การพัฒนาพรรคการเมือง ให้เป็นสถาบัน/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

การพัฒนาพรรคการเมือง

ให้เป็นสถาบัน

 

จากรายงานข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินกิจกรรมอยู่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีพรรคการเมืองในปัจจุบัน 83 พรรค

โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีประวัติเก่าแก่ที่สุด โดยจดจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2525 มีสมาชิกพรรค 90,780 คน

และพรรคอันดับสุดท้ายที่จดจัดตั้ง คือ พรรคไทยชนะ จดจัดตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 มีคณะกรรมการบริหารพรรค 17 คน ยังไม่มีสมาชิกพรรค

หากเรียงลำดับตามขนาดของจำนวนสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกมากที่สุดถึงเก้าหมื่นเศษ

อันดับสอง คือ พรรคเสรีรวมไทย มีสมาชิก 60,780 คน

อันดับสาม พรรคเพื่อไทย มีสมาชิก 60,031 คน

อันดับสี่ พรรคภูมิใจไทย 56,239 คน

และอันดับห้า พรรคพลังประชารัฐ 49,842 คน

ส่วนพรรคก้าวไกล มีสมาชิกเพียง 29,512 คน ซึ่งถือว่าไม่มากนัก

หากวิเคราะห์การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ พบว่า ในปี พ.ศ.2563-2564 มีพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่มากถึง 21 พรรค หากเท่ากับหนึ่งในสี่ของพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด ในขณะที่พรรคการเมืองที่เคยมีชื่อเสียงในอดีต เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา กลับเหลือ ส.ส.ในสภาจำนวนไม่มาก มีสมาชิกพรรคหลักหมื่นต้นๆ

อะไรคือเหตุของการคงอยู่และเสื่อมถอย อะไรคือสิ่งที่เป็นปัจจัยที่พัฒนาพรรคไปสู่ความยั่งยืนเป็นสถาบัน และพรรคการเมืองไทยมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้วหรือยัง เป็นสิ่งที่ควรมาพิจารณากัน

 

ห้าองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา

ในคู่มือการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน (Institutional Development Handbook : A Framework for Democratic Party Building) ของสถาบัน IMD (Institute for Multiparty Development) แห่งเนเธอร์แลนด์ที่พิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ.2004 ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่น่าสนใจ 5 ประการ ที่จะบ่งชี้และเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน

องค์ประกอบทั้ง 5 ประการได้แก่

หนึ่ง ความเข้มแข็งขององค์การ

สอง ความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค

สาม อัตลักษณ์ทางการเมือง

สี่ ความเป็นเอกภาพภายในพรรค

และห้า ความสามารถที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเลือกตั้ง

หากทดลองนำมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ (Framework of Analysis) กับพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยเลือกเปรียบเทียบระหว่าง พรรคการเมืองที่มี ส.ส.เรียงตามลำดับ 5 พรรคแรกที่มี ส.ส.ในสภาสูงสุด ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์

เราจะเห็นความแตกต่างของห้าพรรคการเมืองดังกล่าวในหลายประเด็นที่น่าสนใจ

 

หนึ่ง ความเข้มแข็งขององค์กร

(Organization Strength)

เป็นการพิจารณาจากความสามารถในการบริหารจัดการพรรคการเมือง ความสามารถในการระดมทุนและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีแผนการดำเนินการของพรรคที่ชัดเจน มีกิจกรรมของพรรคที่ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ มีความโปร่งใสในการจัดการบริหารตลอดจนการมีระบบงานต่างๆ ภายในพรรคที่ดีและสะท้อนถึงระบบคุณธรรม

ความสามารถในการบริหาร จึงเป็นเรื่องที่พรรคจำเป็นต้องมีบุคลากรที่เป็นมืออาชีพเข้ามาดำเนินการ นับแต่ตำแหน่งเลขาธิการพรรค ผู้อำนวยการพรรค ตำแหน่งบริหารทางธุรการต่างๆ ที่สนับสนุนในการทำงานอย่างเป็นระบบ

ในพรรคการเมืองขนาดใหญ่และมีพัฒนาการ เราจะเห็นคนซึ่งมีความสามารถมาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการพรรคที่เป็นมืออาชีพเพื่อดูแลในเรื่องธุรการและเป็นผู้ช่วยที่สำคัญของเลขาธิการพรรคซึ่งอาจจะมีภาระทางการเมือง ในขณะที่พรรคขนาดกลางหรือเล็ก งานดังกล่าวอาจรวบไว้ที่ตัวเลขาธิการพรรคแต่ผู้เดียว

โดยสรุปในประเด็นที่หนึ่ง ยังไม่เห็นความแตกต่างกันมากสำหรับห้าพรรคการเมืองที่นำมาเปรียบเทียบ

 

สอง ความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค

(Internal Democracy)

เป็นการพิจารณาถึงการให้ความสำคัญต่อค่านิยมและวิธีการปฏิบัติภายในพรรคที่เป็นประชาธิปไตย อาทิ การเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ภายในพรรคอย่างเป็นประชาธิปไตย ไม่อยู่ภายใต้การสั่งการหรือครอบงำของบุคคลหรือตระกูลทางการเมืองใด การตัดสินใจเรื่องสำคัญ กระบวนการคัดเลือกบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในพรรคเป็นกระบวนการที่ทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันหรือไม่

