การศึกษา / วิกฤตหนัก ‘ร.ร.เอกชน’ เลิกกิจการ เผือกร้อน รอ ‘รัฐบาล’ หาทางออก

การศึกษา

วิกฤตหนัก ‘ร.ร.เอกชน’ เลิกกิจการ

เผือกร้อน รอ ‘รัฐบาล’ หาทางออก

เจอปัญหาต่อเนื่องมาพักใหญ่ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ อัตราการเกิดที่ลดลง และล่าสุดกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่หนักหน่วงทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งขาดสภาพคล่องถึงขั้นยอมแพ้ “ปิดกิจการ” เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ติดลบได้อีกต่อไป…

ล่าสุดถึงคิว “โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี” ประกาศ “เลิกกิจการ” ในวันที่ 30 เมษายน 2565 หรือสิ้นปีการศึกษา 2564 ภายหลังคณะกรรมการบริหารโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรีมีมติเนื่องจากโรงเรียนประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และถูกซ้ำเติมจากเชื้อโควิด-19 ยาวนานกว่า 2 ปี

แม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิอำนวยศิลป์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ

 

ดร.เจต ประภามนตรีพงศ์ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนในเครือประภามนตรี เปิดใจว่า ไม่ใช่แค่การแพร่ระบาดเท่านั้น ที่ทำให้โรงเรียนประสบปัญหา ก่อนหน้านี้ประมาณ 5-10 ปี เจอปัญหาเรื่องอัตราการเกิดของประชาชนที่ลดลง ขณะที่จำนวนโรงเรียนเท่าเดิม ประกอบกับโรงเรียนภาครัฐขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

“โรงเรียนเอกชนไม่ใช่แค่แบ่งเบาภาระของภาครัฐเท่านั้น ยังแบ่งเบาเรื่องงบประมาณอย่างมาก จากข้อมูลประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนช่วยรัฐแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเกือบ 10,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันช่วยรัฐแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย 6,000 ล้านบาทต่อปี สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครคำนึงถึง หลายคนมองว่าโรงเรียนเอกชนคือธุรกิจ เพราะเก็บค่าเทอม จึงอยากวิงวอนภาครัฐ โดยเฉพาะผู้นำประเทศ คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะนับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดในปี 2563 จนถึงปี 2564 ภาครัฐไม่ได้ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน ผู้ปกครองได้รับผลกระทบ ทำให้จ่ายค่าเทอมไม่ได้ แต่โรงเรียนยังมีรายจ่ายประจำอยู่ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้มากว่า 2 ปี จนหลายแห่งประสบปัญหา ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้ เหมือนโรงเรียนเอกชนถูกเมินเฉย ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ หากโรงเรียนเอกชนล้มกันหมด ภาระต่างๆ จะตกไปอยู่ที่โรงเรียนรัฐ ครูกว่า 1 แสนคนอาจถูกลอยแพ” ดร.เจตกล่าว

ที่ผ่านมา แม้ภาครัฐจะให้โรงเรียนเอกชนกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็ไม่ได้ช่วยเหลือโรงเรียนมากนัก เพราะโรงเรียนต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ดี

ส่วนธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ให้โรงเรียนเอกชน เพราะกังวลว่าหากธนาคารยึดทรัพย์ ยึดที่ดินของโรงเรียนเอกชนแล้ว สังคมอาจจะตราหน้า หรือโจมตีธนาคารได้

ดังนั้น โรงเรียนเอกชนจึงไม่มีที่พึ่งด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือให้โรงเรียนรักษาสภาพคล่องได้เลย

 

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เห็นคล้ายกันว่า การหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน ยังคงเป็นวิธีต่อลมหายใจที่โรงเรียนเอกชนหลายแห่งต่างเรียกร้อง แต่ก็มีปัญหาตรงที่สถาบันการเงินจะปล่อยให้เฉพาะลูกหนี้เดิมและเป็นจำนวนเงินที่น้อย

ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ได้โดยเร็ว ก็อาจจะสามารถช่วยยื้อกิจการบางแห่งได้อีกระยะ

จากข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2564 พบว่ามีโรงเรียนเอกชนเลิกกิจการไป 60-70 แห่ง แม้จะมีโรงเรียนเอกชนตั้งใหม่มาบ้าง แต่เป็นโรงเรียนที่เรียกเก็บค่าเทอมแพง และขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนอีกประมาณ 10 แห่ง ส่งหนังสือแจ้งยกเลิกกิจการไปที่ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แล้ว

“ผมเสนอปัญหาให้นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) รับทราบถึงปัญหาแล้ว ขณะนี้ทาง สช.อยู่ระหว่างหาวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมอยู่ อย่างไรก็ตาม ผมขอให้รัฐเร่งช่วยเหลือ โดยให้โรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนได้เปิดเรียนในโรงเรียนอย่างปลอดภัย โดยรัฐควรจะสนับสนุนชุดตรวจ ATK มาตรวจก่อนเปิดเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและนักเรียน เพราะขณะนี้โรงเรียนไม่มีงบฯ จัดซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจนักเรียนและครูได้ เชื่อว่าถ้า ศธ.ปรับระเบียบ หรือปลดล็อกระเบียบการใช้งบฯ ใหม่ให้ยืดหยุ่น เช่น ปลดล็อกงบฯ ในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้โรงเรียนนำงบฯ เหล่านี้มาใช้ในการซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อใช้ตรวจนักเรียน จะทำให้โรงเรียนประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว

เชื่อว่าอย่างน้อยถ้าโรงเรียนเปิดเรียนแบบปกติได้ จะทำให้โรงเรียนเก็บค่าเทอมได้ ที่ผ่านมาโรงเรียนไม่กล้าเก็บค่าเทอมภาคเรียนที่ 2 กับผู้ปกครอง เพราะกลัวว่าเมื่อเปิดเทอมแล้ว ถ้าไม่สามารถมาเรียนในโรงเรียนได้ ต้องจัดการเรียนการสอนรูปแบบอื่น สิ่งที่ตามมาคือโรงเรียนต้องคืนค่าเทอมให้ผู้ปกครอง

และหากโรงเรียนยังไม่สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้ในภาคเรียนที่ 2 คิดว่าอาจจะต้องปิดตัวเพิ่มอีกกว่า 100 แห่ง…

 

ฝั่งมหาวิทยาลัยเอกชนก็ประสบปัญหาไม่แพ้กัน

ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะนายกสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) บอกว่า มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ขาดสภาพคล่อง เพราะต้องช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง โดยการลดค่าเล่าเรียนบางส่วน ขณะที่นักศึกษาบางรายไม่สามารถจะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้

ปัจจัยที่จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถอยู่รอดได้ขึ้นอยู่กับระบบการบริหารเงินทุนสำรองว่ามีเหลือเก็บอยู่เท่าไร หากมหาวิทยาลัยใดมีทุนสำรองมาก ก็ถือว่ากระทบน้อยกว่าที่อื่น

“ถือเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีของมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะผู้ปกครองและนักศึกษาเองก็ได้รับความเดือดร้อน ขณะที่มหาวิทยาลัยเองยังต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายคงที่ ทั้งค่าจ้างอาจารย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลให้ความช่วยเหลือ ในส่วนของค่าเทอม รายละ 5,000 บาท มหาวิทยาลัยเองก็สมทบช่วยในส่วนหนึ่ง เพื่อลดภาระนักศึกษาและผู้ปกครอง ผมเองไม่อยากขอความช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณ เพราะรู้อยู่แล้วว่าตอนนี้เองภาครัฐก็ลำบาก แต่หากเป็นไปได้อยากให้หามาตรการช่วยเหลืออาจารย์และนักศึกษา เพื่อลดภาระในเรื่องต่างๆ เรื่องนี้มีผลกระทบในวงกว้าง ส่วนตัวเลขมหาวิทยาลัยที่ปิดกิจการนั้น ยังไม่ชัดเจน แต่เท่าที่ทราบมีบางแห่งให้ต่างชาติเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการบ้างแล้ว ส่วนจะเป็นที่ใดนั้นไม่สามารถบอกได้” นายพรชัยกล่าว

เป็นวิกฤตหนักที่ ศธ.และรัฐบาลต้องเร่งหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะต้องยอมรับว่าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชน มีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของภาครัฐ

หากปล่อยให้ล้มหายตายจากกันไปมากกว่านี้ อาจส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาในอนาคต