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศขึ้น

จนกระทั่งสหรัฐกลับมาสนใจเอเชียอีกครั้งในยุคไบเดน และประกาศชัดถึงจุดยืนต่อทะเลจีนใต้ให้เป็นน่านน้ำที่เปิดกว้างและเสรีให้กับทุกชาติ โดยไม่มีชาติใดมาครอบงำมีอิทธิพลแต่ผู้เดียว ทำให้เพิ่มอุณหภูมิการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น

และยิ่งเพิ่มขึ้นต่อประเด็นไต้หวันที่จีนแข็งกร้าวเรื่อยๆ หรือการจับมือทางยุทธศาสตร์ทั้ง AUKUS และ The Quad

น่านน้ำทะเลจีนใต้กำลังเป็นสนามแข่งขันที่เข้มข้น

 

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศรายงานเรือสัญชาติจีนล่วงล้ำน่านน้ำมาเลเซีย จนทำให้ รมต.ต่างประเทศมาเลเซียต้องเรียกทูตจีนเพื่อรับรู้ความไม่พอใจและประท้วงเรือจีนล่วงล้ำน่านน้ำที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมาเลเซีย โดยเฉพาะเรือสำรวจที่ปรากฏนอกชายฝั่งรัฐซาบาห์และซาราวัค

และมีรายงานเรือสำรวจของจีนบริเวณที่บริษัทเปโตรนาซ สำรวจแหล่งขุดเจาะน้ำมันภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม้ต่อมาจีนจะออกมาตอบโต้ว่าเรือลำดังกล่าวมาทำภารกิจตามปกติ

ประเด็นฉาวการรุกล้ำน่านน้ำอันฉาวโฉ่ของจีน ไม่ใช่แค่กิจกรรมบริเวณทะเลจีนใต้ที่กลายเป็นข้อพิพาทเท่านั้น

ไม่กี่ปีมานี้ จีนยังขยายการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติไปในทะเลจีนตะวันออก โดยรัฐบาลญี่ปุ่นระบุพบสิ่งปลูกสร้าง 16 แห่ง บริเวณเส้นพรมแดนระหว่างจีน-ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเชื่อว่าการปักปันเขตแดนทะเลของจีนควรทำบนพื้นฐานความเท่าเทียมกันทางภูมิศาสตร์ และรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่จีนกำลังพัฒนาแบบฝ่ายเดียวโดยละเลยหลักปฏิบัตินี้

พร้อมเรียกร้องให้หยุดการกระทำฝ่ายเดียวและหันมาเจรจาตามข้อตกลง มิถุนายน 2008 ในการร่วมมือทวิภาคีเพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ

นักวิเคราะห์มองพฤติกรรมของจีนในการขยายอิทธิพลเชิงภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ กระทำบนฐานคิดการปรารถนาสร้างความยิ่งใหญ่ อันสื่อถึงประวัติศาสตร์จีน 2 พันปีที่ภาคภูมิในฐานะเป็นศูนย์กลางของโลก

และจีนเองก็ใช้ข้ออ้างความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ เข้าไปกุมพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทะเลจีนใต้

จนมีการเรียกสิ่งที่จีนกระทำว่าเป็น “โรคอาณาจักรกลาง” โดยมองจีนสร้างความยิ่งใหญ่พร้อมกับกำลังบ่อนทำลายสถาบันทางการเมืองระหว่างประเทศและละเลยหลักปฏิบัติระหว่างประเทศหลายอย่าง เพื่อมุ่งมั่นเป็นเจ้าอำนาจโลก ประเด็นอื้อฉาวที่จีนเผชิญอย่างละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ชาวทิเบต จนมาชาวอุยกูร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จีนไม่สนใจหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยอ้างเรื่องกิจการภายในที่ต่างชาติไม่ควรแทรกแซง

หรือเรื่องโควิด-19 ที่ทีมสืบสวนนานาชาติที่ต้องการหาต้นกำเนิดการระบาดที่เกิดขึ้นในจีนเป็นที่แรกก็กลับเจอแต่ข้อจำกัด

แต่จีนก็ตอบโต้ข้อกล่าวหาและชี้แจงผ่านสื่อของตัวเองว่าจีนไม่เคยมีพฤติกรรมเช่นนี้ พร้อมตอบโต้กลับแบบดุดันว่า ต่างชาติกำลังรวมตัวต่อต้าน กลั่นแกล้งจีนสารพัด

 

และประเด็นพิพาททะเลจีนใต้ที่ยังคงไม่มีข้อยุตินี้ ก็ยังคงเป็นประเด็นที่พูดถึง…แบบอ้อมๆ ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ และหลีเคอเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมประชุมออนไลน์กับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน

ในเวทีประชุมสุดยอดทั้งอาเซียน-จีน และอาเซียน-สหรัฐ ผู้นำชาติมหาอำนาจต่างเสนอสร้างความร่วมมือกับชาติอาเซียน ทั้งการเสนอเงินช่วยเหลือ ข้อตกลงสร้างความร่วมมือ โดยจีนต้องการรยกระดับให้ใกล้ชิดมากขึ้นด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และชวนให้ชาติอาเซียนเป็นสมาชิกภาวรขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

หลีเคอเฉียง กล่าวว่า การรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสรีภาพในการเดินเรือ และการบินในทะเลจีนใต้นั้นเป็นที่สนใจของทุกคน เพราะ “ทะเลจีนใต้คือบ้านของเราทุกคน”

สิงคโปร์และมาเลเซียสนับสนุนแนวคิดนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกชาติอาเซียน ฝั่งไทยได้แสดงท่าทีว่า หลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีขึ้นนั้น ต้องรับประกัน “ประสิทธิผล เนื้อหาสาระ และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ” ก่อนกระชับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลจีน

ขณะที่สหรัฐ ไบเดนประกาศจุดยืนต่ออาเซียนในการปกป้องเสรีภาพทางทะเลและประชาธิปไตยบนน่านน้ำทะเลจีนใต้

“ความร่วมมือของเราเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งเป็นรากฐานของการรักษาความปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของเรามานานหลายทศวรรษ” ไบเดนกล่าว และว่า สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอย่างยิ่งต่อแนวโน้มอาเซียนและอินโดแปซิฟิก ตามกฎเกณฑ์ของอินโด-แปซิฟิก และระเบียบของภูมิภาค

ประเด็นทะเลจีนใต้ แทนที่จะสามารถคุยกันเพื่อหาทางออก กลับเป็นประเด็นของการสร้างพันธมิตรของจีนและสหรัฐบนน่านน้ำทะเลจีนใต้

แต่กระนั้น สิ่งที่ 2 มหาอำนาจแสดงกับอาเซียน ทำให้เห็นลักษณะเฉพาะคือ จีนแถลงบนวิธีคิดความสัมพันธ์อำนาจ-ผลประโยชน์แบบฉันพี่น้องในครอบครัวแบบจีน ขณะที่สหรัฐยึดบนกฎเกณฑ์สากล ที่ทุกชาติได้ผลประโยชน์ร่วมกันในเชิงหลักการ

 

ข้อพิพาททะลจีนใต้อาจไม่มีข้อยุติสำหรับตอนนี้ แถมแนวโน้มน่ากังวลกำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะท่าทีจีนต่อไต้หวัน จนส่งผลสะเทือนต่อทะเลจีนใต้ การเกิด AUKUS ทำให้ผู้นำอินโดนีเซียหวั่นเกิดการแข่งขันทางอาวุธขึ้นในภูมิภาคนี้

สิ่งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่ของอาเซียนปฏิเสธการเลือกข้างไม่ว่าสหรัฐหรือจีน และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมมือกับทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกันก็รับรองเสรีภาพในการเดินเรือ รวมทั้งในช่องแคบไต้หวันด้วย

ทั้งนี้ วอยซ์ ออฟ อเมริกา รายงานคำสัมภาษณ์ของลูฮูต ปานจัยทัน รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการการเดินเรือและการลงทุนของอินโดนีเซีย ที่สรุปข้อพิพาททะเลจีนใต้กับการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสหรัฐกับจีนว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นมีประโยชน์อย่างไร? ใครได้ผลประโยชน์?

“ไม่มีใครได้ทั้งนั้น แค่โควิดก็สร้างปัญหาให้มากพอแล้ว”