‘สำเร็จขญม’ – พร่องขาดหรือมากล้น/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘สำเร็จขญม’ – พร่องขาดหรือมากล้น

 

กระทั่งเมื่อเลือดท่วมนองพื้นหลังการเมืองกัมพูชาอย่างบ่อยครั้ง บทบาทสัม รังสี ก็ถูกจดจำและจองจำโดยง่าย ขณะที่ฝ่ายภรรยากลับหลุดลอยและถูกลืม

 

เธอไม่เคยมีภาพงานวันเกิด การจุมพิต ตัดเค้ก หรือปฏิสัมพันธ์ต่อผู้คน

จูล่ง สูมูรา ตั้งแต่ ค.ศ1998 ไม่มีตัวตนทั้งโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก หรืออื่นๆ อดีตวาณิชธนกิจหญิงคนดังฝรั่งเศสยุค ’80 ที่หันมาทำการเมืองไร้ตัวตนและมีชีวิตเหมือนสาบสูญ

ล้มเหลวกว่านั้น เพราะขณะที่สัม รังสี ถูกจดจำทุกๆ ด้าน แต่โลกกลับลืมภรรยาของเขา จูล่ง สูมูรา ทั้งในฐานะลูกสาวสมเด็จจักรีกัมพูชาและชีวิตส่วนตัวที่…พอเจาะลงตรงไหนก็ถูกบดบังไปหมด

จริงหรือที่สังคมกัมพูชาปิดกั้นผู้หญิงไม่ให้เกิดทางการเมือง ใครกันแน่ที่เป็นอุปสรรคของจูล่ง สูมูรา ระหว่างสามีโปรไฟล์ดีกับศัตรูตัวร้ายนายฮุน เซน หรือเป็นที่ตัวเธอเอง?

แต่ 20 ปีมานี้ ตั้งแต่ 1998 เรื่อยมา จูล่ง สูมูรา แทบไม่เคยออกสื่อ ขณะที่มู สกฮัว ซึ่งย้ายจากฟุนซินเปกมาพรรคสัมรังสีตั้งแต่ 2003 กลับเติบโตเป็นศูนย์กลางการระดมทุนฝั่งอเมริกา

ย้อนไปในการเลือกตั้ง 1998 สามทศวรรษก่อน ภาพจำน่าประทับใจของสูมูราบนสายอาชีพนี้ คือในฐานะผู้อำนวยการขับเคลื่อนการเลือกตั้งในนามพรรคสัมรังสี

สิ่งที่แปลกกว่าทุกๆ พรรค ณ ตอนนั้น นอกจากนโยบายเพื่อรากหญ้า คือแคมเปญหาเสียงของพรรคที่จัดให้มีผู้จัดการเป็นชาวอเมริกัน

เขาไม่ถึงกับช่วยวางยุทธศาสตร์ในการหาเสียง แต่เป็นเรื่องดูแลทางการเงินและการทำสื่อประชาสัมพันธ์แบบข้ามทวีป อีกบริหารการเงินในการหาเสียงเขตกันดารต่างจังหวัด

มันทำให้ฉันรำลึกว่า การแต่งตั้ง “ผู้จัดการ” หนุ่มจากแคลิฟอร์เนียที่ไม่รู้เรื่องการเมืองเขมรหนนั้น มาจากเงื่อนไขหรือแรงจูงใจใดกันจนถึงกับจ้างชาวต่างชาติมาบริหารการเลือกตั้ง

และสูมูราเป็นคนเดียวที่มีบทบาทสำคัญ

ฉันไม่คิดว่ามันคือเขมรแบบอเมริกันดรีม แต่พรรคสัมรังสีก็สร้างกระแสความตื่นตัวในหมู่ชาวพนมเปญ พวกเขาพากันไปฟังการปราศรัยที่โอลิมปิกสเตเดี้ยมและการหาเสียงที่เข้าถึงประชาชน แม้แต่จังหวัดทุรกันดารและชุมชนที่ห่างไกล

หลายปีต่อมา ฉันเอะใจว่า ทำไมพรรคสัมรังสีตอนนั้นจึงมองข้ามคนท้องถิ่นมาดูแลการเลือกตั้ง นี่ไม่ใช่การเฟ้นหาผู้คร่ำหวอดประสบการณ์แต่อย่างใด แต่มันคือตัวแทนผู้ดูแลการเงินต่างหาก และมันก็คุ้มค่าสำหรับการระดมทุนแบบเดียวกับเอ็นจีโอที่เป็นแหล่งทุนขนาดใหญ่ของกัมพูชาในปีนั้น

เพื่อแข่งขันกับฟุนซินเปกและซีพีพี-พรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งแม้ว่าจะมีที่นั่งในสภาเป็นลำดับ 3 แต่ความพิเศษของการเลือกตั้ง 1998 ครั้งนั้น ก็ทำให้พรรคหน้าใหม่-สัมรังสี สามารถสู้กับพรรคใหญ่ที่ลงขันเม็ดเงินจากเอกชน

และเล่าลือกันว่า จูล่ง สูมูรา เก็บตกเงินลงขันพรรคการเมืองหนนั้นไปอักโข จนทำให้แบรนด์ “สัมรังสี” มีคุณค่าทางการเมืองในแบบของตน และทุกๆ ครั้งที่การเลือกตั้งจะเริ่มต้น พลัน การระดมทุนแบบ “สำเร็จขญม” ก็ตามมาจาก 1998 และการทำพรรคต้นแบบที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง รวมทั้งผลตอบแทนทางการเงิน

ต้องไม่ลืมว่า ทั้งจูล่ง สูมูรา และสัม รังสี เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงิน ถ้าโชคชะตาไม่ดลบันดาลให้มาเล่นการเมืองแล้ว ว่าที่นักธนกิจวาณิชธนอนาคตไกลในอียูคงบันทึกชื่อเขาไว้

เพื่อชนะใจกรรมกรซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ พลอยทำให้ภาพลักษณ์การเมืองของสัม รังสี ไม่ต่างจากนัก “ต่อต้านนายทุน” ที่ชาวเขมรจดจำในพฤติกรรมไม่ประนีประนอมต่อระบบทุน ก่อนที่มันจะกลายเป็นจุดอ่อนของพรรคไปในที่สุด แต่สัม รังสี ก็กลับมาและ rebrand พรรคของตนได้

ต่างจากภาพลักษณ์ของภรรยาที่ถูกบดบังตลอดมา

 

แต่จูล่ง สูมูรา ไม่เคย rebranding หรือปรับภาพลักษณ์ตัวเองได้

ราวปี 1993-94 ในฐานะรองผู้ว่าแบงก์ชาติ เรื่องราวของเธอถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในฐานะนักบริหารหญิงผู้เก่งกาจแต่ต้องเสียสละการงานอันก้าวหน้าและแม้แต่ลูกน้อยวัย 5 ขวบเพื่อทำการเมืองและสร้างกัมพูชา

ผู้คนอาจร่ำลือถึงความดุดันกร้าวแกร่งของเธอ แต่ไม่มีใครเลยที่เข้าถึงจุมเตียวอย่างจริงจัง

ในการสัมภาษณ์ ไม่สิ การแถลงข่าวครั้งหนึ่งของพรรคสัมรังสีหลังทราบผลการเลือกตั้ง สูมูราเผชิญหน้ากับนักข่าวจำนวนมาก นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เราพบว่าจูล่ง สูมูรา แปลภาษาฝรั่งเศส-อังกฤษไปมารวดเร็วเสียกว่าคอมพิวเตอร์ประมวลผลในระบบสื่อสารของจุมเตียว

อย่าว่าแต่ชาวกัมพูชา แม้แต่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศก็ยังไม่สามารถจับความได้ มันทะลักทลายเหมือนสายน้ำที่เชี่ยวกรากอย่างรุนแรงและท่วมบ่า

จุมเตียวจูล่ง สูมูรา มีจุดอ่อนที่ต้องกำจัดด้านการสื่อสาร และนั่นหรือไม่ ที่ทำให้เธอไม่เคยเผชิญหน้ากับสาธารณชน จนถูกลืม?

