เปิดเอกสารลับสุดยอด! เบื้องหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในหอจดหมายเหตุอังกฤษ พุ่งปลายหอก ดร.ป๋วย

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2548 นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1313 ปีที่ 25 (วางแผงเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ) ได้นำเสนอ รายงานพิเศษ “ข้อมูลใหม่” เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในหอจดหมายเหตุอังกฤษ โดย “โธไรยสยามรัฐ” แปลและเรียบเรียง ไว้น่าสนใจ ดังนี้
ทุกๆ ปีหอจดหมายเหตุแห่งชาติของอังกฤษจะเปิดเผยเอกสารราชการที่เคยตีตราลับที่มีอายุครบสามสิบปีให้ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาวิจัยค้นคว้าหาความรู้ความเข้าใจเบื้องหลังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น

เอกสารเหล่านี้มีทั้งเรื่องของเหตุการณ์การเมืองในอังกฤษเอง กับเรื่องเหตุการณ์ในต่างประเทศที่อังกฤษเข้าไปพัวพันอยู่ด้วยทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรือทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายงานโต้ตอบระหว่างสถานทูตอังกฤษประจำประเทศนั้นๆ ถึงรัฐบาลกลาง ณ กรุงลอนดอน เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในขณะนั้น

แน่นอนย่อมมีเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในไทยด้วย ไม่ว่าจะเริ่มตั้งแต่ยุคสมบูรญาณาสิทธิราชย์ จนย่างเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย หรือจนแม้ปัจจุบัน เพราะไทยคือตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในเอเชียตะวันออกไกลที่อังกฤษจะละเลยมิได้

นักวิชาการ นักค้นคว้า หรือผู้สนใจจากไทยจำนวนมากได้ใช้เอกสารเหล่านี้ในการต่อยอด หรือไขปริศนาประวัติศาสตร์ หรือชำระความจริงให้ชัดขึ้น ในงานเขียน งานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ของพวกท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมัย เซอร์จอห์น เบาริ่ง จนถึงการเจรจาในคราวสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

“ข้อมูลใหม่” เหล่านี้ บางครั้งเปลี่ยนโฉมหน้าการรับรู้ประวัติศาสตร์ ถึงขั้นเป็นการ “จับโกหก” นักการเมือง นักการทูต ที่มักยกตัวเองเป็นพระเอกในเหตุการณ์ระดับโลก

บางครั้งก็เป็นข้อมูลที่ “ประจาน” อังกฤษเองถึงการดำเนินนโยบายบางเรื่องที่ทำให้คนอื่น ประเทศอื่น เดือดร้อน หรือถึงขั้นแทรกแซงกิจการภายในของคนอื่นเพื่อรักษาผลประโยชนัวเองอย่างไม่ละอาย

ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองของไทย และสนใจเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 มากเป็นพิเศษ เพราะตัวเองกำลังรู้ความคืออายุ 7 ขวบ จึงจำเหตุการณ์ได้เงาๆ ยังจำได้ว่าตื่นเต้นมากกับภาพการชุมนุมของคนนับแสนที่ถนนราชดำเนิน

เมื่อโตขึ้น และรู้เรื่องหอจดหมายเหตุอังกฤษก็หวังว่าถ้ามีโอกาสสักวันหนึ่ง เมื่อเหตุการณ์ “14 ตุลา” ครบรอบสามสิบปี ตัวเองจะต้องไปหาโอกาสอ่านเอกสารเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นที่หอจดหมายเหตุอังกฤษเพื่อดูว่าจะมี “ข้อมูลใหม่” อะไรที่น่าสนใจบ้างหรือไม่

ในที่สุด เมื่อปีที่เหตุการณ์ 14 ตุลา ครบรอบ 22 ปี ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านเอกสาร “ลับ” ที่เป็นการโต้ตอบกันระหว่างสถานทูตอังกฤษในไทย กับรัฐบาลอังกฤษยุคนั้น

