กสม.ห่วงโควิด กระทบการศึกษา-สุขภาพจิตเด็ก แนะทบทวนเรียนออนไลน์

กสม.ห่วงโควิด กระทบการศึกษา-สุขภาพจิตเด็ก แนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา – ทบทวนการเรียนออนไลน์

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 เมื่อเวลา 11.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นางปรีดา คงแป้น กรรมการกสม.ร่วมกันแถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ โดยนายวสันต์ กล่าวว่า องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ และกรมสุขภาพจิต เผยแพร่ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นตลอดปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนกันยายน พบว่า

เด็กและวัยรุ่นมีภาวะความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 32 มีภาวะเครียดสูงร้อยละ 28 และมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายร้อยละ 22 โดยระบุว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทุกคนจะต้องปรับตัว ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และมีการปรับการเรียนรูปแบบใหม่ผ่านระบบออนไลน์จากที่บ้าน ทำให้วิถีชีวิตของเด็กและวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว พัฒนาการการเรียนรู้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาสุขภาพจิตในบางราย

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2563 พบว่า การแพร่ระบาดของโรคส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งมิติของการศึกษาและสภาพจิตใจโดยเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาทางออนไลน์ เนื่องด้วยครอบครัวประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ไม่อาจจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ เด็กไทยส่วนมากยังวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินในครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก

กสม.ขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันตระหนักถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของเด็กตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยจะต้องทำให้เด็กได้รับมาตรฐานสาธารณสุขที่สูงที่สุดเท่าที่จะหาได้และประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอนสิทธิในการรับบริการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ ยังต้องประกันสิทธิของเด็กทุกคนที่จะต้องได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน

นายวสันต์ กล่าวว่า กสม.จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ปัญหาและทบทวนเรื่องวิธีการเรียนการสอนออนไลน์และการเข้าถึงระบบการเรียนออนไลน์โดยควรเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ดำเนินการเชิงรุกในการดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนด้วยกลไกที่เข้าถึงได้ง่ายและมีผู้สื่อสารกับเด็กอย่างเป็นมิตร โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