 

หลายปีต่อมา เมื่อมองกลับไปมุมนั้น มีความเชื่อว่า จุมเตียวจูล่ง สูมูรา ที่ปราดเปรื่อง อดีตนักบริหารวาณิชธนกิจที่ประสบความสำเร็จแต่วัยต้น ผันตัวเล่นการเมือง แต่ในโลกอาชีพนี้ มันอาจไม่เหมาะงามต่อความพร่องขาดเฉพาะตนในกลุ่มสเปกตรัม…แห่งความพร่องขาดและมากล้น!

และนั่นหรือไม่ที่ทำให้จุมเตียวพึงพอใจในความ “เป็นอื่น” ซึ่งไร้ตัวตนในช่วงแห่ง “ความสำเร็จขญม” ที่เธอเคยเป็นต้นคิด แต่นั่นมันอาจจะเป็นตอนที่เธอยังไม่รู้ตนว่าเป็นโรค…พร่องขาดและมากล้น!

ถ้าใครสักคนจะมีตัวตนทางการเมืองแบบนี้ ฉันก็เห็นว่ามันช่างโหดร้ายเหลือทน ความจริงแล้ว จูล่ง สูมูรา ในวัย 70 ปีนี้ จะมีเส้นทาง-ทางการเมืองเช่นเดียวกับอดีตประธานพรรคฟุนซินเปก

วันหนึ่ง วันนั้น ใครจะนึกว่า คนที่เธอจัดงานฉลอง “สำเร็จขญม” เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งทรงล่วงลับไปแล้ว แต่ความทะเยอทะยานทางการเมืองของนโรดม สีหนุ ที่ผลาญเวลาไป 2 ทศวรรษ ตั้งแต่ ’70-’90 (1970-1991) และ 10 ปีต่อมาที่ล้มเหลว

ไม่ต่างจาก “สำเร็จขญม” ของสูมูราและสามีในนามชาติเขมร, สัมรังสี, สงเคราะห์ชาติใน 3 พรรคต่อมา และอาจ “รีแบรนด์” ชื่อใหม่ หากการเลือกตั้งครั้งหน้า-2023

หากสัม รังสี-สูมูราและคณะ จะกลับกัมพูชาได้สำเร็จ

ถึงวันนี้ 30 ปีแล้ว หลังฉลองความ “สำเร็จขญม” หนนั้น เดิมพันชีวิตเปล่าเปลืองของจุมเตียวจูล่ง สูมูรา ผู้ขาดความทะเยอทะยานทางการเมือง แต่ตราบใดที่ความ “สำเร็จขญม” โดยคณะของตนยังไม่ถึงฝั่งฝัน ตราบนั้น เธอยังผลาญมันต่อไปในเวลาที่มีสัม รังสี เป็นตัวแทน และการต่อสู้นี้ยังไม่มีวันสิ้นสุด

นับเป็นการต่อสู้ที่ผ่านโดยตัวแทน แม้ส่วนตัวแล้ว จูล่ง สูมูรา จะไม่ปรารถนาการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในภาพลักษณ์ของเธอเอง

 

โลกใบนี้ช่างซับซ้อน แม้แต่คนที่มั่นคงในตัวตนก็ยังถูกกลืนกิน!

มันทำให้ ฉันย้อนบ่ายวันหนึ่งของเดือนกรกฎาคมปี 1998 ขณะกำลังยืนฟังปราศรัยการหาเสียงของพรรคสัมรังสีที่หน้ารัฐสภาเก่า ภาพสตรีวัยกลางคน จูล่ง สูมูราเธอยืนกอดอกอยู่ด้านล่างของเวที ภาพที่หลายฝ่ายคุ้นตา

หลายปีผ่านไป สูตรการเมืองแบบจูล่ง สูมูรา ในปรากฏการณ์ “สำเร็จขญม” ซึ่งหากผ่าน 2023 ไปได้ นี่คือปัจเจกและตัวตน

ในภารกิจ ‘สำเร็จขญม’ ที่พร่องขาดและมากล้น