ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “ใค่หลวักหื้ออยู่ใกล้นักผาด ใค่สะหลาดหื้อหัดใจ๊อ่องออ”

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ใค่หลวักหื้ออยู่ใกล้นักผาด ใค่สะหลาดหื้อหัดใจ๊อ่องออ”

หลวัก แปลว่า ฉลาด รู้ทันคน

นักผาด คือนักปราชญ์ “ป” มี “ร” กล้ำ อ่านออกเสียงเป็น “ผ” ในภาษาล้านนา

สะหลาด คือ ฉลาด

อ่องออ คือ สมอง

รวมความเป็นภาษาไทยได้ว่า “หากอยากรู้ทันคนให้อยู่ใกล้นักปราชญ์ หากอยากฉลาดให้หัดคิด หรือหัดใช้สมอง”

คำคมบทนี้ผู้ใหญ่สอนลูกหลานว่าให้รู้จักคบคน ถ้ามีเพื่อนเป็นคนฉลาดเราก็จะฉลาดตาม แล้วก็รู้จักใช้สมองคิดไตร่ตรอง ไม่คล้อยตามคนอื่นง่ายๆ ทำนองเดียวกับสุภาษิตไทยที่สอนว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” นั่นเอง

 

มีชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องการเลือกคบคนเอาไว้ว่า

ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองเมืองพาราณสี มีพระโพธิสัตว์เป็นอำมาตย์

กาลนั้น ช้างมงคล “มหิลามุข” ของพระเจ้าพรหมทัต เป็นช้างมีศีล สมบูรณ์ด้วยอาจาระ มีมารยาท ไม่เบียดเบียนใคร

คืนหนึ่ง โจรทั้งหลายมาชุมนุมใกล้โรงช้าง ปรึกษาเรื่องการลักขโมย ว่าต้องทำลายอุโมงค์อย่างนี้ ต้องกระทำการตัดช่องย่องเบาอย่างนี้ ต้องฆ่าเจ้าทุกข์ด้วย เพื่อจะได้ไม่ขัดขืน โจรเหล่านี้พากันมาซักซ้อมแผนซ้ำๆ อยู่หลายคืน

ช้างได้ฟังคำโจร สำคัญว่าช้างต้องเป็นผู้กักขฬะ หยาบช้า ป่าเถื่อน จึงจะเด่นดัง

วันต่อมาช้างเอางวงจับคนเลี้ยงช้าง ผู้มาแต่เช้าตรู่ ฟาดที่พื้นดินให้ตาย จากนั้นก็ฆ่าคนที่พบเห็นไปหลายคน

เมื่อพระราชาส่งพระโพธิสัตว์ไปสอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้น ก็รู้ว่าเป็นเพราะช้างฟังคำโจร จึงแก้ปัญหาโดยนิมนต์สมณพราหมณ์ผู้มีศีลให้นั่งในโรงช้าง แล้วกล่าวถึงศีลและอาจาระ พร่ำสอนกันว่าไม่พึงปรามาสจับต้อง ไม่พึงด่าใครๆ ควรเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยศีล ขันติ เมตตา และมีความเอ็นดู

เมื่อช้างนั้นได้ฟังดังนั้นก็คิดได้ว่า สมณพราหมณ์เหล่านี้ให้เราศึกษาสำเหนียก จำเดิมแต่บัดนี้ไป เราควรเป็นผู้มีศีล แล้วช้างก็ได้เป็นผู้มีศีล แสดงว่าช้างใช้สมองตรองดูก็กลับตัวเป็นช้างดีตามเดิม

คนโบราณล้านนาจะสอนลูกหลานเรื่องการเลือกคบคนไว้เช่นนี้ และยังสำทับด้วยว่า

“ปะหมาหื้อห่างศอก ปะวอกหื้อห่างวา ปะพาลาหื้อห่างร้อยโยชน์ พันโยชน์ หมื่นโยชน์”

 

จ๊างฟังกำคนขี้ลักเลยสวก

แปลว่า ช้างฟังขโมยคุยกันจึงดุร้าย