“ข้อมูลใหม่” ที่ได้พบทำให้ผู้เขียนนิ่งตะลึงและต้องอ่านอย่างใจจดใจจ่อ พร้อมกับบอกตัวเองว่าจะต้องนำเรื่องเหล่านี้มาถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมชาติไทยได้รับรู้ด้วย

คงไม่มีใคร (นอกจากผู้เกี่ยวข้อง) จะรู้มาก่อนว่า พันเอกณรงค์ กิตติขจร ขอลี้ภัยในอังกฤษเป็นที่แรกหลังจากออกนอกประเทศไปอยู่ไต้หวัน นอกจากนั้น เราจะได้ทราบเรื่องที่นักวิชาการไทยที่เป็นสายฝ่ายขวาจัดคนหนึ่งแทง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อย่างไม่ยั้งให้ฝรั่งฟังว่าท่านอยู่เบื้องหลังการจัดการเดินขบวน

เอกสารที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นการแปลจากต้นฉบับ ไม่มีการตัดต่ออย่างใดทั้งสิ้น ที่อ่อนด้อยน่าจะเป็นเรื่องภาษา ท่านผู้สนใจสามารถไปอ่านต้นฉบับได้ที่หอจดหมายเหตุอังกฤษ ข้างสวนคิวได้ทุกเวลา โดยหาในคำว่า Thailand และเลือกปี 1973

เมื่ออ่านแล้วท่านจะคิดยังไง ย่อมเป็นวิจารณญาณของท่านเอง ผมเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเท่านั้น

ลับ

สถานการณ์การเมืองภายในของไทย

1.เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้สนทนากับ ดร.กระจ่าง พันธุมนาวิน อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาเรื่องชาวเขาประจำ กอ.รมน. ดร.กระจ่างติดต่อใกล้ชิดกับศูนย์นิคมสร้างตนเองของชาวเขาทุกแห่ง เช่น ที่จังหวัดน่าน จังหวัดเพชรบูรณ์ และที่อื่นๆ (ซีโต้มีผลประโยชน์ในศูนย์เหล่านี้) และยังเป็นเพื่อนสนิทของพันเอกสุตสาย ผู้ที่ช่วยบริหารศูนย์เหล่านี้ งานของ ดร.กระจ่างยังทำให้เขาได้พบปะกับผู้แปรพักตร์จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งเขาได้ใช้ฐานะตรงนี้ปฏิบัติการลับด้านการสอบสวนให้ กอ.รมน. งานสองด้านของ ดร.กระจ่างทำให้เขาดูจะมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเรื่องความคิดเห็นและกิจการของทั้งด้านนักวิชาการและนักศึกษากับด้านรัฐบาล

ต่อไปนี้คือบทสรุปความเห็นของ ดร.กระจ่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไป

2.ข้อมูลของ ดร.กระจ่างเรื่องการประท้วงต้นตอของ “สิบสามกบฏรัฐธรรมนูญ” ที่นำไปสู่การจลาจลนั้นน่าสนใจ เขามีความเห็นว่ามีพลังอย่างน้อยสามกระแสที่เข้าไปปลุกปั่นตะกอนของความไม่ชอบใจรัฐบาลทหารในหมู่ปัญญาชน ข้อแรก ดร.กระจ่างเชื่อว่าหนึ่งหรือสองคนใน “13 กบฏ” รับอิทธิพลจากคอมมิวนิสต์ที่วางแผนให้เกิดความวุ่นวาย ข้อสอง เขามองย้อนหลังแล้วเห็นว่า ดร.ป๋วย มีส่วนเกี่ยวพันกับ 13 กบฏทางใดทางหนึ่ง (แม้ว่าความเกี่ยวพันนี้จะไม่ชัดมากเหมือนกับการเข้าไปช่วยเรื่องการจัดการประท้วงภายหลัง) ข้อสาม และถือว่าเป็นปัจจัยตัดสิน คือ “นายพลทหารบกไทยคนหนึ่ง” ใช้ 13 กบฏ เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง

3. กระจ่างบอกว่าไขแสง (ซึ่งอยู่ในกลุ่มประท้วงกลุ่มแรกแต่ไม่ถูกจับจนวันรุ่งขึ้น) พยายามจะจูงตำรวจให้จับพวกนักประท้วง ว่ากันว่าเขาพูดจารุนแรงกับนายตำรวจที่เตือน 13 กบฏว่ากำลังละเมิดกฎหมาย ซึ่งทำให้ตำรวจเกิดโมโหและขยายความผิดของ 13 กบฏเสียใหญ่โตเพื่อจะทำให้มั่นใจว่า จอมพลประภาส อนุมัติให้จับกุม 13 กบฏได้ เมื่อเกิดชุลมุนกันขึ้น ไขแสงกับนักศึกษาอีกคนหนีไปได้แต่ก็ถูกจับได้ในวันต่อมา กระจ่างเชื่อว่าไขแสงรับคำสั่งจากคอมมิวนิสต์

4. กระจ่างกับพันเอกสุตสาย มีข้อสรุปร่วมกันจากข้อมูลที่พวกเขามี จากการที่ทั้งคู่เข้าถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. (ซึ่งกระจ่างบอกว่ามีสายของหน่วยปราบคอมมิวนิสต์อยู่ในนั้น) พวกเขาจึงรู้ว่า ตั้งแต่ปี 2515 คอมมิวนิสต์แทรกซึมขบวนการนักศึกษาเรื่อยๆ และได้ผลดี ทั้งคู่เชื่อว่าคอมมิวนิสต์กลุ่มนี้เคลื่อนไหวเพื่อก่อกระแสอารมณ์ของนักศึกษาให้พุ่งสูงในจังหวะสำคัญโดยทำแบบจำกัดวงแต่ยังทิ้งร่องรอยให้รู้ และเห็นได้ชัดในช่วงจลาจล อย่างไรก็ตาม คอมมิวนิสต์เหล่านี้ยังไม่แสดงขุมกำลังที่แท้จริงออกมา และไม่ได้ติดอาวุธอีกด้วย

5. หน่วยปราบคอมมิวนิสต์ มีข้อมูลของคอมมิวนิสต์อื่นๆ ในขบวนการนักศึกษากับอาจารย์มหาวิทยาลัย คนเหล่านี้น่าจะรู้ว่าทางการหมายหัวไว้แล้ว ดังนั้น 1 สัปดาห์ก่อนการประท้วงจะเริ่ม (และก่อนการจับ “13 กบฏ”) คอมมิวนิสต์ที่ทางการจับตาส่วนใหญ่หลบลงใต้ดินและไม่เข้าร่วมประท้วง คนกลุ่มนี้ยัง “อยู่บ้าน” จนตอนนี้

6. กระจ่างกับสุตสายเชื่อแน่ว่า ดร.ป๋วยเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการจัดการเดินขบวนประท้วงที่เป็นชนวนนำไปสู่จุดจบของรัฐบาล สิ่งที่พวกเขาใช้ยืนยันคือการสนทนาระหว่าง นายปราโมช นาครทรรพ อาจารย์ธรรมศาสตร์ (ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ) กับมิตรของกระจ่างผู้เป็น “ผู้ใหญ่และรับผิดชอบบ้านเมือง” ท่านผู้นี้ถามปราโมชว่าได้ช่วยจัดการเดินขบวนประท้วงให้มีประสิทธิภาพอย่างไร เห็นได้จากการวางระบบแพทย์พยาบาลกับการสื่อสารที่ดีมาก ซึ่งตามคำเล่าต่อสู่กระจ่าง ปราโมชบอกว่าเขาได้รับคำสั่งอย่างละเอียดจาก ดร.ป๋วย (กระจ่างชี้ว่า ดร.ป๋วยมีประสบการณ์งานใต้ดินอย่างช่ำชองในช่วงเป็นเสรีไทยตอนสงครามโลกครั้งที่สอง)

7. ในที่สุด กระจ่างกับสุตสายเชื่อว่า “นายพลทหารบก” ผู้ลึกลับที่เกี่ยวกับการออกมาประท้วงของ 13 กบฏ ก็มีส่วนในการประท้วงใหญ่ด้วย สำหรับตอนนี้ยังไม่มีทางที่จะรู้ว่าเขาทำงานยังไงและกระจ่างก็ไม่แม้แต่จะยอมเดาชื่อนายทหารผู้นี้ แต่เขาเชื่อว่านายทหารผู้นี้มีตัวตนจริง และที่สำคัญกว่าคือจอมพลประภาสเชื่อมั่นเหมือนกันว่ามีนายพลทหารบกเกี่ยวพันกับการประท้วงด้วย (ข้อมูลจากเพื่อนของกระจ่างที่ใกล้ชิดกับจอมพลประภาสตลอดเหตุวุ่นวาย) ว่ากันว่า หลังจากการจับ 13 กบฏ จอมพลประภาสพูดกับคนสนิทคนหนึ่งว่า “อั๊วจะบีบพวกมันจนยอมคายชื่อนายพลคนนั้นออกมา”

(เห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์ที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วทำให้ 13 กบฏรอดจากวิธีสอบสวนที่ไม่น่าจะนุ่มนวลนักของท่านจอมพลไปได้)

เหตุการณ์ 14 กับ 15 ตุลาคม

8.ระหว่างการประท้วงกระจ่างกับสุตสายใช้เวลามากทีเดียวเฝ้าฟังวิทยุสื่อสารตำรวจ เพราะสุตสายเข้าเครือข่ายนี้ได้ กระจ่างยืนยันกับผมว่าตอนหนึ่งตัวเขาเองได้ยินข้อความส่งจากตำรวจนอกเครื่องแบบคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่กองบัญชาการ ตำรวจนายนี้แสดงตัวด้วยรหัสของจริงและบอกว่าในตอนนั้นมีนักศึกษาติดอาวุธพร้อมจำนวน 2,000 คนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาวุธที่ว่ามี ปืนพก ปืนบาซูก้า ระเบิดมือ และปืนต่อต้านรถถัง อย่างที่เรารู้แล้วคือรายงานนี้ผิด จริงๆ แล้วสื่อมวลชนที่ธรรมศาสตร์รายงานว่าช่วงนั้นมีนักศึกษาแทบไม่กี่คน

กระจ่างตั้งคำถามว่าทำไมตำรวจจึงรายงานเรื่องนี้ และใครคือคนรายงาน ถ้ารัฐบาลจงใจจะปล่อยข้อมูลลวงก็ไม่น่าจะถึงขั้นสร้างข้อมูลเท็จผ่านเครือข่ายลับสุดยอดของตำรวจ แต่ถ้ารายงานนี้เกิดจากฝีมือนักสร้างสถานการณ์ แล้วทำไมคนคนนี้ถึงเข้าถึงเครือข่ายของตำรวจได้ ยิ่งกว่านั้นยังเข้าถึงรหัสเรียกขานอีกด้วย ? เรื่องนี้จะมองได้ไหมว่าเป็นแค่ความผิดพลาดในส่วนของตำรวจที่ไปหลบในที่ปลอดภัยแล้วรายงานข่าวลือ หรือจะเป็นความตั้งใจที่จะทำให้ตำรวจตอบโต้จนเกินขอบเขต ?

9. เกี่ยวกับเรื่องอาวุธในกรุงเทพฯ กระจ่างบอกว่าเนื่องจากงานของสุตสายทำให้เขาสามารถ “ขนปืนแถบภาคเหนือ” เป็นบางครั้ง ผลจากการรู้จักคนในงานนี้ กระจ่างกับสุตสายทราบมาว่ามีการลักลอบนำอาวุธจำนวนหนึ่งที่มีปืนคาร์ไบน์เป็นหลัก (เอ็ม 1, เอ็ม 2 ฯลฯ) เข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปี

อย่างไรก็ตาม แทบจะไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีการนำปืนพวกนี้ออกมาใช้ในช่วงวุ่นวายเมื่อเร็วนี้ ตรงนี้แปลความได้ว่าอาวุธเหล่านี้ยังอยู่ในกรุงเทพฯ และจะเพิ่มขึ้นๆ

การดำเนินการของผู้นำทหาร

10.กระจ่างเผยเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของ พลตรีสายหยุด เกิดผล (ยศขณะนั้น) ระหว่างการประท้วง ตั้งแต่ช่วงแรก พลตรีสายหยุดขอให้จอมพลประภาสเห็นว่าการประนีประนอมนั้นจำเป็นยิ่งและทหารอาจต้องยอมแพ้ศึกนี้เพื่อชนะสงคราม เห็นได้ชัดว่าพลตรีสายหยุดอาสาจะไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยตัวเองเพื่อเจรจากับนักศึกษาเพื่อจะถอดชนวนเหตุการณ์ก่อนจะบานปลาย อย่างไรก็ตาม จอมพลประภาส (แน่ละที่คงจะจำได้ถึงการหาประโยชน์จากงานคล้ายกันนี้เมื่อปี 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ผู้ปั้นเขามา) ตัดสินใจว่าไม่อยากได้อัศวินม้าขาวเข้าทำการแทนตัวเอง หลังจากนั้น พลตรีสายหยุดก็ถูกปล่อยเกาะและไม่ได้เข้าร่วมในเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ตามมาอีก

เหตุนี้บวกกับการเมินเฉยต่อพลตรีสายหยุดน่าจะเป็นต้นตอของการที่นักศึกษาขอให้เขาเป็นตัวเชื่อมทางการกับรัฐบาล นักศึกษาพูดว่าพลตรีสายหยุดเป็นนายทหารคนเดียวที่พวกเขาไว้ใจ แต่กระจ่างสงสัยว่าจุดยืนข้างนักศึกษาของพลตรีสายหยุดจะช่วยอนาคตของเขาได้แน่หรือ สำหรับตอนนี้ สายหยุดยังไม่ใช่หนึ่งในนายทหารผู้ใหญ่ที่กำอำนาจแท้จริงของประเทศ

11. สำหรับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การออกนอกประเทศของสามผู้อื้อฉาว กระจ่างสงสัยมากกับข่าว (ที่รายงานในบางกอกโพสต์) ว่า จอมพลถนอมกับจอมพลประภาสประชุมผู้นำเหล่าทัพแล้วให้ทุกคนบอกว่าจะภักดีกับพวกเขานั้นจะเป็นเรื่องจริง จากข้อมูลที่เขามีกระจ่างรู้สึกว่าไม่มีตอนไหนที่กองทัพเรือกับกองทัพอากาศ จะถูกสงสัยเรื่องความภักดี (แต่ความสงสัยอาจมีได้เหมือนกัน) ที่เกือบแน่ๆ คือ ฝ่ายตำรวจนั้นไม่ต้องสงสัยเลย (แต่ก็มีหลักฐานถึงความไม่พอใจในกองทัพเหล่านี้เหมือนกัน เช่น ตอนหนึ่งเหมือนว่านายทหารอากาศคนหนึ่งต้องถูกใช้กำลังยับยั้งไม่ให้ขับเครื่องบินชนรถถังที่จอดตรงอาคารกรมประชาสัมพันธ์) แต่เรื่องสำคัญคือ ผู้นำทหารบกกลุ่มหนึ่งลังเลอย่างมากที่จะส่งทหารเข้าไปเพิ่มในการต่อสู้ และพระเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการที่จะแก้ปัญหาโดยไม่ใช้กำลังทหาร

เมื่อนำเหตุการณ์เหล่านี้มาบวกกันมันก็ค่อยชัดขึ้นช้าๆ กับจอมพลถนอมกับจอมพลประภาสว่าเวลาของพวกเขาอาจจะกำลังใกล้หมดแล้ว อย่างไรก็ตาม มันต้องรอจนเมื่อ พลเอกกฤษณ์ (สีวะรา) เปลี่ยนข้าง (ตามข้อมูลของกระจ่างเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่ออะไรผ่านไปมากพอควร) สองจอมพลจึงตกลงใจว่าจะออกนอกประเทศ กระจ่างยังรู้สึกว่าสองจอมพลได้คำยินยอมในหลายเรื่องจากผู้นำทหารที่อยู่เบื้องหลังในเรื่องที่พวกเขาจะอยู่อย่างไม่เดือดร้อนในต่างประเทศก่อนจะออกจากประเทศ

และถือเป็นเงื่อนไขที่พวกเขายอมออกนอกประเทศ

การดำเนินงานของนักศึกษา

12.ในการคุยกันถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเริ่มนองเลือด กระจ่างยืนยันว่าเสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) เป็นผู้นำที่เสนอไม่ให้ประนีประนอมกับรัฐบาล เสกสรรค์เป็นนักศึกษาที่ฉลาดมาก เรื่องนี้ทำให้อธิบายไม่ได้ว่าทำไมเขาถึงเรียนไม่จบจากธรรมศาสตร์ตลอดหกปีที่ผ่านมา เราคงเรียกเขาได้ว่าเป็นนักศึกษาอาชีพ และกระจ่างเชื่อว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์

ในคืนวันที่ 13 ตุลาคม เสกสรรค์เป็นผู้นำนักเรียนอาชีวะกับช่างกล (ซึ่งสังคมเห็นว่าเป็นพวกนักเลงในคราบนักศึกษา) พร้อมป้อนเหล้าพวกเขาอย่างเต็มที่ นักเรียนกลุ่มนี้ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นต้นตอการต่อสู้ที่เริ่มนอกพระราชวังจิตรลดาตอนเช้าวันที่ 14 ตุลาคม ในอนาคตทุกคนจะจำว่านักศึกษาบอกว่าตำรวจเริ่มยิงปืนกับแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มนักเรียนช่างกลหน้าพระราชวัง กระจ่างอ้างว่านักศึกษาที่เห็นเหตุการณ์บอกเขาว่าการสู้กันเริ่มจากนักเรียนช่างกลและตำรวจยิงป้องกันตัว

ซึ่งเปลวไฟจุดนี้แหละที่ลามไปทั่วทุ่ง

รัฐบาลใหม่

13.กระจ่างกับเพื่อนเป็นห่วงมากที่สุดที่รัฐบาลใหม่ดูจะไม่ทำอะไรเลย พวกเขารู้สึกว่าการไร้ความเด็ดขาดของรัฐบาลใหม่เปิดช่องให้พวกนักศึกษา ในส่วนสมาชิกรัฐบาลนี้กระจ่างรู้สึกว่าคนเดียวที่ทำอะไรได้เด็ดขาดคือ นายบุญมา วงษ์สวรรค์ รัฐมนตรีคลัง

ซึ่งปลดนายทหารสองสามคนออกจากกรรมการองค์การยาสูบไปเมื่อเร็วๆ นี้

อนาคต
14.กระจ่างรู้สึกว่าด้านที่อันตรายที่สุดของสถานการณ์ปัจจุบันคือ การเติบโตขององค์กรคู่ขนานกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในหมู่นักเรียนอาชีวะและช่างกล และยังลงไปถึงระดับมัธยมแล้วด้วย เขาเชื่อว่าองค์กรแบบนี้จะถูกนำโดยคนอย่างเสกสรรที่รู้กันว่าโยงกับคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันคนถือว่านิสิตนักศึกษาเป็นวีรชนของชาติและจึงทำอะไรไม่ผิด สำหรับคอมมิวนิสต์ที่โฆษณาชวนเชื่อกันมา กลับปรากฏว่าทำตรงข้ามตอนประท้วงใหญ่ด้วยการรักษากำลังและทำตัวเงียบมาก แต่อาจจะหวังฉวยโอกาสใช้ความไม่แน่นอนในบ้านเมืองให้เป็นประโยชน์สูงสุด