หากเปรียบเทียบใน 5 พรรคการเมือง พรรคที่มีจุดเด่นชัดเจนต่อสาธารณะในเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์และพรรคก้าวไกล

ส่วนพรรคที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย พลังประชารัฐ หรือภูมิใจไทย ยังมีคราบเงาของผู้เป็นเจ้าของพรรคที่มีอิทธิพลเหนือกว่าคนทั่วไป

 

สาม อัตลักษณ์ทางการเมือง

(Political Identity)

ความมีอัตลักษณ์ทางการเมือง หมายถึง พรรคสามารถแสดงออกซึ่งจุดยืนทางการเมือง และมีความแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นอย่างชัดเจนในเรื่องใด ยกตัวอย่างเช่น พรรค Green ในต่างประเทศ จะมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สนับสนุนพลังงานสะอาดและการสร้างความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ พรรค Republican ของสหรัฐอเมริกา มีความเป็นอนุรักษนิยม (Conservative) ในขณะที่พรรค Democrat มีความเป็นเสรีนิยม (Liberal) ที่ชัดเจน

เมื่อเปรียบเทียบจาก 5 พรรคการเมือง พรรคที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน คือ ก้าวไกล ที่แสดงออกถึงความเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ที่กล้าเปลี่ยนแปลง

และพรรคพลังประชารัฐ ที่มีอัตลักษณ์ในเชิงอนุรักษนิยม การรักษาอดีตและอำนาจของรัฐราชการและทหาร

ในขณะที่ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ยังไม่สามารถสื่อสารให้สังคมรับรู้และเชื่อถือในอัตลักษณ์ที่พยายามสร้างได้

ส่วนพรรคเพื่อไทย แม้พยายามจะสื่อสารถึงความมีอัตลักษณ์ในด้านเป็นพรรคประชาธิปไตย แต่ยังไม่ชัดเจนได้เท่าพรรคก้าวไกล

 

สี่ เอกภาพภายในพรรค

(Internal Unity)

ความมีเอกภาพภายในพรรค หมายถึงการที่สามารถประสานกลุ่มก้อนต่างๆ ภายในพรรคให้เกิดทิศทางการเคลื่อนไหวที่เป็นทางเดียวกัน ไม่มีความขัดแย้งในแนวทางที่ฝ่ายหนึ่งเห็นอย่าง อีกฝ่ายหนึ่งเห็นอีกอย่าง

หรือเกิดปรากฏการณ์แบ่งเป็นกลุ่มเป็นก๊วน (Factions)แย่งชิงการนำกันภายในพรรค

ทั้งนี้ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เติบโตรวดเร็วจากการรวมกลุ่มก้อนทางการเมืองแบบเฉพาะกิจ จะประสบปัญหาในเรื่องนี้มากกว่า พรรคขนาดเล็กหรือ พรรคที่มีการหล่อหลอมมาเป็นเวลานาน

ในกรณีนี้ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทยดูจะมีความเป็นเอกภาพภายในพรรคสูงกว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่ยังมีขั้วความคิดภายในพรรคที่แตกต่างกันและพรรคพลังประชารัฐที่ประกอบด้วยกลุ่มก๊วนเฉพาะกิจต่างๆ

 

ห้า ความสามารถที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเลือกตั้ง

(Electioneering Capacity)

ความสำเร็จสูงสุดของพรรคการเมือง คือ ความสามารถในการชนะการเลือกตั้ง มีจำนวน ส.ส.ที่มากพอในการก่อตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

ดังนั้น พรรคที่มีโอกาสพัฒนาต่อเนื่องเป็นสถาบันต้องสร้างความสำเร็จในการเลือกตั้ง ยิ่งอยู่นานยิ่งต้องมี ส.ส.ที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้พรรคสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ภายใต้กติกาใหม่ที่จะเปลี่ยนการเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ เรายังเห็นโอกาสความสำเร็จในการเลือกตั้งจากพรรคใหญ่มากกว่าพรรคขนาดกลาง เนื่องจากความพร้อมในด้านบุคลากรผู้สมัคร ทีมงานสนับสนุน

การสร้างสรรค์นโยบายที่ตรงความการของประชาชน

 

พรรคไหนใกล้ความเป็นสถาบัน

การประเมินโดยใช้ปัจจัยตามกรอบแนวคิด 5 ประการข้างต้นเป็นเพียงวิธีการหนึ่งและยังเป็นการประเมินแบบอัตวิสัย (Subjective) ของผู้เขียนซึ่งอาจจะไม่เป็นจริงตามนั้น อย่างไรก็ตาม หากให้คะแนนตามองค์ประกอบต่างๆ โดยให้เกณฑ์ 2 1 0 คือ 2 มีสิ่งนั้น 1 มีบ้าง และ 0 ไม่มี ตารางในบทความนี้น่าจะเป็นข้อสรุปแบบง่ายๆ ในด้านความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองใหญ่ 5 พรรค

อย่าเพิ่งตกใจ อย่าเชื่อผลการประเมิน เพราะแนวคิดตะวันตกอาจไม่ใช่คำตอบ และการประเมินยังต้องมีวิธีการที่จริงจังซับซ้อนยิ่งกว่านี้

และการเป็นสถาบัน (Institution) ต้องมองกันยาวๆ กว่านี้ครับ