เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : สามสวนที่จตุจักร

http://travelchatuchak.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ช่วงบ่าย หลังเสร็จสิ้นการบรรยายเรื่องการจัดผังเมืองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน ช่วงบ่ายออกไปศึกษาดูงานการจัดการสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผังเมือง

สวนทั้งสามแห่งมีประวัติความเป็นมาก่อนหลังตามลำดับ คือ

สวนจตุจักร เป็นสวนสาธารณะอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ทางตอนเหนือ ด้วยถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนกำแพงเพชร 3 เริ่มตั้งแต่ปี 2518 การรถไฟแห่งประเทศไทย น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน 100 ไร่ เพื่อสร้างสวนสาธารณะตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ 48 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2518

วันที่ 8 มกราคม 2519 พระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า “สวนจตุจักร” (ภาษาสันสกฤตหมายถึงสี่รอบ)

สวนจตุจักรเปิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523

ส่วนที่เป็นจุดสำคัญของสวนจตุจักรคือ หอนาฬิกา นาฬิกาดอกไม้ และประติมากรรมอาเซียน 6 ประเทศ มีพื้นที่ 190 ไร่ นอกจากเป็นสวนสาธารณะแล้ว ในวันปลายสัปดาห์ยังเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ทดแทนตลาดนัดสนามหลวง มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตลาด “J.J.” (ตลาดเจเจ)

สวนสาธารณะจตุจักรเปิดให้เข้าไปออกกำลังกายและกิจกรรมอีกหลากหลายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 04.30-21.00 น. สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดได้ในพื้นที่ให้จอดรถด้านข้าง

หลังจากนั้น กรุงเทพมหานครยังดำเนินการจัดสร้างสวนสาธารณะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 2 ติดกับสวนจตุจักร และสวนวชิรเบญจทัศ สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครบ 5 รอบ วันที่ 12 สิงหาคม 2534 เปิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539

สวนแห่งนี้มีสระน้ำเป็นอักษร S และ ส อักษรตัวแรกในพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย มีลานบัวเป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยสวนพฤกษศาสตร์ที่รวบรวมสายพันธุ์ของพรรณไม้หลายชนิด เช่น ลีลาวดี (ลั่นทม) ชบา กล้วย ทั้งยังมีสระบัวและไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดครบทุกจังหวัดบนพื้นที่แผนที่ประเทศไทย และเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพมหานครด้วย

สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มีพื้นที่ 140 ไร่ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00-18.30 น. ทุกวัน

อีกสวนหนึ่งที่อยู่บริเวณเดียวกัน คือสวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เดิมเป็นสนามกอล์ฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นเป็นสวนสาธารณะวชิรเบญจทัศ ตามมติของคณะรัฐมนตรี สมัยที่ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2545 วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระชนมายุครบ 50 พรรษา มีพื้นที่ 375 ไร่ อยู่ในความดูแลทั้งกรุงเทพมหานครและการรถไฟแห่งประเทศไทย

สวนรถไฟเป็นที่นิยมของบรรดานักขี่จักรยาน มีช่องให้ขี่จักรยานเฉพาะรอบสวน ทั้งยังมีจักรยานให้เช่าหลายแบบ ราคาคันละ 20-60 บาทต่อวัน (เหมือนเคยมีที่สนามหลวงเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ที่สนามหลวงเป็นของเอกชน มีอาคารจัดแสดงและเพาะเลี้ยงผีเสื้อ แมลงหลายชนิด บนพื้นที่ 1 ไร่ โดยจัดภูมิทัศน์แบบธรรมชาติ มีพรรณไม้นานาชนิดและบ่อน้ำ ลำธาร น้ำตกขนาดเล็ก และพืชพรรณอาหารของผีเสื้อ คือดอกไม้

ภายในตึกจัดเป็นนิทรรศการแสดงเรื่องน่ารู้เรื่องผีเสื้อ เปิดให้เข้าชมไม่เสียค่าบริการทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น.

สวนสาธารณะทั้งสามแห่งนี้ เฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นที่ออกกำลังกายและพักผ่อนทั้งครอบครัวของชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไปออกกำลังกายตั้งแต่เช้ามืด เตรียมอาหารไปรับประทานมื้อเช้า แล้วพักผ่อนในสวนจตุจักร

ยามสาย ผู้ใหญ่ หรือเด็กด้วยก็ได้ออกเดินเที่ยวหาซื้อของบริเวณตลาดนัดจตุจักร เด็กอาจเช่าจักรยานขี่ออกกำลังกาย ขี่เล่น ซึ่งสามารถนำจักรยานไปกับตัวได้ทั้งวัน ถึงเย็น ไปเที่ยวเล่นที่พิพิธภัณฑ์เด็ก และสวนผีเสื้อที่สวนรถไฟ และสวนสมเด็จฯ นัดหมายกันมารับประทานอาหารกลางวัน หรืออาหารเย็นก็ได้ที่ตลาดนัดจตุจักร หรือร้านอาหารใกล้เคียง

วันที่พวกเราไปดูงาน ได้รับฟังการบรรยายเรื่องสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของ “ปอดกรุงเทพฯ” ซึ่งมีสวนสาธารณะอีกหลายแห่ง ทั้งสวนเก่าแก่ที่สุดคือสวนสาธารณะลุมพินี หรือ “สวนลุม” ที่รู้จักกันดี

มติชนร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดดนตรีในสวนเป็นประจำทั้งดนตรีสากลและดนตรีไทย ระหว่างเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ทุกปีมานานนับสิบปีแล้ว

ผู้บรรยายของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย

คุณศิริพร ปิยะนาวิน ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อม คุณวรวุทธิ์ ปัณยานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มสวนสาธารณะ 1 สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ของสวนสาธารณะทั้งสามแห่ง

หลังฟังการบรรยายและตอบข้อซักถามในบางประเด็น เช่น การตัดแต่งต้นไม้ทั้งริมถนนและในเขตกรุงเทพมหานครที่มักจะเห็นเจ้าหน้าที่ตัดจนแทบว่าจะเหี้ยนเตียน ซึ่งได้รับคำตอบว่า มาจากหลายสาเหตุ อาทิ ต้นไม้บนถนนหลายสายมีสายไฟฟ้าและสายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค แต่เจ้าหน้าที่จะรับฟังเพื่อนำไปปรับปรุง ซึ่งขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครมีเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่จากกองสวนสาธารณะมีชื่อเรียกว่า “รุกขกร” เห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลและตัดต้นไม้โดยเฉพาะ

ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ มีส่วนของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า พระเจ้าอยู่หัวคือป่า เราคือน้ำ ให้เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปเห็นความสำคัญของความเป็นป่าที่สัมพันธ์กับน้ำอย่างลึกซึ้ง จะได้เข้าใจว่าทำไมจึงต้องเรียกร้องให้พวกเราคนไทยรักษาป่ารักษาน้ำ

ส่วนพิพิธภัณฑ์เด็ก สมควรที่นักเรียนของกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนในกรุงเทพมหานครจะต้องไปเที่ยวชม เพื่อประโยชน์ของเด็กและนักเรียน ใน 1 วัน บรรดานักเรียน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนจะได้ประโยชน์จากสาธารณะทั้งสามแห่งนี้อย่างคุ้มค่า ไม่เชื่อสุดสัปดาห์นี้ลองไปพิสูจน์

วันนั้น เจ้าหน้าที่พาพวกเรานั่งรถกอล์ฟวิ่งไปตรงนั้นแวะตรงนี้ อธิบายให้ความรู้ ขอขอบคุณครับ