ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 4-10 สิงหาคม 2560

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

31 กรกฎาคม

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีการประชุมเพื่อส่งมอบผลงานให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล

โดยมีแม่น้ำทั้งห้าสาย อันได้แก่ คสช. ครม. สนช. สปท. และ กรธ. เข้าร่วมรับฟังและเป็นสักขีพยาน

ชื่นมื่นกันในห้องประชุมรัฐสภา

เป็น “พิธีกรรม” ที่พยายามให้ “ใหญ่”

แต่ไฉนไม่อึกทึกครึกโครม กระแทกใจชาวบ้าน

“อีเมล” จาก “โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน” (ilaw) ที่ส่งมาถึง “มติชนสุดสัปดาห์” อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุ

ไอลอว์ ว่าไว้ดังนี้

…ขั้นตอน (สปท. ส่งมอบผลงานให้รัฐบาล) คงไม่ต่างอะไรกับพิธีกรรม

เพราะการเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศประมาณ 1 ปี 10 เดือน ของ สปท. ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าไม่ได้มีผลงานปฏิรูปอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับรายงานของไอลอว์ ที่พบว่าข้อเสนอการปฏิรูปนั้นเป็นนามธรรมกว่า 75%

นอกจากนี้ หลายข้อเสนอยังซ้ำ ไม่ได้สร้างสรรค์หรือลึกซึ้งกว่าข้อเสนอที่มีอยู่แล้วในสังคม

เช่น รายงานเรื่องความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง

และรายงานเรื่องการจัดทำ การกำหนด และการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติฯ ที่เรียกได้ว่านำรายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาแล้วตัดทอนกับแต่งเติมถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

สปท. มีชื่อว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

แต่การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมมีน้อยมาก

ส่วนหนึ่งเพราะข้อเสนอขาดรูปธรรมที่ชัดเจน

อีกส่วนเพราะ สปท. ไม่มีอำนาจอะไรจริงๆ ทุกข้อเสนอต้องรอรัฐบาลเห็นชอบ

ทำให้ สปท. ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทำได้แต่เพียงการมอบภารกิจให้หน่วยงานรัฐไปปรับปรุงแก้ไขการทำงาน

แต่ไม่มีแนวคิดปฏิรูปใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้

ทั้งนี้ ในมุมของสมาชิก สปท. หลายท่าน เห็นว่าการเข้ามาทำหน้าที่ครั้งนี้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ เพราะจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ และจะมีประโยชน์ต่อประเทศจากนี้เป็นต้นไป

อย่าง นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. ก็เคยกล่าวว่า สปท. ผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ คุ้มค่าต่อการรัฐประหาร และถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศอย่างแท้จริง

แต่ทว่า ถ้าประเมินจากผลงานการปฏิรูปตั้งแต่ สปช. จนมาถึง สปท.

จะเห็นว่า เรายังไม่ได้ก้าวไปไหนไกล

ข้อเสนอแต่ละเรื่องสนใจแค่การแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่หน่วยงานต่างๆ ก็พอจะทำกันได้เองอยู่แล้ว

ไม่ได้เสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

มิหนำซ้ำ บางข้อเสนอยังพาให้ประเทศถอยหลัง

ไม่ว่าจะเป็นการเสนอกฎหมายควบคุมสื่อ

การเสนอมาตรการควบคุมการแสดงออกของประชาชน

ภาพรวมมีแต่การเพิ่มอำนาจรัฐ

โดยมองข้ามความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม

สามปีที่ผ่านมาของการปฏิรูปประเทศ เรายังไม่ค่อยเห็นข้อเสนอใหม่ สร้างสรรค์ ลึกซึ้ง หรือแม้แต่เป็นรูปธรรม

ทั้งๆ ที่ สปท. ตั้งงบประมาณให้ตัวเองไว้เป็นพันล้าน

จนคล้ายว่า การพูดเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เป็นเพียงข้ออ้างที่จะขออยู่ต่อในอำนาจของ คสช. ต่อไปอย่างไร้ที่สิ้นสุด

และแม้ว่า สปท. จะต้องสิ้นสุดการทำหน้าที่ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

แต่ คสช. ก็ยังขอพื้นที่ทำแผนปฏิรูปต่อภายใต้ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาล คสช. แต่งตั้งกรรมการปฏิรูปอีก 140 คน เข้ามาหน้าที่ต่อภายใน 15 วัน

ซึ่งก็น่าจับตาดูว่าจะได้คนหน้าซ้ำมาทำงานอีกหรือไม่

และแผนที่คนชุดใหม่จะมาเขียน จะเป็นรูปธรรมหรือสร้างสรรค์ขนาดไหน เพราะในสามปีที่ผ่านมาล้มเหลวไม่เป็นท่า

นายณัชปกร นามเมือง

เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw)

อ่านแล้ว เห็นอย่างไร เป็นสิทธิของแฟนๆ มติชนสุดสัปดาห์

จะเห็นต่างจากไอลอว์ ชื่นชม สปท. ก็ไม่ว่า

หรือจะเอียงมาทางบรรทัดสุดท้าย ในไปรษณียบัตร ของ ไมตรี รัตน

“พอแก่เฒ่า เขียนอะไรก็ไม่รู้”

ก็ไม่ว่าอีกเหมียนกัน…