Soil and Stones, Souls and Songs รวมมิตรศิลปะชามโต ของศิลปินหลากหลายชาติพันธุ์ (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Soil and Stones, Souls and Songs รวมมิตรศิลปะชามโต ของศิลปินหลากหลายชาติพันธุ์ (1)

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ชมงานนิทรรศการศิลปะมานิทรรศการหนึ่ง

ความน่าสนใจของนิทรรศการนี้ก็คือ มันเป็นการแสดงผลงานศิลปะที่รวมเอาผลงานของศิลปินจำนวนถึงสามสิบกว่าคน มาแสดงร่วมกัน

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า Soil and Stones, Souls and Songs

เป็นนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะกลุ่มโดยศิลปินจำนวน 36 คน จากหลากหลายเชื้อชาติ (รวมถึงศิลปินไทยด้วย) อย่าง ตาเร็ค อาตุย, มาเรียน่า กาสติโย่ เดบาล, จิมมี่ เดอแรม, สุไลมาน เอซา, เอ็ดการ์ เฟร์นันเดซ, เมชัค กาบา, ซิมริน กิล, อิยอน กริกอเรสคู, ตาลอย ฮาวินิ, โหว ซิว-กี, เจมส์ ที. หง, ฮ่องกง ฟาร์ม, ปีเตอร์ เคนเนดี้ & จอห์น ฮิวจ์, เจน จินไคเซง, คยอง แมน คิม, โซ ยัง คิม, จอง คิม, โอ เชียน เหลียง, ลี่ ปิน หยวน, หลี่ หราน, โฆเซ่ มาเซดา, ประภาการ์ พัชปุเต, ปรัชญา พิณทอง, เรดซา ปิยาดาสา, โร แจ อึน, รีตู สัตตาร์, ชิตะมิจิ โมโตยูกิ, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, วอลเตอร์ สเมทาค, สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา, ชึง คอง ตุง, แฮก หยาง, เทรเวอร์ ยัง, โตกุลดูร์ ยอนโดนัมทส์

(เขียนชื่อจนเมื่อยมือน่ะ คิดดูก็แล้วกัน!)

นิทรรศการครั้งนี้เป็นนิทรรศการสัญจรที่จัดขึ้นจากความร่วมมือของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (กรุงเทพฯ), องค์กรศิลปะร่วมสมัย KADIST (ซานฟรานซิสโก/ปารีส) และ Para Site Art Center (ฮ่องกง) ด้วยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

โดยสองภัณฑารักษ์ คอสมิน คอสตินาส และ อินทิ เกเรโร่ ทำการคัดสรรผลงานศิลปะของศิลปินหลากหลายชาติพันธุ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสายสัมพันธ์ ความตึงเครียด และเรื่องเล่าที่พบเห็นได้จากความเป็นจริงในปัจจุบัน จากการผลิตเชิงศิลปวัฒนธรรม และแนวคิดร่วมสมัยในเขตเอเชีย และพื้นที่อื่นๆ

โดยนิทรรศการที่จัดขึ้นที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปจากครั้งที่เคยจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยและงานออกแบบ มะนิลา และ Para Site Art Center ฮ่องกง

ผลงานศิลปะในนิทรรศการ Soil and Stones, Souls and Songs เป็นการพูดถึงเรื่องราวของพลังตลาดโลกที่ระเบิดออกมาในภูมิภาคเอเชีย

ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการผลิต แรงงาน ภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม รวมถึงโครงสร้างทางสังคมอย่างกว้างขวางไปทั่วภูมิภาค

ความวิตกกังวลของโลกใหม่ และความทะเยอทะยานในการแข่งขันกันในสังคมที่โดนแปลงโฉมใหม่นี้ ที่กำลังใฝ่หารูปแบบใหม่ๆ ทางการเมือง และจินตนาการถึงความคิดใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างความหมายและแนวทางในการเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงในการใช้ชีวิตอยู่ในภูมิภาคนี้

ความคิดเหล่านี้ที่ส่วนใหญ่พยายามวางตัวเองลงในตำแหน่งขั้วตรงข้ามในประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่นอกคอก กระทั่งไม่อยู่ในมาตรวัดของความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก

บ่อยครั้งที่ความคิดเหล่านี้ถูกพัฒนาไปเป็นงานที่เกิดขึ้นบนฐานของอุดมการณ์ทางความคิดแบบผสมผสานและซับซ้อน

อย่างไรก็ดี งานเหล่านี้ ซึ่งในหลายกรณีต่อยอดมาจากการต่อสู้ดิ้นรนกับการต่อต้านอาณานิคม และจากกระบวนการสร้างชาติในยุคหลังอาณานิคม จะเป็นเรื่องราวของการปรับแปลงครั้งล่าสุดต่อการฟื้นคืนชีพของภูมิภาค และต่อสิ่งที่อาจมองได้ว่ากำลังเป็นวิกฤตการณ์ในโลกตะวันตก

ในแง่นี้เอง กล่าวได้ว่ามีเส้นโยงใยแนวคิดที่ดูต่างกันสิ้นเชิง ระหว่างลัทธิขงจื๊อใหม่ที่กำลังถูกรื้อฟื้นโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เข้ากับแนวคิดใหม่ถึงความหมายของการเป็นชนพื้นถิ่นในทั่วทุกภูมิภาคที่เคยตกเป็นเมืองอาณานิคม ตั้งแต่หมู่เกาะเมลานีเซียไปจนถึงอเมริกา ซึ่งก้าวผ่านสิ่งที่ดูเป็นมากกว่าเพียงแค่การฟื้นคืนของลัทธิชาตินิยมในหลายประเทศทั่วโลก

ขอบฟ้าของความหวาดกลัวนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในเอเชีย หากแต่การแสวงหาพื้นที่อันสมบูรณ์ในโลกยิ่งชัดเจนขึ้นจากการสูญเสียความแน่นอน จากความวิตกกังวลในการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ในยุคหลังอาณานิคมและยุคหลังสงครามเย็น

และจากความยากลำบากและความโหดร้ายที่บ่อยครั้งมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม

นิทรรศการศิลปะจะส่งผ่านความซับซ้อนนี้ออกไปได้อย่างไร

รูปแบบ วัตถุ และสาระของงานศิลปะ จะแปลบริบทความวิตกกังวลที่เรากำลังชี้ให้เห็นนี้ได้อย่างไร

ขอบเขตของความซับซ้อนอันไม่สิ้นสุดในภูมิภาคของเราจะถูกแปลออกมาอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงความซับซ้อนในการนิยามวัตถุและภาพของจีนที่เป็นศูนย์กลางของประเด็นต่างๆ เหล่านี้

นิทรรศการนี้พยายามตอบคำถามต่างๆ ผ่านสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน

นอกจากนี้ นิทรรศการยังให้ความสำคัญกับศัพท์เชิงสุนทรียศาสตร์และการสืบหาความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่ยึดถือตามอย่างตะวันตก ว่าถูกสะท้อนออกมาอย่างไร ในการอ้างอิงรูปแบบทางศิลปะที่ศิลปินในแต่ละรุ่น จากแต่ละพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เลือกใช้ในกระบวนการสร้างงาน

ในขณะที่เรื่องราวจำนวนไม่น้อยสืบย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดในภูมิภาคเอเชีย และพยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ด้วยการสืบค้นต้นตอกลับไปหาเสียง

และเงาสะท้อนที่อยู่นอกเหนือฟากฝั่งทวีปออกไป ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล

ถ้าจะพูดถึงผลงานทุกชิ้นในนิทรรศการครั้งนี้ เห็นทีพื้นที่ในคอลัมน์นี้คงจะไม่เพียงพอ

ก็เลยจะขอกล่าวถึงผลงานที่โดดเด่นโดนใจเราเป็นพิเศษก็แล้วกัน

ผลงานชิ้นแรกเป็นของศิลปินสาวชาวไทย สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา ที่มีชื่อว่า When Need Moves the Earth (2014) หรือ ไฟเคลื่อนดิน ผลงานวิดีโอสามจอใหญ่ในห้องแสดงงานเล็กตรงทางเข้าของงาน ที่นำเสนอเรื่องราวปรากฏการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์

ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากงานวิจัยของ ดร.คริสเตียน ดี.คโลส นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่มุ่งเน้นในการสำรวจสาเหตุของภัยธรรมชาติ

สุทธิรัตน์ได้ทำการบันทึกกระบวนการทำงานที่ดูเหมือนจะเรื่อยเฉื่อยไร้พิษสงของเหมืองถ่านหินและอ่างเก็บน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าของไทย

แต่อันที่จริงโรงงานเหล่านี้สร้างแรงสั่นสะเทือนทีละเล็กละน้อยที่อาจส่งผลต่อเปลือกโลกและอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงได้

ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดของเหมืองถ่านหิน หรือซากขยะถ่านหินสีดำที่กองทับถมกันที่เห็นในจอภาพ ที่สร้างจินตนาการแห่งโลกอนาคตอันมืดหม่นหดหู่ให้กับผู้ชม

สุทธิรัตน์มักตั้งคำถามถึงประเด็นเหล่านี้ผ่านผลงานของเธอ เธอมุ่งความสนใจไปที่กิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลต่อมนุษย์ด้วยกัน ด้วยการตีความข้อมูลสาธารณะ และเปิดเผยโครงสร้างของสิ่งที่เธอคิดว่ามีผลกระทบต่อเธอเองในฐานะที่เป็นหนึ่งในประชาชนของประเทศหรือมนุษย์ร่วมโลก

ผลงานชิ้นที่สองเป็นของศิลปินชาวเวียดนาม ชึง คอง ตุง ชื่อ We The ?SoilSoulSoldierySuicidesSociety… (2015) ซึ่งเป็นเสื้อทหารเก่าที่อัดแน่นไปด้วยก้อนดินและเศษจอมปลวก

โดยเสื้อทหารเก่านี้ตัดเย็บในเกาหลี เป็นเสื้อผ้าที่เกษตรกรในหมู่บ้านของศิลปินใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน

การใส่เสื้อทหารช่วยสร้างอำนาจเชิงสัญญะให้กับชาวบ้านชนกลุ่มน้อยชาวจาไรที่ถูกปราบปรามและกดขี่ในเขตที่ราบสูงภาคกลางของเวียดนาม

เศษก้อนดินและเศษจอมปลวกที่ยัดใส่ในเสื้อนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่า

บนฝาผนังเหนือเสื้อมีภาพจากข่าวท้องถิ่นที่รายงานเรื่องของชาวจาไรที่แอบหนีข้ามเขตชายแดนป่าเข้าไปยังเขมรอย่างผิดกฎหมาย

ใบหน้าของบุคคลในภาพถูกวาดทับด้วยสีจนไม่อาจระบุตัวตนได้

สื่อให้เห็นถึงความไร้สถานภาพและสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ที่ถูกผลักไสให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคม