คุยกับทูต ยูริ ยาร์วียาโฮ จากดินแดนที่มีความสุขที่สุดในโลก…ฟินแลนด์ (ตอนจบ)

 

คุยกับทูต ยูริ ยาร์วียาโฮ

จากดินแดนที่มีความสุขที่สุดในโลก

…ฟินแลนด์ (ตอนจบ)

 

“แม้ว่าฟินแลนด์จะมีสภาพอากาศและภูมิอากาศที่แตกต่างและหลากหลาย แต่ผู้คนในฟินแลนด์กลับมีความเหมือนกันมากกว่าความแตกต่างกันในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกคนต่างมีความหวังและความปรารถนาไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ส่วนไหนของประเทศ”

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย เล่าว่า

“ประเทศไทยกับฟินแลนด์ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันแน่นอน คือ การถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาของทั้งสองประเทศนี้”

ชาวฟินแลนด์มักถอดรองเท้าไว้หน้าบ้าน หรือหน้าสถานที่นั้นๆ แล้วเดินเท่าเปล่า หรืออาจจะมีรองเท้าสำหรับเดินในบ้านเตรียมไว้ และเด็กๆ จะไม่สวมรองเท้าในชั้นเรียน แต่จะเดินไปไหนมาไหนโดยสวมถุงเท้า

Moomin World สวนสนุก (Theme Park) ตั้งอยู่บนเกาะ Kailo ในเมืองเก่า Naantali ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของ ฟินแลนด์ ภาพ- moomin.com

 

Moomin World สวนสนุก ภาพ -moominworld.fi

ในด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวฟินแลนด์ โดยไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวฟินแลนด์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา

“เราโชคดีมากที่มีสายการบิน Finnair บินตรงจากกรุงเฮลซิงกิมายังกรุงเทพฯ สี่ครั้งต่อสัปดาห์ และ Finnair กำลังวางแผนที่จะขยายเที่ยวบินไปยังภูเก็ตและกระบี่ในช่วงฤดูหนาวปลายปี”

“ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด ในปี 2019 มีชาวฟินแลนด์มาเยือนไทยกว่า 140,000 คน หลายคนมาพักผ่อนนาน 2-3 สัปดาห์จนถึงหลายเดือน เพราะไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม ผู้คนที่เป็นมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายหาดที่มีแสงแดดเหมาะแก่การนอนอาบแดด ซึ่งหลายคนชอบไปภูเก็ต หัวหิน พัทยา และกระบี่ ประเทศไทยจึงนับเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับสองรองจากสเปนสำหรับนักท่องเที่ยวชาวฟินแลนด์”

แลปแลนด์ (Lapland) ตั้งอยู่ทางเหนือของประเทศฟินแลนด์

“มีชาวไทยประมาณ 10,000 คนในฟินแลนด์ ที่รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น แลปแลนด์ (Lapland) ด้วยธรรมชาติอาร์กติก”

แลปแลนด์ตั้งอยู่ทางเหนือของประเทศฟินแลนด์ มีภูมิอากาศแบบป่าสนหรือกึ่งอาร์กติก อุณภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง โดยทั่วไปจะหนาวเย็น มีหิมะปกคลุมแม้ในช่วงฤดูหนาวผ่านพ้นไปแล้ว

“หรือสถานที่ท่องเที่ยวเฉพาะอย่าง เช่น สวนสนุก Moomin Park ในเมือง Naantali, เทศกาลโอเปร่าซาวอนลินนา (Savonlinna Opera Festival) ที่จัดขึ้นในปราสาทยุคกลาง หรือกรุงเฮลซิงกิที่จัดแสดงศิลปะ การออกแบบระดับโลก และเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ สำหรับคนรักธรรมชาติ คือการไปสำรวจอุทยานแห่งชาติ 40 แห่งของเรา”

โอเปราซาวอนลินนา

 

ปราสาท St. Olaf สถานที่แสดงโอเปราซาวอนลินนา ภาพ -Hesekiel – Own work

“สำหรับผู้ไปเยือนฟินแลนด์ครั้งแรกควรเริ่มต้นด้วยการชมกรุงเฮลซิงกิ ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ โบสถ์ นิทรรศการศิลปะ, ซัวเมนลินนา (Suomenlinna) ป้อมปราการทางประวัติศาสตร์, นั่งเรือเที่ยวรอบหมู่เกาะเฮลซิงกิ หรือเยี่ยมชมห้องอบไอน้ำแบบดั้งเดิมของเรา”

ป้อมซัวเมนลินนา (Suomenlinna) หรือ Sveaborg เป็นป้อมปราการกลางทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมพิพิธภัณฑ์และอาคารในบริเวณรอบๆ ที่มีบรรยากาศสวยงาม เงียบสงบ และได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage site) จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในปี ค.ศ.1991

ป้อมซัวเมนลินนา (Suomenlinna) ถาพ – © Suomen Ilmankuva Oy

 

