สุจิตต์ วงษ์เทศ : พื้นที่สีเขียวอยุธยา ถูกใช้สร้างโรงงาน

โรงงานแย่งที่อยู่ดั้งเดิมของมวลน้ำมหาศาล ภาพเหตุการณ์ทวงคืนที่อยู่ของน้ำทำให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2554 (ภาพจาก https://www.wikiwand.com)

 

พื้นที่สีเขียวอยุธยา

ถูกใช้สร้างโรงงาน

 

รัฐบาลในอดีตตัดสินใจด้วยอำนาจรวมศูนย์เอาพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของอยุธยาให้ทุนข้ามชาติใช้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมตามที่เห็นเป็นสิ่งอุจาดใน “ทุ่งหลวง” ทุกวันนี้

พื้นที่อุดมสมบูรณ์ของอยุธยามาจากปุ๋ยธรรมชาติที่ถูกเติมชุดใหม่ใส่เพิ่มทุกปีเมื่อไหลปะปนมากับน้ำหลากจากทุกทิศทาง ซึ่งเหมาะทำการเกษตร “ปลอดสารพิษ” เพื่อชีวิตของมนุษยชาติ

อยุธยาเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ รองรับน้ำล้นในฤดูน้ำหลากจากทางเหนือและทางตะวันออก-ตะวันตก เพราะพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นท้องทะเลเมื่อมากกว่าหมื่นปีมาแล้ว ส่วนช่วงเวลาวัฒนธรรมทวารวดี (ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000) พื้นที่อยุธยาเป็นดอนป่าชายเลนโดยมีฝั่งทะเลอยู่ตามแนวถนนพระราม 2 กรุงเทพฯ-สมุทรสาคร

แต่รัฐราชการรวมศูนย์มากกว่า 30 ปีมาแล้ว ใช้พื้นที่ราบลุ่มรับน้ำหลากนี้สร้างโรงงานสมัยใหม่ แล้วมีปัญหาตามมายังแก้ไม่ตกอกจะแตกคราก

ก่อน พ.ศ.2530 อยุธยาที่เป็นทุ่งนามีกฎหมายให้สงวนเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการเกษตรกรรม

หลัง พ.ศ.2530 ประกาศยกเลิกอยุธยาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อเกษตรกรรม และกำหนดให้อยุธยาเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน จนกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม จึงมีโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่อย่างจริงจังนับแต่บัดนั้น

 

พื้นที่สีเขียวจากโคลนตะกอน

อยุธยามีพื้นที่เป็นดินโคลนที่เกิดจากการทับทมของตะกอนน้ำหลาก ซึ่งไหลมาจากทิศทางต่างๆ ในฤดูฝน โคลนตะกอนจากน้ำฝนไหลหลากเหล่านั้นเป็นปุ๋ยธรรมชาติ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นดินปลูกข้าวเจริญงอกงาม (ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส เข้าถึงอยุธยาในแผ่นดินพระนารายณ์ก็เห็นความจริงจากธรรมชาติเรื่องนี้ จึงมีบันทึกในจดหมายเหตุฯ)

พื้นที่สีเขียวจากโคลนตะกอนเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ไพศาล ที่ต่อมาเรียกทุ่งหลวง ครอบคลุมท้องที่หลายจังหวัดทางตะวันออกของภาคกลาง

ทุ่งหลวง แปลว่าที่ราบโล่ง กว้างใหญ่ หมายถึง พื้นที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ฝั่งซ้าย ไม่มีชุมชน หรือมีเบาบาง ตั้งแต่ฟากทิศใต้และตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ไปจนฝั่งเหนือแม่น้ำบางปะกง เขตติดต่อระหว่าง จ.พระนครศรีอยุธยา กับ จ.สระบุรี ไปถึง จ.นครนายก มีลำน้ำน้อยใหญ่ขนาดต่างๆ หลายสายตัดไขว้ไปมาทิศทางต่างๆ คล้ายใยแมงมุม แต่มีสายหลักคือคลองข้าวเม่า เป็นแกนทำแนวตะวันตก-ตะวันออก คนแต่ก่อนใช้เป็นเส้นทางคมนาคมไปมาหาสู่กัน (ทุ่งหลวง ปัจจุบันคือบริเวณฝั่งใต้คลองระพีพัฒน์ซึ่งเป็นคลองชลประทานขุดใหม่)

