ถาม-ตอบ กับ ‘ประวิตร โรจนพฤกษ์’ เรื่องเสรีภาพ-โอกาสรอดของธุรกิจสื่อ

เมื่อช่วงเย็นของวันพุธที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนา The Shifting Sands : Press Freedom in Southeast Asia (เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย : เสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) โดยเชิญผู้สื่อข่าวในภูมิภาคอาทิ อินโดนีเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ และไทย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และฉายภาพสถานการณ์เสรีภาพสื่อที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ผู้เสวนาทั้งหมดให้ภาพในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์เสรีภาพสื่อในภูมิภาคนั้นน่าเป็นห่วง จากการบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนเป็นไปอย่างยากลำบาก การเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งผู้สื่อข่าวจากพม่าถึงกับกล่าวกับเพื่อนร่วมเสวนาว่า สื่อในอาเซียนต่างลงเรือลำเดียวกันแล้ว

ในโอกาสนี้ ได้มีโอกาสถามตอบกับ ‘ประวิตร โรจนพฤกษ์’ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ที่โพสต์รายงานสถานการณ์พร้อมแสดงทัศนะกับประเด็นต่างๆโดยเฉพาะการเมืองไทย ซึ่งเข้มข้นทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จนตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ว่ากระทำผิดฐานยุยงปลุกปั่น หลังจากก่อนหน้านี้ประวิตรถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหารที่จังหวัดราชบุรี ช่วงการรัฐประหารปี 2557 ผ่านพ้นไปไม่นาน ซึ่งประวิตรได้แสดงทัศนะที่เกิดขึ้นกับเสรีภาพสื่อของทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงทิศทางของธุรกิจสื่อที่อยู่ในช่วงขาลงกันถ้วนหน้าว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

ถาม: สถานการณ์เสรีภาพสื่อที่เป็นอยู่ในไทย น่าเป็นห่วงแค่ไหน?

ประวิตร : เราก็มีแล้วอย่าง คุณจอม (จอม เพชรประดับ) ก็ไม่ใช่กระจอกนะ ซึ่งคุณจอมก็พูดถูกว่า เดี๋ยวนี้ คนๆ เดียวก็จัดการทำห้องส่ง ทำสัมภาษณ์สดได้แล้ว ตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะเกิด exiled media ยังไง ถ้าสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ก็คงมี ถ้ามีนักข่าวและประชาชนถูกจับเข้าคุกมากๆ ก็อาจจะมี นอกจากนั้น สื่อกว่าร้อยละ 40-50 ก็เห็นใจรัฐบาลทหาร ก็ยอมรับกันได้ ไม่เห็นจะต้องหนีไปไหน

 

ถาม : สื่อไทยจำนวนมากก็ปกป้องสิทธิเสรีภาพ แต่สื่อจำนวนหนึ่งกลับมองสิทธิเสรีภาพสื่อเป็นเครื่องมือเพื่อไว้เลี้ยงปากท้องเท่านั้น คิดเห็นอย่างไร

ประวิตร : ก็ถูกส่วนหนึ่ง สื่อเองก็ต้องคิดเรื่องรายได้ แต่ว่าก่อนที่เศรษฐกิจจะย่ำแย่ก่อนรัฐประหาร ก็มีสื่อที่อยากให้เกิดการรัฐประหาร แต่เรื่องเศรษฐกิจก็เป็นเทรนด์ทั้งโลกที่คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง

 

ถาม : สื่อสิ่งพิมพ์จะตายไหม?

ประวิตร : สื่อท้องถิ่นก็คงค่อยๆ ตาย จะเหลือไม่กี่หัว คือหัวที่ให้อะไรได้มากกว่าการอ่านฟรี  ผมให้เวลาไม่เกิน 5-10 ปีอย่างช้าสุด แล้วสุดท้ายก็จะเหลือผู้อยู่รอดที่แท้จริงไม่กี่ที่ที่ยังสามารถเก็บเงินกับผู้อ่านได้ อย่างที่มีในต่างประเทศตอนนี้ก็มีเดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ที่ยังขายได้เพราะคนต้องใช้ประกอบการลงทุน นิวยอร์ก ไทม์ หรือแม้แต่เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ก็ยังขายได้แต่ยอดขายก็ลดลง แต่ต่อไปวงขายจะจำกัดมาก และจะเหลือผู้อยู่รอดที่แท้จริงไม่กี่แห่ง

 

ถาม : นั้นหมายรวมถึงสื่อแท็บลอยด์ในไทยก็ใกล้ตายแล้ว?