เมื่อปี 1952 กลุ่มประเทศนอร์ดิก (Nordic countries) ที่ตั้งอยู่ในแถบยุโรปตอนเหนือประกอบด้วย 5 ประเทศ คือเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน รวมไปถึงกรีนแลนด์ หมู่เกาะแฟโรที่เป็นเขตการปกครองตนเองของเดนมาร์กและหมู่เกาะโอลันด์ ที่เป็นเขตการปกครองตนเองของฟินแลนด์ได้จัดตั้งคณะมนตรีนอร์ดิกขึ้น เป็นการร่วมมือกันระหว่างสภาและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ภายในกลุ่ม เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่นคง การพัฒนาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกันและกัน

เรื่องหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญและน่าสนใจคือ ประเทศในกลุ่มนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มประเทศที่ประชากรมีความสุขเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

นับตั้งแต่องค์การสหประชาชาติได้เริ่มเผยแพร่รายงานชื่อ “World Happiness Report” ครั้งแรกในปี 2012 ซึ่งเป็นรายงานผลสำรวจข้อมูลดัชนีความสุขมวลรวมของแต่ละประเทศทั่วโลก ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก มักได้รับการจัดอันดับ เป็นประเทศที่มีความสุขอันดับต้นๆ ของโลกมาโดยตลอด

ซึ่งตัวชี้วัดระดับความสุขของรายงานดังกล่าว จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น รายได้เฉลี่ยต่อหัว, อายุขัยของประชากร, การสนับสนุนทางสังคม, ความเอื้ออาทรของคนในสังคม, อิสรภาพจากการใช้ชีวิต และดัชนีชี้วัดอันดับการคอร์รัปชั่นของประเทศ

ฟินแลนด์ได้ครองตำแหน่งชาติที่มีความสุขมากที่สุดในโลกได้อย่างเหนียวแน่น เป็นระยะเวลาถึง 4 ปีซ้อน โดยมีคะแนนความสุขอยู่ที่ 7.842 คะแนน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มนอร์ดิก ก็มักจะติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกมาโดยตลอด

สำหรับประเทศไทยมีความสุขอยู่ในอันดับที่ 54 ของโลก ด้วยคะแนน 5.985 คะแนน แม้ดูเหมือนอันดับจะแย่ แต่ในความจริงแล้วอันดับก็ยังดีกว่าหลายประเทศที่คนไทยคุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะประเทศในทวีปเอเชีย อย่างญี่ปุ่น ที่อยู่ในอันดับที่ 56, เกาหลีใต้ อันดับที่ 62, ฮ่องกง อันดับที่ 77, เวียดนาม อันดับที่ 79, มาเลเซีย อันดับที่ 81, อินโดนีเซีย อันดับที่ 82, จีน อันดับที่ 84, ลาว อันดับที่ 100, กัมพูชา อันดับที่ 114, เมียนมา อันดับที่ 126

ส่วนประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในโลก คือประเทศอัฟกานิสถาน อยู่ในอันดับที่ 149

 

รูปปั้นหิมะ ภาพ – expedia.com

 

ท่านทูตยูริ ยาร์วียาโฮ ชี้แจงว่า

“เนื่องจากฟินแลนด์เป็นรัฐสวัสดิการของชาวนอร์ดิกที่ให้บริการสาธารณะอย่างมากมายแก่พลเมืองและผู้อยู่อาศัย จากการสำรวจต่างๆ ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำ อันรวมถึงสถานที่ที่มีความสุขที่สุด (อันดับที่ 1) คุณภาพชีวิต (อันดับ 3) การสำรวจการศึกษาโดยโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD PISA (อยู่ในกลุ่มประเทศชั้นนำ) เป็นต้น”

“มีการดูแลสุขภาพ, การศึกษา, ระบบกฎหมายที่มีมาตรฐานสูงได้รับความเชื่อถือจากสังคมโดยรวม, การมีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เปิดโอกาสให้ผู้คนได้สำรวจธรรมชาติหรือสนุกกับชีวิตในรูปแบบอื่นๆ ทำให้เกิดความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่มาก ทั้งยังสามารถมีชีวิตที่ดีได้ด้วยรายได้ของตนเอง เงินเดือนโดยเฉลี่ยต่อเดือนในฟินแลนด์คือ 3.600 ยูโร”

“ส่วนความยากจนในฟินแลนด์ก็มี หากแต่ความยากจนนั้นสัมพันธ์กับมาตรฐานการครองชีพทั่วไปของฟินแลนด์ ตัวอย่างคือ หากว่างงาน ก็จะได้รับผลประโยชน์ทางสังคม สามารถซื้อที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และได้รับประกันความต้องการขั้นพื้นฐาน จากข้อมูลทางสังคมของฟินแลนด์ ประชากรประมาณ 12% มีความเสี่ยงต่อความยากจน ซึ่งหมายความว่า มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 1,250 ยูโร”

พระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันในเดือนธันวาคมที่บ้านเกิดเมือง Vimpeli

 