ตรงนี้ทำให้กระจ่างกังวลมากที่สุด เขารู้สึกว่ารัฐบาล หรือหน่วยปราบคอมมิวนิสต์ “หรือองค์กรไทยที่เหมาะสมสักแห่ง” ควรหาทางจัดการถ่ายเทกิจกรรมของนักศึกษาไปในทางที่สร้างสรรค์กว่านี้ ยิ่งรัฐบาลจะพบว่ามันยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะแบ่งเงินให้กับการต่อสู้คอมมิวนิสต์ (เพราะความเห็นของสังคม ดูข้างล่าง) กระจ่างตั้งข้อสังเกตว่าไม่ว่าจะเป็นหน่วยปราบคอมมิวนิสต์หรือใครที่ทำภารกิจนี้อาจต้องหางบลับจากต่างประเทศ

15. เมื่อจอมพลถนอมกับจอมพลประภาสลี้ภัยไปแล้ว ทำให้คนไทยเปลี่ยนความคิดเรื่องภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ต่อประเทศไทยไปมาก เพื่อนร่วมงานของกระจ่างบางคนที่มหาวิทยาลัยและนักศึกษาเกือบทั้งหมดไม่เชื่ออีกแล้วว่าประเทศไทยไม่ตกอยู่ใต้ภัยก่อการร้ายจากคอมมิวนิสต์ คนเหล่านั้นออกไปทางไม่เชื่อเอาเลยเพราะคิดว่าเป็นการพูดเกินจริงอีกเรื่อง (เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ) ของรัฐบาลเก่าเพื่อเบนความสนใจจากการบริหารชาติผิดพลาด ผลต่อมาคืองานของหน่วยปราบคอมมิวนิสต์จะยากขึ้นอีก ซึ่งอาจถึงขั้นอยู่ไม่ได้ ตอนรัฐบาลเก่าหน่วยปราบคอมมิวนิสต์ก็ทำงานยากอยู่แล้ว เวลาของบประมาณแข่งกับหน่วยทหารที่มีอิทธิพลมากกว่า สำหรับรัฐบาลใหม่จะยากเป็นสองเท่า

16. ท้ายสุด บางทีประเด็นสำคัญที่สุดของกระจ่างคือ ปัญหายังไม่จบง่ายๆ ความไม่เฉียบขาดของรัฐบาลใหม่, การขาดการเฝ้าระวังความเห็นที่มีอิทธิพล, ความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ (พร้อมกับคลังอาวุธ), การที่กิจกรรมนักศึกษาครอบงำสังคม และการที่อำนาจแท้จริงยังอยู่ในมือทหาร เหล่านี้อาจนำไปสู่การปะทะที่จะนองเลือดรุนแรงกว่าที่เราได้เห็นมาแล้ว บางทีน่าจะก่อนสิ้นปีนี้ เขาคิดว่าเรื่องต่อไปที่นักศึกษาจะฉวยมาขยายผล ซึ่งจะทำให้เกิดการปะทะกันที่เขาคาดไว้ คือ การที่สหรัฐยังมีฐานทัพในไทย

ความเห็น

17.ช่วงรัฐบาลเก่า กระจ่างจะพูดจาโผงผางตำหนิถนอม/ประภาส ในที่รโหฐานเสมอๆ อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าระบบยังไม่ถูกเปลี่ยนในสาระสำคัญ ตอนนี้คนไทยได้แต่ความเลวร้ายจากทั้งสองฟาก คือ ซากขององค์กรบริหารจากรัฐบาลทหารจอมทุจริตบวกกับการที่สังคมขาดความใส่ใจเรื่อง การก่อการร้ายต่อประเทศที่เป็นเรื่องจริงจัง

ผมไม่ถือกระจ่างว่าเป็นคนไม่รู้อะไรแล้วมาอ้างเรื่องลอยๆ ซึ่งผมจะถือความเห็นของเขาเป็นสาระ แต่เมื่อเขาไม่ได้เข้าถึงระดับตัดสินใจสูงสุดเราคงต้องระวังไว้ด้วยเช่นกัน

เจ แอล โจนส์ 30 ตุลาคม 2516

สนับสนุนข้อมูลโดยศูนย์ข้อมูลมติชนคลิกอ่านเรื่องราวน่าสนใจเพิ่มเติม Matichon Information Center