อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : PRICELESS ความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ จากการรัฐประหาร

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

PRICELESS

ความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้

จากการรัฐประหาร

 

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะที่กลับมาเปิดให้เข้าชมกันอีกครั้งหลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลกันต่อ

คราวนี้เป็นคิวของนิทรรศการที่มีชื่อว่า

PRICELESS l ที่ประเมินค่าไม่ได้

โดย สุรเจต ทองเจือ ศิลปินชาวกรุงเทพฯ ผู้อาศัยและทำงานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

นิทรรศการ PRICELESS

สุรเจตเป็นศิลปินที่ทำงานกับสื่อหลากหลาย เขาสนใจศึกษาความสัมพันธ์ของพื้นที่ มนุษย์ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่การเมือง

คำว่า PRICELESS อันเป็นชื่อของนิทรรศการครั้งนี้ ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ที่ประเมินค่าไม่ได้” นั้นไม่ได้หมายถึงมูลค่าของตัวเงินหรือตัวเลขเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่มีความหมายรวมไปถึงโอกาส สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิขั้นพื้นฐาน หรือแม้แต่ชีวิตที่ประชาชนชาวไทยต่างสูญเสียไปในช่วงเวลากว่า 7 ปี หลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 ความสูญเสียเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาลเกินกว่าจะประเมินค่าได้

สุรเจตใช้วัตถุที่เป็นสัญลักษณ์แทนช่วงเวลาอันสูญเปล่าและสูญเสียนี้อย่าง “ใบเสร็จรับเงิน” นำมาสร้างเป็นผลงานจิตรกรรมในนิทรรศการนี้ขึ้นมา

นิทรรศการ PRICELESS

“งานชุดนี้ผมเริ่มทำขึ้นตอนช่วงรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ผมคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ พอมีประกาศรัฐประหารออกมา ผมก็เริ่มสำรวจว่ามีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นกับตัวเราและครอบครัวบ้าง ก็นึกได้ว่าในขณะที่เกิดเหตุการณ์ ผมมีใบเสร็จธุรกรรมทางการเงินอยู่ในมือ ผมก็มองว่านี่เป็นตัวอย่างที่มองเห็นได้ชัดเจนและเร็วที่สุด คือการที่เราต้องเสียภาษีให้แก่คณะรัฐประหารและองคาพยพของมันทันที สิ่งนี้ส่งผลกระทบกับเราโดยตรง”

“ผมก็เลยเริ่มสะสมใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีต่างๆ เอาไว้ เริ่มจากของตัวผมเอง ของภรรยาและลูก และเริ่มขยับมาสะสมใบเสร็จของพี่-น้อง พ่อ-แม่ และคนในครอบครัว ต่อให้ใบเสร็จบางใบไม่มีรูปแบบของภาษีปรากฏให้เราเห็น แต่สิ่งของอุปโภคบริโภคทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้จ่ายก็มีภาษีเหมารวมอยู่ในนั้นหมดแล้วอยู่ดี”

“ผมเก็บสะสมใบเสร็จเหล่านั้นโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร แน่นอนว่าจุดประสงค์คือเอาไว้ทำงานศิลปะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร รู้แต่ว่าต้องเก็บไปเรื่อยๆ จนครบสามปี ได้ใบเสร็จมาจำนวนหนึ่ง รู้สึกว่าเราต้องขยับความคิดไปอีกขั้น พอดีตอนนั้นมีข่าวว่าจะมีการเลือกตั้ง ผมก็เลยเริ่มทำงานชุดนี้ขึ้นมา”

นิทรรศการ PRICELESS

“ตั้งต้นจากการที่เราไม่รู้ว่าจะจัดการมันอย่างไร ผมจึงตัดสินใจทำงานที่ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม เพราะไม่มีความถนัด และไม่เคยทำ อย่างภาพวาด Abstract (นามธรรม) เหตุผลอีกอย่างคือ วิธีคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของงานศิลปะแนวนี้ ที่ถึงแม้จะเป็นงานแบบนามธรรม ที่ศิลปินทำจากอารมณ์ความรู้สึกอย่างอิสระ ดูเหมือนไร้การควบคุม แต่จุดสิ้นสุดของการทำงานก็ยังอยู่ที่คนทำงานเป็นผู้กำหนดว่างานจะสำเร็จตรงไหนอยู่ดี และพอมองย้อนกลับมาที่สถานการณ์บ้านเมืองของเราตอนนี้ ผมมองว่ามัน Abstract (หรืออันที่จริง Absurd) เสียยิ่งกว่างานศิลปะนามธรรมเสียอีก”

“ส่วนใบเสร็จที่ผมเก็บสะสมเอาไว้ ผมมองว่าเป็น Realistic Object (วัตถุจริง) ที่ได้มาจากชีวิตจริง ผมคิดว่าเราจะแสดงออกถึงสถาวะที่อยู่ภายใต้สถานการณ์อึดอัด คับข้อง หาทางออกไม่ได้ ที่เกิดขึ้นซ้ำซากในประเทศนี้ได้อย่างไร ผมก็เลยเอาใบเสร็จพวกนี้มาย่อยด้วยเครื่องทำลายเอกสารให้กลายเป็นรูปทรงที่ดูซ้ำซากยิ่งขึ้นไปอีก คือเป็นเส้นยาวๆ เหมือนๆ กันหมด”

นิทรรศการ PRICELESS

“แล้วผมก็เอาใบเสร็จที่ถูกย่อยไปปะติดทับซ้อนลงบนภาพวาด Abstract ที่ผมวาดเอาไว้ แปะเรียงซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เป็นโครงสร้าง จากซ้ายไปขวา จากขวาไปซ้าย จากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน เป็นการจำลองโครงสร้างซ้ำซากจำเจที่รัฐจัดสรรให้เราเดินตาม แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความเป็นมนุษย์ การแปะของเราก็จะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยเป๊ะๆ มีความไม่สมบูรณ์ บิดเบี้ยว เอียงซ้ายเอียงขวาบ้าง หรือแม้แต่ตัวใบเสร็จที่ถูกย่อยออกมาก็ไม่ได้เป็นแถบเส้นตรงสมบูรณ์เหมือนกันทุกเส้น ผมก็ปล่อยให้เป็นไป ไม่ได้ฝืนบังคับ”

“ในแง่หนึ่งก็เหมือนการพยายามหาทางออกจากโครงสร้างอันซ้ำซากจำเจในชีวิต แล้วพอแปะใบเสร็จรวมกันมากๆ เข้า Realistic Object พวกนี้ก็กลายเป็นภาพวาด Abstract อีกครั้ง เหมือนเป็นการสะท้อนสถานการณ์ที่เป็น Abstract ของสังคมเราออกมา”

“ตรงขอบของใบเสร็จที่เป็นกระดาษรูหนามเตย เป็นส่วนเดียวที่ผมฉีกออกมาจากใบเสร็จโดยไม่เข้าเครื่องทำลายเอกสาร และเป็นส่วนที่ผมเลือกใช้มากที่สุด โดยติดลงไปเป็นชั้นสุดท้าย”

นิทรรศการ PRICELESS

“ผมมองว่าขอบของใบเสร็จที่ว่านี้เปรียบเสมือนกลไกที่รัฐใช้ขับเคลื่อนประชาชน เพราะรูหนามเตยเองก็เป็นกลไกที่ทำให้เครื่องพิมพ์ดึงกระดาษออกมาอย่างเป็นระเบียบ เวลาที่เครื่องพิมพ์ใบเสร็จออกมาก็จะมีหมายเลขกำกับภาษี ซึ่งเป็นภาระที่เราต้องจ่ายในชีวิตประจำวัน เหมือนรูหนามเตยนี้เป็นตัวดึงภาระเหล่านี้ให้ปรากฏออกมา”

“และด้วยลักษณะของกระดาษที่เป็นรู เมื่อแปะทับลงไปบนภาพวาด ก็จะเห็นสีเดิมของภาพที่อยู่ข้างใต้แลบออกมาให้เห็น เปรียบเหมือนปัญหาในสังคมเราที่ถูกทับถมซ่อนเร้นเอาไว้ แต่บางครั้งบางคราวก็หลุดรอดออกมาให้เห็น”

นอกจากผลงานภาพวาดนามธรรมแล้ว สุรเจตยังนำใบเสร็จที่เขาสะสมมาสร้างสรรค์เป็นผลงานอีกชุดในนิทรรศการนี้ ในรูปของประติมากรรมรูปร่างคล้ายภาชนะที่ดูคุ้นตาไม่หยอก

Untitled (2019-2021)

“ผมทำงานประติมากรรมเป็นรูปทรงของภาชนะชนิดหนึ่ง โดยได้แนวคิดจากตอนที่ใช้กระดาษใบเสร็จเยอะๆ แล้วรู้สึกว่าภาษีที่เราต้องเสียไปจากการจับจ่าย เป็นเหมือนการเติมเงินหล่อเลี้ยงรัฐบาลนี้อย่างไม่หยุดหย่อน แต่กลับไม่มีผลประโยชน์อะไรงอกเงยกลับมา ผมเลยนึกถึงภาชนะอย่าง ‘กระถางต้นไม้’ ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์การปลูกและหล่อเลี้ยงอะไรบางอย่างให้เจริญงอกงามขึ้นมา แต่การเสียภาษีในประเทศนี้เป็นเหมือนการเทเงินลงไปในภาชนะเปล่าๆ โดยที่ไม่มีอะไรงอกงามขึ้นมาเลย แต่กลับกลายเป็นการทำให้ภาชนะหรือโครงสร้างรัฐ (เผด็จการ) แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

“แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ทำให้มันมีความเปราะบางอย่างมากเช่นเดียวกัน ผมก็เลยเอาใบเสร็จที่เก็บสะสมมาทำขึ้นเป็นรูปทรงของกระถางต้นไม้ด้วยเทคนิคเปเปอร์มาเช่ ให้กลายเป็นเหมือนภาชนะดินเผาที่มีทั้งความแข็งแกร่งและความเปราะบางในตัวเอง”

Untitled (2019)

“นอกจากกระดาษใบเสร็จแล้ว ผมยังใช้กระดาษจากหนังสือแบบเรียนวิชาสังคมชั้นประถมศึกษาของลูก และหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในเมืองไทย ตัวแบบเรียนนั้นอ้างอิงไปถึงโครงสร้างของสังคมที่เราถูกปลูกฝังเรื่องของความเป็นชาตินิยมและลัทธิบูชาตัวบุคคลมาจากเบ้าหลอมทางการศึกษาแบบเดียวกัน”

“ส่วนหนังสือพิมพ์จีนก็เป็นเหมือนเครือข่ายที่โยงใยไปถึงเหล่าบรรดานักธุรกิจชั้นนำเชื้อสายจีนที่เป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ผมเอากระดาษเหล่านี้มาขึ้นรูปถอดพิมพ์ออกมาเป็นกระถางต้นไม้”

“ส่วนประติมากรรมรูปทรงแจกันลายครามจีน ผมได้แนวคิดมาจากวัฒนธรรมแบบจีนที่ใช้แจกันหรือเครื่องลายครามเก่าแก่หายาก เป็นเครื่องบรรณาการให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจอิทธิพลทั้งทางธุรกิจหรือการเมือง เพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (ไม่ต่างอะไรกับการส่งส่วย) แต่ผมไม่ทำให้แจกันมีรูปทรงที่สมบูรณ์แบบ แต่ผ่าออกเป็นสองซีกเพื่อให้เห็นลูกล่อลูกชนที่อยู่ข้างใน”

Untitled (2019 -2021) “ภาพนี้ผมทำเป็นรูปดาดฟ้าเรือดำน้ำ แต่เติมปีกเข้าไปให้ดูเหมือนผ้าอนามัย เพราะในขณะที่รัฐบาลทหารมีดีลซื้อเรือดำน้ำ แต่กลับจะขึ้นภาษีผ้าอนามัย ซึ่งเป็นของจำเป็นที่ผู้หญิงต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ในภาพมีประโยคที่เขียนว่า ‘I DON’T WANT WEAPONS’ ซ่อนอยู่”

“ถ้าดูภายในแจกันจะเห็นว่าผมเรียงกระดาษใบเสร็จเป็นริ้วๆ เหมือนขนหรือเกล็ดปลา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากชุดเกราะของจีนที่ใช้ป้องกันร่างกายของนักรบในสงคราม แต่นักรบในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้เกราะแบบนี้แล้ว แต่ใช้เงินทุน และทรัพย์สินเป็นเครื่องป้องกันตัวแทน”

“ในแง่หนึ่ง การปะติดเศษกระดาษใบเสร็จทับบนภาพวาด Abstract ก็แสดงนัยยะถึงสิ่งที่เรายังพอกำหนดหรือควบคุมได้ อย่างน้อยก็การใช้สีสันในการวาดภาพ แต่การเอาวัสดุเหล่านี้มาแปะทับลงไปบนภาพ กลับกลายเป็นว่าวัสดุกลายเป็นตัวควบคุมบังคับเรา เพราะเราไม่สามารถกำหนดสีสันเองได้ หากแต่เป็นสีของใบเสร็จที่ถูกพิมพ์ออกมาจากโรงพิมพ์ และเป็นสีที่ขึ้นอยู่กับการจับจ่ายใช้สอยของเรา ว่าเราจะได้ใบเสร็จสีอะไรกลับมา”

Untitled (2021)

“การใช้ใบเสร็จเหล่านี้ทำงาน เป็นเหมือนภาพแทนของสถานการณ์ที่เราแทบจะควบคุมไม่ได้ เราทำได้แค่คอยจัดสรรหรือจับคู่โทนสีเท่าที่พอจะทำได้เท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ประชาชนต่างต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอม ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารนั่นเอง”

นิทรรศการ PRICELESS l ที่ประเมินค่าไม่ได้ โดย สุรเจต ทองเจือ ภัณฑารักษ์ ไลลา พิมานรัตน์ จัดแสดงที่ Manycuts Artspace I Ari ชั้น 2 บ้านเลขที่ 2/1 ซอยอารีย์ 3 ถนนพหลโยธิน สามเสนใน พญาไท ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน-5 ธันวาคม พ.ศ.2564

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดเข้าไปชมผลงานได้ที่ Facebook page : manycuts.ari หรือโทร. 08-4388-1488

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Manycuts Artspace

 

Untitled (2021)