เป็นการที่รัฐจัดบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษาฟรีให้แก่ประชาชน จัดที่พักอาศัยในราคาที่คนส่วนใหญ่สามารถซื้อได้ ให้พ่อแม่ได้สิทธิ์เลี้ยงลูกหลังคลอดเป็นเวลานานเพื่อส่งเสริมให้ผู้ชายรับผิดชอบในการดูแลลูกมากขึ้น ให้มีบริการรับเลี้ยงเด็กเล็กในราคาที่รัฐบาลอุดหนุนหรือฟรี รวมทั้งจัดสวัสดิการสังคมที่เพียงพอให้แก่ประชาชน

ความก้าวหน้าในนโยบายการศึกษาของฟินแลนด์ ได้มาพร้อมกับสวัสดิการรัฐชั้นยอด ซึ่งเป็นผลมาจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราภาษีสูงที่สุดในโลกคือ 51.6%

รายงานของปีนี้ วัดความสุขของผู้ย้ายถิ่นฐาน (immigrant) เป็นครั้งแรกด้วย และฟินแลนด์ก็ติดอันดับหมวดนี้ด้วยเช่นกัน

ชี้ให้เห็นว่า สังคมที่มีความสุขคือสังคมที่มีระบบ และสถาบันทางสังคมที่สนับสนุนเกื้อกูลกันและกัน โดยมีความเต็มใจที่จะรับและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อพยพด้วยกันมากขึ้น

ขี่จักรยานในฟินแลนด์

สําหรับหนึ่งปีในประเทศไทย กิจกรรมยามว่างของท่านทูต

“คือ วิ่ง ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำ เพราะผมชอบกิจกรรมกลางแจ้ง นอกจากนั้น คือการอ่านหนังสือ และเล่นกีตาร์บ้าง เราเคยไป ภูเก็ต สมุย เขาใหญ่ หัวหิน และเชียงใหม่มาแล้ว และก็หวังว่าจะได้ไปอยุธยา กระบี่ เชียงราย เกาะช้าง และสถานที่อื่นๆ เพราะประเทศไทยมีอะไรให้ต้องค้นหาอีกมากมาย”

ที่ภูเก็ต

วันที่ 6 ธันวาคม เป็นวันประกาศอิสรภาพหรือวันชาติของฟินแลนด์

“ปกติ เรามีการจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด ผมจึงไม่คาดหวังว่าเราจะสามารถจัดงานเลี้ยงฉลองได้ เพียงจัดทางออนไลน์เมื่อปีที่แล้ว สำหรับในปีนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะจัดในรูปแบบใด อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์-ไทยมีความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ที่เป็นมิตรต่อกันมายาวนานถึง 67 ปีแล้ว และจะเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป”

นอกจากสถานเอกอัครราชทูตของฟินแลนด์ในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีตัวแทนของประเทศฟินแลนด์คือเครือข่ายสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ด้วย โดยมีกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ชาวไทย ที่จังหวัดภูเก็ต และเชียงใหม่ และกงสุลกิตติมศักดิ์ชาวฟินแลนด์ที่พัทยา

ในประเทศไทยมีชาวฟินแลนด์อาศัยอยู่อย่างถาวรประมาณ 1,500-2,000 คน และอาศัยในลักษณะเทียบเท่ากับการพักอาศัยถาวรหลายพันคน

ในกรุงเทพฯ มีโรงเรียนภาษาฟินนิชประจำกรุงเทพฯ Bansku (Bangkokin Suomi-koulu Bansku) เน้นด้านการสอนภาษาและวัฒนธรรมของฟินแลนด์ สำหรับเด็กชาวฟินแลนด์หรือเด็กที่มีชาติกำเนิดจากประเทศฟินแลนด์ที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป โดยมีการพบกันในช่วงภาคการศึกษาทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์

มีสมาคมชาวฟินแลนด์ พัทยา (Pattaya Suomi-Seura) และสมาคมชาวฟินแลนด์ ในเขตพื้นที่หัวหิน (Hua Hinin seudun suomalaiset) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2009 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวฟินแลนด์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หัวหินและพื้นที่ใกล้เคียง ในเรื่องเกี่ยวกับการพักอาศัย และความเป็นอยู่ทั่วประเทศไทย

การล่องเรือตัดน้ำแข็ง ภาพ – expedia.com

 

ท่านทูตซึ่งมุ่งแสวงหาโอกาสที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิต ไปสู่การฟื้นฟูสีเขียวและการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน กล่าวปิดท้ายว่า

“ผมโชคดีและมีความสุขมากที่ได้มาอยู่ที่นี่ เพราะประเทศไทยเป็นสถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ผมตระหนักดีว่าประเทศไทยมีสิ่งต่างๆ มากมายสำหรับความรู้ด้านธุรกิจ วิทยาศาสตร์ วิธีการ ผู้คนที่มีความรู้ความสามารถ และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม”

“ผมยังเชื่อว่า เราสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ในหลายรูปแบบเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องพึ่งพากันและกันมากกว่าที่เคยเป็นมา เพราะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลงมือปฏิบัติและเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ทรัพยากรบนโลกใบนี้จากการสร้างมลพิษ และการปฏิบัติต่อธรรมชาติ”

“ซึ่งชาวไทยจะพบว่าเราชาวฟินแลนด์เป็นพันธมิตรที่สามารถให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในอีกหลายๆ ด้าน”

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย-