อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (10)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (10)

 

มีอะไรเกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน

เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่าในช่วงของสงครามต่อต้านสหภาพโซเวียต โดยฝ่ายมุญาฮิดีนกลุ่มต่างๆ นั้นสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐ (CIA) ที่เข้ามาสนับสนุนนักรบมุญาฮิดีนเป็นผู้สนับสนุนให้อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ขึ้นมาเป็นผู้นำในการรบ

ในปี 1989 ผู้นำโซเวียต กอร์บาชอฟ (Gorbachev) ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานอย่างชาญฉลาด หลังจากมองไม่เห็นชัยชนะและผลประโยชน์ที่สหภาพโซเวียตจะได้รับจากอัฟกานิสถานอีกต่อไป

การออกไปของสหภาพโซเวียตมีส่วนสำคัญทำให้สหรัฐหมดความสนใจในอัฟกานิสถาน หลังจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์นำโดยมุฮัมมัด นาญีบุลลอฮ์ (Muhammad Najibullah) ต้องลงจากอำนาจในปี 1992

จากนั้นอัฟกานิสถานก็จมลงสู่ความเป็นมิดสัญญี เมื่อมุฮาญิดีน 8 กลุ่มที่เอาชนะสหภาพโซเวียตมาได้ต้องมาขัดแย้งกันเอง จนฏอลิบานยึดอำนาจได้ในปี 1996 และประกาศจัดตั้งรัฐอิสลามเอมิเรตส์ของอัฟกานิสถาน (Islamic Emirates of Afghanistan) ได้ในที่สุด

ดังได้อธิบายมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ว่าคำว่าฏอลิบาน (Talib) หมายถึง “นักเรียน” หรือ ผู้แสวงหา (seeker) ในภาษาอาหรับ คำว่าฏอลิบานเป็นพหูพจน์ในภาษาพาชตุน (Pashtun) ซึ่งหมายถึงกลุ่มก้อนของนักเรียนนั่นเอง

โดยในการเข้าสู่อำนาจในเวลานั้นของพวกเขา เฉพาะซาอุดีอาระเบีย UAE และปากีสถานเท่านั้นที่ให้การรับรองรัฐฏอลิบาน

 

หลังจากนั้น ฏอลิบานได้ใช้รูปแบบความเข้มงวดที่มาจากการตีความกฎหมายอิสลามให้มีความเข้มข้นเกินกว่าการปฏิบัติในที่อื่นใดของโลกมุสลิม และโลกมุสลิมก็ไม่มีประเทศใดให้การยอมรับยกเว้นสามประเทศที่ได้กล่าวมาข้างต้น

กล่าวกันว่าการตีความชารีอะฮ์หรือกฎหมายอิสลามด้วยความเข้มข้นนี้พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการฟื้นฟูแนวทางอิสลามของสำนักคิดเดียวบัน (Deobandi) แห่งเมืองสาฮารานปุร (Saharanpur) รัฐอุตตรประเทศ (UP) ของอินเดีย เชื่อกันว่าในส่วนที่เกี่ยวกับความคิดที่มีต่อสตรีและความเข้มงวดอื่นๆ นั้นมาจากการตีความของฏอลิบานเองมากกว่าคำสอนของสำนักคิดเดียวบันแห่งอินเดียที่พวกเขายึดโยงอยู่

ผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากการนำเอากฎเหล็กของฏอลิบานมาใช้ในเวลานั้นจึงกลายเป็นสุภาพสตรีที่ถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐาน

แต่ตะวันตกในเวลานั้นก็ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากนัก

 

หลังเหตุการณ์ 9/11 Bush ได้ยื่นคำขาดให้ฏอลิบานส่งบิน ลาดิน ให้กับสหรัฐ ทางฏอลิบานได้ส่งสัญญาณให้สหรัฐรับทราบว่าฏอลิบานต้องการหลักฐานที่กล่าวอ้างว่าบิน ลาดิน มีส่วนร่วมโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และฏอลิบานก็เตรียมการที่จะให้มีการไต่สวน หลังจากนั้นก็จะส่งตัวบิน ลาดิน ให้สหรัฐหากพบว่าเขามีความผิด

อย่างไรก็ตาม บุชต้องการแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้นำที่เข้มแข็งที่สุดและเริ่มถล่มอัฟกานิสถานในวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2001

เจ็ดวันต่อมาฏอลิบานแสดงให้เห็นว่าต้องการส่งบิน ลาดิน ไปยังประเทศที่สาม หากสหรัฐหยุดถล่ม

แต่บุชก็ยังแสดงความหนักแน่นให้เห็นโดยในเดือนธันวาคม 2001 ฏอลิบานก็สูญเสียการควบคุมในเมืองญะลาละบัด (Jalalabad) ไป มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ผู้นำฏอลิบานหายตัวไป สหรัฐจึงเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวภายใต้การบริหารที่นำโดยหะมิด กัรซัย (Hamid Karzai) ที่ชื่อของเขากลายเป็นชื่อของสนามบินที่ขณะนี้กลายเป็นสุสานของผู้อพยพบางส่วนจากการพลัดร่วงจากเครื่องบินและการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย ISK (รัฐอิสลามโครอซาน) ที่กลายมาเป็นศัตรูกับฏอลิบานในที่สุด หลังจาก IS-K แสดงความไม่พอใจที่ฏอลิบานหันมาพูดคุยกับสหรัฐและลดความเข้มข้นในการต่อสู้ลงไป

บิน ลาดิน ได้หายตัวไป การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐประสบความล้มเหลวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ในปี 2002 Bush กล่าวว่า “สหรัฐคือผู้ที่เข้ามาช่วยสร้างอัฟกานิสถานให้เป็นอิสระจากความเลวร้าย และเป็นสถานที่ที่ดีกว่าสำหรับการอยู่อาศัย” “เรากำลังทำงานตามประเพณีที่ดีของ Gorge Marshall”

แผนของสหรัฐไม่ทำงาน แต่การโฆษณาของรัฐอัฟกานิสถานกลับประสบความสำเร็จในการสร้างความประทับใจว่าอัฟกานิสถานมีความก้าวหน้าในการปกครอง อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าอย่างแท้จริงที่เห็นได้ ได้แก่ การส่งเสริมสิทธิสตรีเท่านั้น

ในสมัยของโอบามา ไบเดนซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐต้องการให้สหรัฐออกไปจากหล่มโคลนในอัฟกานิสถานแต่ที่ปรึกษาของ Obama ไม่เห็นด้วยกับเขาที่จะเอาทหารออกมาจากอัฟกานิสถานแล้วปล่อยอัฟกานิสถานให้ล่องลอยไปตามชะตากรรมของมันเอง

หลังจากนั้น โอบามาจึงส่งทหารเข้าสู่อัฟกานิสถานอีก 17,000 นายเพื่อสมทบกับทหารที่มีอยู่แล้วที่อัฟกานิสถานจำนวน 36,000 นาย เนื่องจากฏอลิบานได้เพิ่มการโจมตีทหารต่างชาติหนักหน่วงขึ้นเป็นลำดับ

 

ข้อตกลงสหรัฐ-ฏอลิบาน

Trump ต้องการจะทำข้อตกลงกับฏอลิบาน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงโดฮา กาตาร์ โดยกาตาร์เป็นเจ้าภาพและให้การสนับสนุนการประชุม ทั้งนี้ กาตาร์เป็นประเทศเล็กแต่การเมืองใหญ่ (small country big politics) มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว มีสำนักข่าวของตัวเองอย่างอัล-ญะซีเราะฮ์ เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ฯลฯ

ในการเมืองระหว่างประเทศ กาตาร์ได้รับการยอมรับมากกว่าซาอุดีอาระเบียและ UAE กาตาร์จึงกลายเป็นเวทีสำหรับการลงนามเจรจาพูดคุยระหว่างฏอลิบานและสหรัฐในปี 2019

ข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายเป็นข้อตกลงที่จะนำเอาสันติภาพกลับมาอัฟกานิสถานระหว่างรัฐเอมิเรตส์อิสลามของอัฟกานิสถานกับสหรัฐ ซึ่งยังไม่ได้ให้การยอมรับฏอลิบานในฐานะรัฐแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในสัญญาดังกล่าวมีสิ่งที่ควรจะต้องบันทึกไว้ด้วยว่า

1. รัฐบาลของอัชร็อฟ กอนีย์ มิได้อยู่ในฐานะของผู้ทำความตกลงที่จะนำเอาสันติภาพกลับมาสู่อัฟกานิสถาน

2. ให้มีการปล่อยนักโทษ 5,000 คนโดยรัฐบาลของกอนีย์ และ 1,000 คนโดยฏอลิบาน

3. การปล่อยตัวนักโทษและการตกลงในหมู่ชาวอัฟกันจะต้องเริ่มต้นในวันที่ 10 มีนาคม ปี 2020 เนื่องจากมีความล่าช้าในการปล่อยตัวนักโทษ การพูดคุยระหว่างชาวอัฟกันด้วยกันในเรื่องการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลของกอนีย์กับฏอลิบานจะเริ่มต้นในวันที่ 12 เดือนกันยายน ปี 2020 ความเป็นศัตรูระหว่างกอนีย์และอับดุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ (Abdullah Abdullah) หัวหน้าฝ่ายบริหารของรัฐบาลอัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในเหตุผลของความล่าช้า

สำหรับอับดุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีของอัฟกานิสถานและเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่เพิ่งจะสูญเสียอำนาจไปนั้น ผมเคยพบกับเขาที่เยเมนเมื่อหลายปีก่อนในการประชุม OIC ที่กรุงซานา อับดุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ มีบุคลิกดี ทันสมัยและมีแนวคิดที่เป็นสากล

ปัจจุบันฏอลิบานเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนการสนทนาเกี่ยวกับอนาคตของอัฟกานิสถานกับแกนนำรัฐบาลเดิมคืออับดุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ พร้อมกับอดีตผู้นำมุญาฮิดีนอย่างฮิกมัตยาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นการเปิดกว้างของฏอลิบานและการไม่หลบหนีของอับดุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ และฮิกมัตยาร์

4. การพูดคุยระหว่างชาวอัฟกันด้วยกันไม่ค่อยมีความก้าวหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฏอลิบานต้องการมีส่วนในอำนาจที่เป็นกอบเป็นกำ และสหรัฐเองก็มีความเร่งรีบที่จะออกจากอัฟกานิสถานโดยทันทีที่ทหารสหรัฐออกจากประเทศ รัฐบาลกอนีย์ก็อาจถูกถอดได้ไม่ยากนัก

5. ที่ปรึกษาของ Trump ไม่เห็นด้วยกับเขาที่จะให้ถอนทหารของสหรัฐออกมาจากอัฟกานิสถาน

6. ประธานาธิบดี Biden ในฐานะอดีตรองประธานาธิบดีไม่เห็นด้วยกับการส่งทหารมากขึ้นเป็นพิเศษเข้าไปในอัฟกานิสถานของ Obama ในปี 2009 และตัดสินใจให้ทหารของสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานไม่ว่าจะต้องจ่ายด้วยอะไรก็ตาม

เห็นได้ชัดว่าข้อตกลงปี 2019 ไม่ได้ให้ผลต่อการเจรจาระหว่างชาวอัฟกันด้วยกันมากนักก่อนที่สหรัฐจะออกมาจากอัฟกานิสถานทั้งหมด

จนมาถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2021 ได้มีการประกาศถึงแผนการถอนทหารให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม โดย Biden ให้สัญญาณอย่างชัดแจ้งว่า เขาไม่ต้องการรอข้อตกลงการใช้อำนาจร่วมกันของรัฐบาลอัฟกานิสถานกับฏอลิบานแต่อย่างใด