สุจิตต์ วงษ์เทศ : น้ำท่วม น้ำแล้ง ลมมรสุมหนุนการค้าทางทะเล

 

น้ำท่วม น้ำแล้ง

ลมมรสุมหนุนการค้าทางทะเล

 

น้ำท่วมกับน้ำแล้งมีคู่กันในเขตมรสุม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของอุษาคเนย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านปีมาแล้ว? ตั้งแต่มนุษย์นับถือศาสนาผี ในโลกยังไม่มีศาสนาพราหมณ์-พุทธ ตราบจนปัจจุบันนับถือศาสนาไทยเลื่อมใสผี-พราหมณ์-พุทธ แต่ยังแก้ไม่ได้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

มรสุม หมายถึง ลมพายุที่มาเป็นฤดูกาล (1.) พัดพาฝนตกประจำตามฤดูกาลเพื่อการทำนาทำไร่ แต่บางแห่งมีน้ำท่วม และ (2.) เป็นลมสม่ำเสมอตามฤดูกาล เป็นประโยชน์การคมนาคมทางทะเลสมุทร ทำให้มีการค้านานาชาติ แล้วมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผลักดันให้ชุมชนเติบโตเป็นบ้านเป็นเมืองเป็นรัฐเป็นอาณาจักร

หลวงพ่อโต (วัดระฆังฯ กรุงเทพฯ) สร้างพระนอนวัดสะตือ ริมแม่น้ำป่าสัก อยุธยา ท่วมวัด – ภาพมุมสูงกระแสน้ำจากแม่น้ำป่าสักล้นตลิ่งเข้าท่วมวัดสะตือพุทธไสยาสน์ หรือวัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงถึงครึ่งเมตรและเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม (ภาพและคำบรรยายจาก ข่าวสด ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2564 หน้า 1) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ถือกำเนิด พ.ศ.2331 ในแผ่นดิน ร.1 ที่บ้านวัดไก่จ้น ริมแม่น้ำป่าสัก ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา (ฝั่งตรงข้ามวัดสะตือ) สมเด็จพุฒาจารย์โตสร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ฝั่งตรงข้ามบ้านเกิด ปัจจุบันคือวัดสะตือ ริมแม่น้ำป่าสัก ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา วัดสะตือเป็นวัดเก่ามีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พบหลักฐานหลายอย่าง ได้แก่ พระพุทธรูปในวิหารเก่า และอื่นๆ

 

น้ำท่วมสมัยก่อน

คนโบราณสมัยอ่อนแอทางเทคโนโลยีเมื่อมีน้ำท่วมต้องทำพิธีขอขมาแล้ววิงวอนร้องขอให้น้ำลดด้วยการเห่กล่อมสายน้ำไหลลง “สะดือดิน” คืนสู่บาดาล

สมัยอยุธยาเชื่อว่า “สะดือดิน” อยู่บริเวณ “บางขดาน” (ปัจจุบันเรียกบางปะอิน) พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จทางชลมารคล่องไปทำพิธีเมื่อมีน้ำมากหลากท่วม

ชาวจ้วงมณฑลกวางสีในเขตโซเมียทางตอนใต้ของจีนเชื่อว่ากลองทอง (มโหระทึก) มีอำนาจเหนือธรรมชาติ กล่าวคือถ้ามีน้ำท่วมใหญ่ให้ยกกลองทองโยนลงในน้ำท่วมใหญ่นั้น บรรดาผีน้ำกลัวอำนาจกลองทอง จากนั้นน้ำจะค่อยๆ ลดลงเอง

ชาวจ้วงเชื่อว่าเสียงกลองทองทำให้ฝนตกก็ได้ ทั้งนี้เพราะลายเมฆ ลายฟ้าแลบ และรูปกบบนหน้ากลองทองคือสัญลักษณ์ของน้ำหรือฝน ฉะนั้นการตีกลองทองให้เกิดเสียงกังวาน คือการขอฝน หรือบังคับให้ฝนตก

ขอฝนด้วยการบูชากบเป็นเทศกาลของชาวจ้วง จะมีชายหนุ่มผลัดกันตีกลองทองตลอดทางที่ชาวบ้านออกไปหากบตามท้องนาเพื่อจับมาทำพิธี โดยใส่กระบอกไม้ไผ่ แล้วนำไปฝังที่ภูเขาเพื่อเสี่ยงทายว่าข้าวปลาอาหารจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่ พิธีเสี่ยงทายก็ดูจากซากกบที่ฝังเมื่อปีก่อน ถ้ากระดูกกบแห้งผุพังหมดก็แล้วไป แต่ถ้ามีสีทองก็หมายความว่าข้าวปลาอาหารจะอุดมสมบูรณ์ ถ้าเป็นสีขาวหมายถึงการปลูกฝ้ายจะดี ถ้าเป็นสีดำจะเป็นลางไม่ดี แสดงว่าจะเกิดน้ำท่วมซึ่งต้องทำให้น้ำลดด้วยกลองทอง แต่ถ้าฝนแล้งก็ทำพิธีขอฝนโดยแต่งหมาตัวผู้ไปแห่แหนแล้วตีกลองทองไปด้วย

ขงเบ้งใช้อุบายต่างๆ เมื่อคราวปราบปรามเบ้งเฮ็ก เช่น เอากลองทองไปตีที่ปากถ้ำเพื่อให้เสียงดังกึกก้อง ทั้งยังเอาไปตั้งไว้รับธารกระแสน้ำตกตามหุบเขาให้น้ำตกลงมาบนหน้ากลองทอง ทำให้เกิดเสียงอึกทึกเหมือนฝนตกเป็นการข่มขวัญข้าศึก

ชาวจ้าวตีกลองทองในพิธีกรรมเกี่ยวกับการขอความอุดมสมบูรณ์ (ภาพเมื่อ พ.ศ.2537) กลองทอง หมายถึงกลองทำจากทองแดง หรือทองสำริด ส่วนชื่อ “มโหระทึก” (น่าจะมาจากคำว่า มหา รวมกับ อึกทึก แล้วกลายคำเป็นมโหระทึก) มีในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา หมายถึงกลองขึงหนังของพราหมณ์อินเดีย ใช้ตีประโคมในพิธีพราหมณ์ แต่นักโบราณคดีไทยเข้าใจไขว้เขวว่าเป็นอย่างเดียวกับกลองพื้นเมือง จึงเรียกกลองทองว่า “มโหระทึก”

 

ไทยอยู่กึ่งกลางอุษาคเนย์

ประเทศไทย นอกจากจะตั้งอยู่กึ่งกลาง (โดยประมาณ) ของภูมิภาคอุษาคเนย์แล้ว ลักษณะภูมิศาสตร์ยังเกื้อกูลให้เกิดผลดี เพราะมีพื้นที่เป็นแผ่นดินทอดยาวยื่นลงไปทางทิศใต้เป็นคาบสมุทร มีทะเลขนาบ 2 ด้าน คือ ทะเลจีนกับทะเลอันดามัน

ทะเลจีน ในมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่ทางตะวันออก ทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดีย อยู่ทางตะวันตก

ทำให้รับประโยชน์จากลมมรสุมทะเลอย่างน้อย 2 ประการ คือ เกษตรกรรมและการค้าทางทะเลสมุทร

การกสิกรรม ลมมรสุมจากทะเล 2 ด้าน ทำให้มีฝนตกชุก ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารและการประมงในทะเลอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ

การค้า ลมมรสุมจากทะเล 2 ด้าน ทำให้มีการเดินเรือทะเลค้าขายกับบ้านเมืองที่อยู่ห่างไกล

บริเวณประเทศไทย ราว 2,000 ปีมาแล้ว เป็นจุดหมายปลายทางของเส้นทางคมนาคมค้าขายทางทะเลสมุทร เท่ากับเป็นตัวเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างโลกตะวันออก ได้แก่ จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น ฯลฯ โลกตะวันตก ได้แก่ อินเดีย, อาหรับ, เปอร์เซีย, ยุโรป ฯลฯ จึงส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติในสมัยต่อมา