เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /ธรรมะวิภาษวิธี

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ธรรมะวิภาษวิธี

 

เดือนตุลาคม 2516 สี่สิบแปดปีมาแล้วนั้น ถือเป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ทางการเมืองไทยอีกครั้งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ว่าได้ ด้วยการตื่นตัวของนักศึกษาและประชาชนที่เริ่มต่อต้านอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จเผด็จการโดยทหารสมบูรณ์แบบเช่นนี้ดูจะเพิ่งมีเป็นครั้งแรก

กลายเป็นรูปธรรมของคำว่า เผด็จการคือทหาร ประชาธิปไตยคือนักศึกษา-ประชาชน

จนเป็นวาทกรรมสำเร็จรูปมาถึงวันนี้

 

ข้อดีอย่างหนึ่งของสถานการณ์นี้คือการตั้งกลุ่มศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์สังคม เรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นและขบวนการสังคมนิยมให้กับนักศึกษาและประชาชนที่ถึงแม้จะจำกัด แต่ก็เป็นความรู้ใหม่ที่เริ่มแพร่ไปยังผู้สนใจได้รับรู้และศึกษา

เช่น ความหมายของคำว่า “ชนชั้น” นั้นต่างกับคำว่า “ชั้นชน” อย่างไร

โดยเขาจำกัดความว่า คำว่าชนชั้น ในที่นี้มีแค่สองชนชั้นเท่านั้น

หนึ่ง คือชนชั้นผู้กดขี่หรือผู้เอาเปรียบ

สอง คือชนชั้นผู้ถูกกดขี่หรือผู้เสียเปรียบ

สองชนชั้นนี้สมควรต้องขจัดให้หมดไปจากสังคม

ส่วนคำว่า “ชั้นชน” นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามความเป็นจริง โดยธรรมชาติของสังคมที่ต้องมีผู้ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น มีพ่อมีแม่มีลูก มีผู้ปกครอง กระทั่งมีนายจ้างลูกจ้าง ล้วนทำหน้าที่ต่างๆ กันไปตามสมควรและจำเป็น

แต่ถ้าชั้นชนที่ดำรงอยู่นี้มีการกดขี่ขูดรีดไม่ดำเนินไปตามปกติ มีการเอาเปรียบกันขึ้น ชื่อว่ามี “ชนชั้น” เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่านายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างด้วยการกดขี่ขูดรีดแรงงาน ก็ถือว่านายจ้างจัดเป็น “ชนชั้น” ผู้กดขี่

และหรือแม้ลูกจ้างเองเอาเปรียบนายจ้างด้วยการอู้งานหรือทำงานไม่คุ้มค่าแรง แกล้งเอาเปรียบประการใดก็ตาม ลูกจ้างนั้นเองก็กลายเป็น “ชนชั้น” ผู้กดขี่ได้ทันที

 

ชนชั้นนี่เองเป็นเหตุหนึ่งให้เกิดการต่อสู้ ดังโวหารว่า

ที่ใดมีกดขี่ ที่นั่นมีต่อสู้

ทำให้ต้องไปศึกษาทฤษฎีเรื่อง “ความขัดแย้ง” เพราะการ “กดขี่และการต่อสู้” เป็น “ความขัดแย้ง” สำคัญ

เกือบสรุปได้เลยว่า ทุกการต่อสู้มีความขัดแย้ง หรืออาจกล่าวได้ว่า ในความขัดแย้งมีการต่อสู้

เขายกตัวอย่างเช่น โต๊ะตัวหนึ่งหรือภาชนะรองรับหนึ่ง รองรับสิ่งใดอยู่ก็ตาม นั่นมีการต่อสู้และความขัดแย้งอยู่แล้ว คือแรงกดแรงดันและแรงรับคำรบอยู่ไปพร้อมกัน นี้คือความขัดแย้งของแรงกดและแรงดันตามกฎของที่เรียกว่าฟิสิกส์นั่นเอง เป็นพลังที่รองรับกันอยู่อันเป็นหลักวิทยาศาสตร์

เปรียบเทียบกับลักษณะสัมพันธ์ในสังคมของคนก็เช่นกัน ตราบที่ยังดำรงอยู่ด้วยดีมีแรงรับแรงต้านได้สมดุลกัน ก็เป็นเอกภาพดำรงอยู่อย่างเป็นปกติสุขได้

แต่ถ้าเมื่อใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจรักษาสมดุลความสัมพันธ์นี้ไว้ได้ เช่น ลักษณะ “ชนชั้น” เกิดขึ้น คือฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบอีกฝ่ายด้วยการกดขี่ขูดรีดหรือใช้อำนาจเหนือเข้าข่มเหงรังแกโดยไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรง เช่น มีการต่อสู้ ดังโวหารว่า ที่ใดมีกดขี่ ที่นั่นมีต่อสู้

ความขัดแย้งนี้ย่อมไม่เป็นเอกภาพสมดุลอยู่ได้ กลายเป็นความแตกหัก เป็นปฏิปักษ์แตกแยกทันที

 

