ลุงสีเลี้ยวซ้าย : 1) สามเส้นแดง/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

ลุงสีเลี้ยวซ้าย : 1) สามเส้นแดง

จู่ ๆ เมื่อ ๒๐ สิงหาคมศกก่อน ธนาคารประชาชนจีน (中国人民银行 ซึ่งก็คือธนาคารแห่งชาติจีน) กับกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบทจีน (MOHURD: Ministry of Housing and Urban-Rural Development) ก็ร่วมกันประกาศร่างกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อทดลองใช้กำกับดูแลสถานะการเงินสำหรับบริษัท อสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายของจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “สามเส้นแดง” (三道红线)

เนื้อหาสังเขปของ “สามเส้นแดง” คือบรรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนหากต้องการจะ ระดมทุนด้วยการกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม (refinance) จะต้องถูกประเมินตามเกณฑ์ ๓ ประการด้วยกัน ได้แก่:

๑) อัตราส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน (liabilities to assets ratio) ของบริษัทต้องไม่เกินเพดาน ๗๐% ทั้งนี้โดยไม่นับรายได้ล่วงหน้าที่มาจากสัญญาซื้อขายโครงการ

๒) อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (debt to equity ratio) ของบริษัทสูงสุดได้แค่ ๑๐๐%

๓) อัตราส่วนเงินสดต่อหนี้ระยะสั้น (cash to short-term borrowing ratio) ของบริษัทขั้นต่ำอยู่ที่ ๑

เหล่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนที่สอบผ่านการประเมิน “สามเส้นแดง” ข้างต้นลดหลั่นกันไป ก็จะ ได้รับอนุญาตจากทางการจีนให้กู้หนี้ยืมสินเพิ่มได้เป็นร้อยละของหนี้เดิมที่มีอยู่ ดังนี้:

(ประมวลและปรับปรุงจาก https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-10-08/what-china-s-three-red-lines-mean-for-property-firms-quicktake & https://www.tmbameastspring.com/insights/a-multi-asset-perspective-on-asian-real-estate)

โดยกำหนดบังคับใช้ให้เป็นไปตามเกณฑ์ข้างต้นจริงในปีนี้ (ค.ศ.2021)

 

มูลเหตุของการขีด “สามเส้นแดง” ให้แก่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีนซึ่งมีขนาดถึง 29% ของ GDP ทั้งประเทศ (https://voxeu.org/article/can-china-s-outsized-real-estate-sector-amplify-delta-induced-slowdown) ก็ด้วยความหวั่นวิตกของทางการรัฐ-พรรคจีนต่อฟองสบู่การเคหะซึ่งโป่งพองขึ้นมหาศาลว่ามันจะแตกโพละพาเศรษฐกิจการเงินของประเทศวอดวายไปด้วยนั่นเอง

ดังปรากฏว่าราคาบ้านในจีนเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้การหาที่อยู่ในเมืองใหม่ของจีนอย่างเซินเจิ้นแพงหูฉี่กว่าในกรุงลอนดอนด้วยซ้ำ

สำหรับตัวการขับดันราคาบ้านให้พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญก็ได้แก่การที่บริษัทอสังหาฯ จีนพากันกู้แหลกเพื่อมาลงทุนสร้างโครงการบ้านอาคารที่พักใหม่ๆ ขายนั่นเอง โดยที่ในบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ติดหนี้หนักที่สุด 10 แห่งในโลกนั้น มีถึง 8 แห่งตั้งอยู่ในจีน ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องตั้งราคาขายสูงขึ้น เพื่อพอจ่ายภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มพูน

และแม้ว่าโควิด-19 ระบาดจะสกัดจุดตลาดบ้านจีนให้ชะงักไปช่วงหนึ่ง แต่พอโรคระบาดผ่อนคลายลง บรรดาเฮียตี๋เจ๊ม่วยผู้มีกำลังทรัพย์และอยากซื้อก็แห่กลับเข้าตลาดมาอีก จึงหนุนราคาบ้านในจีนให้คงสูงอยู่ แม้ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลงก็ตาม

เหล่านี้ทำให้ทางการจีนหวั่นใจว่าจะเผชิญภาวะฟองสบู่การเคหะแตกแบบที่ญี่ปุ่นประสบเมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เพราะตอนนั้นทางการญี่ปุ่นชะล่าใจไม่รีบเหนี่ยวรั้งยับยั้งการปล่อยสินเชื่อเกินเลย อีกทั้งไม่ปิดกิจการบริษัทลูกหนี้ที่มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัวให้ทันท่วงที จนส่งผลกระทบเสียหายต่อเศรษฐกิจยืดยาวต่อมา

และพอทางการจีนออกร่างมาตการ “สามเส้นแดง” ไม่ทันไร บริษัทอสังหาฯ จีนก็เริ่มออกอาการครั่นเนื้อครั่นตัวทันที…

ดังปรากฏว่าเมื่อเดือนกันยายนศกก่อน กลุ่มบริษัทเอเวอร์แกรนด์ (Evergrande Group) ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาฯ ที่ติดหนี้ (liabilities) หนักที่สุดในโลกปานภูเขาเลาการาว 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Interview/China-has-means-to-address-Evergrande-default-IMF-official) ตามยุทธศาสตร์การสร้างบริษัทให้เติบโตอย่างรวดเร็วที่เรียกว่า “3 สูง 1 ต่ำ” ได้แก่ หนี้สูง-หนี้ต่อทุนสูง-ยอดขายสูง-ต้นทุนต่ำ (www.matichon.co.th/politics.news_2972520) ก็เจอข่าวลือสะพัดว่าทางเอเวอร์แกรนด์เงินสดขาดมือ นำไปสู่ความตื่นกลัวเรื่องการขาดสภาพคล่องอยู่พักหนึ่ง และเอเวอร์แกรนด์ต้องเปิดแคมเปญหั่นราคาบ้านลงถึง 30% เพื่อกระตุ้นยอดขายหาเงินสดเข้ามือ

และตั้งแต่กลางปีนี้มา เอเวอร์แกรนด์ก็อาการทรุดหนัก สอบไม่ผ่านสองเส้นใน “สามเส้นแดง” ถูกเหล่าเจ้าหนี้และซัพพลายเออร์ตามเรียกหนี้และหยุดส่งของให้บ้าง แม้ว่าจะดิ้นรนขายสินทรัพย์ต่างๆ และกิจการในเครือของบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักทิ้ง พยายามปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนตัวผู้บริหาร ฯลฯ แต่ก็ร่อแร่ ทำท่าจะผิดนัดชำระหนี้แหล่มิรู้แหล่ (default) ทำให้ราคาหุ้นและหุ้นกู้ของบริษัทดิ่งลงเหว (https://www.businesstimes.com.sg/real-estate/fall-from-grace-evergrandes-debt-journey-since-chinas-three-red-lines-policy)

กล่าวโดยภาพรวม จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ Beike Research น.ส.พ. Financial Times ของอังกฤษสรุปว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ใหญ่ที่สุด 30 แห่งสอบผ่าน/สอบตกเกณฑ์ “สามเส้นแดง” ราวครึ่งต่อครึ่ง (https://www.ft.com/content/d5803d64-5cc5-46f0-bed0-1bc207440f9c) :

– 16 แห่งไม่ได้ล่วงล้ำเส้นแดงใดๆ เลย (สีเขียวในแผนภูมิทางขวามือ)

– 11 แห่งล่วงล้ำ 1 เส้นแดง (สีเหลืองในแผนภูมิทางซ้ายมือด้านบน)

– 2 แห่งซึ่งรวมทั้งเอเวอร์แกรนด์ด้วย ล่วงล้ำ 2 เส้นแดง (สีส้มในแผนภูมิทางซ้ายมือด้านล่าง)

– 1 แห่ง ได้แก่บริษัท Guangzhou R&F ล่วงล้ำทั้ง 3 เส้นแดง (สีแดงในแผนภูมิทางซ้ายสุดด้านล่าง)

จนเป็นที่วิตกกันในหมู่นักสังเกตการณ์เศรษฐกิจว่าผลสะเทือนจากนโยบาย “สามเส้นแดง” ของจีน อาจทำให้ยักษ์ใหญ่อสังหาฯ จีนต้องผิดนัดชำระหนี้และก่อวิกฤตในตลาดอสังหาฯ ของไทยซึ่งพึ่งพาใกล้ชิดกับเศรษฐกิจจีน, ตลาดอสังหาฯ เอเชียอาคเนย์และลุกลามเลยไปถึงลอนดอนได้ (www.channelnewsasia.com/commentary/evergrande-china-property-southeast-asia-suppliers-risk-2204906 & https://www.egi.co.uk/news/chinas-three-red-lines-could-cause-london-property-crisis/)

ทว่ารัฐบาลสีจิ้นผิงไม่เพียงออกมาตรการเศรษฐกิจการเงินที่กรณ์ จาติกวณิช เรียกว่า “เด็ดปีกทุน ใหญ่” ต่อเนื่องมาตลอดปีเท่านั้น

หากยังกำลังดำเนินมาตรการทางการเมืองและวัฒนธรรมแข็งกร้าวถี่กระชั้นขึ้นตามลำดับจนถูกตั้งข้อสังเกตว่า ฤๅลุงสีกำลังเลี้ยวซ้ายเป็นสังคมนิยมเข้มข้นราวกับจะทำ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” (เหมือนประธานเหมาเจ๋อตง) รอบใหม่นั่นเทียว?!?

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)