ประวิตร : เดี๋ยวนี้แท็บลอยด์หลายหัวเขาก็ไม่ขายแล้ว เขาแจกฟรี เขาหารายได้จากโฆษณา สิ่งที่น่าห่วงกว่าคือหนังสือสารคดี เพราะเดี๋ยวนี้ราคาหนังสือสารคดีในแผงมีราคาต่ำกว่าค่าผลิตแล้ว หมายความว่ายิ่งผลิตยิ่งขาดทุน จะเรียกค่าโฆษณาสูงขึ้นกว่าเดิมก็ไม่ได้ สุดท้ายแบบนี้ก็ต้องหายไป ก็เหลือแต่แจกฟรี ทีนี้ก็ต้องมาดูต่อไปในเรื่องคุณภาพ แต่เชื่อว่าจะยังเหลือหนังสือที่มีจุดขายที่ชัดเจน แต่จำนวนจะน้อยลง ส่วนสื่อหัวสีของไทยในอนาคตอาจเหลือไม่เกิน 2 แห่ง

 

ถาม : หากมีสมการที่ว่า “ยิ่งมีเสรีภาพสื่อมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) มากขึ้นเท่านั้น”?

ประวิตร : ผมว่ามันต่างกัน การรู้เท่าทันสื่อคือความเข้าใจของสาธารณชนต่อสื่อต่างๆ ว่ามีข้อจำกัดอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น สื่อกระแสหลักไม่พูดเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วถ้าอยากอ่านเรื่องนี้ต้องไปอ่านที่ไหน นี่คือความเข้าใจของสาธารณะ ส่วนเสรีภาพสื่อคือวัฒนธรรมที่มีความคิดเห็น ความเห็นต่าง อยู่ด้วยกันได้แม้จะไม่เห็นด้วย สังคมไทยยังไม่มีวัฒนธรรมที่มีขันติ กลายเป็นว่าเห็นต่างเท่ากับเลว เกลียดชังความเห็นต่าง อย่างนี้สร้างเสรีภาพสื่อไม่ได้ นอกจากนั้น สื่อเองก็เซ็นเซอร์ตัวเองจากความกดดันของสังคม อย่างนี้เสรีภาพสื่อก็ไม่เกิด

 

ถาม : แล้วจะพัฒนาอย่างไร?

ประวิตร : คงต้องเริ่มที่ระบบการศึกษาที่มีแนวทางการสอนแบบเส้นตรง คำตอบมีคำตอบเดียว นี่คือความล้าหลังของความเข้าใจของสังคมที่ยึดติดอยู่กับหลักวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ในทางสังคม คุณค่าของมนุษย์มีหลายด้าน มีค่านิยม ความแตกต่างที่ต้องหาวิธีแสดงความเห็นต่างอย่างเป็นอารยะ

 

ถาม : สถานการณ์เสรีภาพสื่อในอาเซียน?

ประวิตร : อย่างที่เคยได้ยินว่าปลาเน่าตัวเดียวก็เน่าทั้งบ่อ แต่ตอนนี้มีหลายตัวเหลือเกิน แต่ละประเทศก็ต้องพยายามพัฒนาตัวเอง ต้องช่วยตัวเอง อะไรที่เราช่วยได้ก็คงช่วย การลิดรอนสิทธิเสรีภาพนั้นสะท้อนถึงคุณภาพของประชากรแห่งประชาคมอาเซียนที่เราพูดถึงกันเหลือเกิน ไม่เพียงแต่ในมิติของเสรีภาพสื่อเท่านั้น