ความขัดแย้งจึงมีสองลักษณะ

หนึ่ง ความขัดแย้งที่เป็นเอกภาพ

สอง ความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์

ยกตัวอย่างอีกเช่นกันว่า การทะเลาะเบาะแว้งบางเรื่องนั้นควรเป็นความขัดแย้งที่เป็นเอกภาพ เช่น การทะเลาะภายในครอบครัวเพื่อให้ครอบครัวดีขึ้น ไม่ควรนำไปสู่การแตกร้าวหรือแตกหักให้บ้านแตก ต้องหย่าร้างกันกลายเป็นความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์โดยใช่เหตุ

เหมือนโต๊ะหรือภาชนะรองรับสิ่งของที่สมดุลดีเป็นเอกภาพกันอยู่ แต่หากเอาของที่มีน้ำหนักเกินลงวางหรือทุ่มเข้าใส่โต๊ะหรือภาชนะนั้น มันก็ต้องพังโครม

นี่คือความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์

ไม่อาจรักษาสมดุลของความขัดแย้งที่เป็นเอกภาพได้

 

อีกเรื่องที่สำคัญ ศึกษากันอย่างเอาจริงเอาจังคือเรื่องจิตกับวัตถุ

วิทยาศาสตร์สังคมนิยามว่า จิตมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาลอยๆ ได้เอง หากเกิดได้ด้วยมีวัตถุกำหนดอยู่เสมอ แม้ความคิดจิตใจในร่างกาย เรานี่เองก็เถิด ที่จิตมันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้นี้ก็เพราะมีเซลล์ประสาทของร่างกายซึ่งก็คือวัตถุนั่นเองเป็นสิ่งที่กำหนดจิตอยู่ ควบคุมให้เกิดดับและดำรงอยู่ได้ หาใช่ปาฏิหาริย์อัศจรรย์อันใดบันดาลได้

เขาเรียกหลักการนี้ว่า “วัตถุนิยม” ส่วนพวกถือหลักจิตเป็นใหญ่จะเรียกว่า “จิตนิยม”

ประเด็นนี้เคยคุยกับท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุที่สวนโมกขพลารามด้วย ท่านให้มรดกธรรมสามข้อคือ

  1. ศาสนิกชนพึงทำความเข้าใจ (และเข้าถึง) หัวใจของศาสนาตน
  2. ศาสนิกชนทุกศาสนาพึงทำความเข้าใจหัวใจของศาสนาอื่นด้วย
  3. ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุนิยม

ข้อ 3. คำ “วัตถุนิยม” นี่แหละต้องทำความเข้าใจถึงความเหมือนและความต่างกัน ใช้เวลาพอสมควรด้วยเรามุ่งความเข้าใจไปเชิงวิทยาศาสตร์สังคมว่า “วัตถุกำหนดจิต” แต่ท่านอาจารย์อธิบายถึง “วัตถุนิยม” ทางธรรมตรงตามตัวตามคำว่าวัตถุนิยมคือ “นิยมวัตถุ”

คำเหมือนกันแต่ความหมายต่างกัน นี่ถ้าต่างเข้าใจไปตามลำพัง นักวิทยาศาสตร์สังคมก็จะว่าธรรมพุทธทาสนี่เป็นสำนัก “จิตนิยม” ไปนั่น

ศิษย์พุทธทาสก็จะว่าพวก “วัตถุกำหนดจิต” เป็นพวกทาสวัตถุไปโน่น

ทั้งที่แท้แล้วทั้งสองทฤษฎีมีส่วนที่เหมือนกันตรงที่ทางธรรมนั้นมีหลักเรื่องขันธ์ 5 และปฏิจจสมุปบาท ที่ยอมรับการดำรงอยู่ร่วมกันของทั้งวัตถุและจิตในขันธ์ 5 และให้รู้ใช้จิตกำหนดวัตถุในปฏิจจสมุปบาท

รวมแล้วคือ ธรรมะวิภาษวิธี

ซึ่งหลักวิทยาศาสตร์สังคมเรียกการรู้จักการกำหนดซึ่งกันและกันของทั้งวัตถุและจิตนี้ว่า

วัตถุนิยมวิภาษวิธี

 

คมตุลาคม

 

ตุลา คือ ตราชู

คือ คันชั่ง ตั้งสมดุล

ทรงค่า และ ทรงคุณ

ยุติธรรม ให้ธำรง

 

สิบสี่ ตุลาสู้

พิราบพรู สู่ไพรพง

หักกฎ และแหกกรง

ฝ่าลวดหนาม กำแพงหนา

 

สืบหก ตุลาโศก

วิโยคยับ เกินเยียวยา

กว่า ยุติธรรมา

จะคืนมา ประมาณมี

 

การเมือง ยังหมุนวน

ยังขุ่นข้น ด้วยผงคลี

บางคาบ อาจดูดี

พอกินน้ำ กลับเห็นปลิง

 

คือ คมตุลาคม

อันคงคมอยู่กลมกลิ้ง

คือคมที่บาดจริง

คมกว่าคม ตุลาคม!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์