ต่อมาสร้างเขื่อนพระราม 6 ที่ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2458 (สร้างเสร็จ พ.ศ.2467) ทำระบบส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกเรียกทุ่งหลวง สืบจนทุกวันนี้ (อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2545 หน้า 188)

เหตุจากอำนาจรัฐหวังรวยเฉพาะหน้าจากการขายพื้นที่รับน้ำทุ่งหลวงให้ทุนข้ามชาติก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นออกนอกประเทศ จึงส่งผล ดังนี้ (1.) ทำลาย “แก้มลิง” พื้นที่รับน้ำมหาศาล จึงเกิดน้ำท่วม (2.) ทำลาย “ทุ่งประวัติศาสตร์” สภาพแวดล้อมธรรมชาติ (3.) ทำลายแหล่งประวัติศาสตร์ที่มีกระจายเต็มทุ่งหลวง

ความเป็นมาเหล่านี้มีรวบรวมอยู่ในหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542 หน้า 9-10) สรุปดังนี้

 

ถูกรัฐรวมศูนย์ใช้สร้างโรงงาน

อยุธยามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์จัดอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า ภาคกลางตอนล่าง คืออยู่ค่อนมาทางใต้ของภาคกลางใกล้อ่าวไทย แต่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น ได้ถูกจัดอยู่ในแผนการพัฒนาภาคกลางตอนบน ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดอื่นๆ อีก 5 จังหวัด คือ สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง ชัยนาท และสิงห์บุรี โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเองมีพื้นที่ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดอ่างทองและจังหวัดลพบุรี และทางทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี

การที่สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บรรจุจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไว้ในแผนการพัฒนาภาคกลางตอนบนได้มีการกำหนดให้พื้นที่ด้านเหนือของจังหวัดคืออำเภอท่าเรือ และพื้นที่ด้านใต้ของจังหวัด คือ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอวังน้อย และอำเภอบางปะอิน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคกลางตอนบน เชื่อมโยงกับภาคมหานครซึ่งมีโครงการที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง เช่น

พื้นที่แนวเขตอำเภอบางปะอิน อุทัย วังน้อย ต่อไปจนถึงอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ได้รับการกำหนดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องจักร

พื้นที่ท่าเรือ-ท่าหลวง ในเขตอำเภอท่าเรือ กำหนดให้เป็นเขตศูนย์กลางแปรรูป ผลผลิตชั้นต้น ชั้นกลาง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรและเพื่อการส่งออก

อยุธยาจึงกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และมีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมาย มีทั้งอุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมประมาณ 60.65 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 2.37 ของพื้นที่จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรม โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับภาคเอกชน ได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 3 แห่ง สวนอุตสาหกรรม 1 แห่ง และเขตอุตสาหกรรมอีก 1 แห่ง ได้แก่

นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน (บริษัท ที่ดินบางปะอิน จำกัด) มีพื้นที่โครงการ 2,000 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองจิก และตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บริษัท ไทยอินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด) มีพื้นที่โครงการ 2,150 ไร่ ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 59-60 ถนนสายเอเชีย-นครสวรรค์ ตำบลบ้านเลน ตำบลบ้านหว้า อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นิคมอุตสาหกรรม สหรัตนนคร (บริษัท สหรัตนนคร จำกัด) มีพื้นที่โครงการ 2,050 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพระครู อำเภอนครหลวง และตำบลบางเดื่อ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด) มีพื้นที่โครงการ 3,175 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลคานหาม อำเภออุทัย

เขตประกอบการอุตสาหกรรม แฟคตอรีแลนด์วังน้อย (บริษัท วังจุฬา เรียลเอสเตท จำกัด) มีพื้นที่โครงการ 130-137 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลวังจุฬา และตำบลชะแมบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อนึ่ง ในช่วงระยะตั้งแต่ พ.ศ.2535-2539 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับการบรรจุไว้ในแผนการพัฒนาภาคกลางตอนบน โดยมีพื้นที่ด้านเหนือของจังหวัด คือ อำเภอท่าเรือ และพื้นที่ด้านใต้ของจังหวัด คืออำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอวังน้อย และอำเภอบางปะอิน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคกลางตอนบน และพัฒนาเชื่อมโยงกับภาคมหานคร ส่วนในแผนปัจจุบันนั้น ได้มีการกำหนดแนวทางพัฒนาอยุธยา เน้นการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจและฐานอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับนานาชาติต่อไป