ยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง สำหรับพรรคการเมือง/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง

สำหรับพรรคการเมือง

 

ยุทธศาสตร์ (Strategy) คือการกำหนดวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อให้เกิดผลที่ประสบความสำเร็จตามความตั้งใจโดยประเมินจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทั้งภายในและภายนอกแล้วจึงหาวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นต่อ เป็นรอง ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

นักวางแผนยุทธศาสตร์เชื่อว่า หากมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม แม้สถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำก็ยังสามารถพลิกผันจนกลายเป็นสถานการณ์ที่เป็นต่อได้

ไม่ช้าก็เร็ว การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ย่อมเกิดขึ้น พรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ประสงค์เข้าสู่การเลือกตั้งย่อมต้องประเมินสถานการณ์และกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม

แต่สงครามย่อมมีแพ้ชนะ สิ่งที่คิดและประเมินอาจไม่ใช่ ที่คิดว่าเป็นจุดแข็งอาจเป็นจุดอ่อน การประเมินโอกาสอาจกลายเป็นภัยคุกคาม กำลังรบไพร่พลที่คิดว่าพรั่งพร้อมมีความสามารถถึงเวลาอาจตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม การคิดและการกำหนดยุทธศาสตร์ในวันนี้ยังมีความสำคัญต้องคำนึงถึง ดีกว่าถึงเวลาแล้วมาร่ำร้องว่าไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักเตรียมการ

 

เข้าใจสถานการณ์

สถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงกติกาตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่อยู่ระหว่างรอทูลเกล้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบการเลือกตั้งอย่างน้อย 4 ประการดังนี้

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนระหว่าง ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น 400 : 100 ดังนั้น การมุ่งเน้นการได้ ส.ส.ในสภาที่มากขึ้น ต้องให้ความสำคัญต่อพื้นที่ที่มากขึ้น

โดยต้องติดตามแนวโน้มการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะแบ่งประเทศไทยออกเป็น 400 เขต ว่าแต่ละเขตประกอบด้วยพื้นที่ใดบ้างเพื่อจัดหาผู้สมัครที่เหมาะสม

ประการที่สอง การแยกบัตรเลือกตั้งเป็นสองใบ ซึ่งหมายความว่า พรรคการเมืองต้องให้ความสนใจต่อการสร้างนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน การรวบรวมคนที่เป็นผู้สมัครในบัญชีรายชื่อที่โดดเด่น และการมีผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถดึงดูดคะแนนนิยมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ประการที่สาม พรรคการเมืองที่มีสิทธิส่งบัญชีรายชื่อ ต้องส่งผู้สมัครแบบเขตตั้งแต่หนึ่งเขตขึ้นไป แต่การมีผู้สมัครมากเขตย่อมเป็นผลดีกว่ามีผู้สมัครน้อยเขต

ประการที่สี่ การนับคะแนนพื้นฐานของการมี ส.ส.บัญชีหนึ่งคน ค่าเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 350,000 คะแนน (คิดจากประมาณการผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 70 หรือหากจะรอโอกาสในกรณีปัดเศษ เศษที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อควรมีไม่น้อยกว่า 200,000 คะแนน

ดังนั้น โอกาสของพรรคที่เคยมีคะแนนทั้งประเทศไม่ถึงหนึ่งแสนคะแนนนั้นยากที่จะได้ ส.ส.เหมือนเช่นการเลือกตั้งปีเมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ.2562

 

พรรคการเมืองกับยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง

พรรคการเมืองมีความแตกต่างกัน พรรคใหม่พรรคเก่า พรรคเล็กพรรคใหญ่ นโยบายและทิศทางของพรรค จุดยืนพรรคในทางการเมือง ผู้สมัครและผู้นำพรรค ทุกประเด็นนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดยุทธศาสตร์พรรคในการเลือกตั้ง ประสบการณ์จากการสังเกตการณ์ทางการเมืองไทยบอกให้เรารู้ว่า ทฤษฎีการเมืองต่างประเทศบางครั้งอาจไม่สามารถอธิบายการเมืองไทยได้

ประการแรก พรรคเก่าไม่ได้เปรียบพรรคใหม่ สำหรับการเมืองในประเทศอื่นทั่วไป พรรคเก่าย่อมมีความได้เปรียบพรรคใหม่ เนื่องจากพรรคเก่าย่อมมีพัฒนาการ มีความเข้มแข็งทั้งในด้านกำลังคน การสนับสนุนของกลุ่มทุน การสั่งสมทรัพยากร และการสร้างฐานคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้ง แต่สำหรับประเทศไทย การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าไม่เป็นจริงนัก เราจึงเห็นความพยายามของฝ่ายการเมืองจำนวนไม่น้อยในการแยกตัวตั้งพรรคใหม่มากกว่าการพยายามฟื้นฟูพรรคเก่า

ประการที่สอง พรรคเล็กเสียเปรียบพรรคใหญ่ ภายใต้กติกาการเลือกตั้งโดยใช้บัตรสองใบและระบบนับคะแนนแบบคู่ขนานที่แก้ไขใหม่ สร้างความได้เปรียบให้แก่พรรคขนาดใหญ่แน่นอน ทั้งนี้เพราะพรรคใหญ่ที่มี ส.ส.จำนวนมากในสังกัด นอกจากจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งในเขต ยังมีส่วนเพิ่มจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสัดส่วน ส.ส.ที่พึงจะมีเช่นในการออกแบบของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560

การแยกคำนวณบัตรสองใบออกจากกัน ในขณะที่ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน ทำให้ค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน เพิ่มเป็นประมาณ 350,000 เสียงต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน จากเดิมที่ประมาณ 70,000 เสียงต่อคนในระบบจัดสรรปันส่วนผสมแบบเดิม

ประการที่สาม ผู้สมัครเขตไม่ใช่จุดเด่นเท่าผู้นำพรรค ระบบการเมืองแบบเดิม ผู้สมัคร ส.ส.ในระดับเขตต้องเป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง มีเงิน มีบารมี มีหัวคะแนน มีความนิยมชมชอบจากประชาชนจากผลงาน ประสบการณ์หรือบุคลิกภาพส่วนบุคคล

แต่ในการเลือกตั้งตามกติกาที่ต้องให้มีการเสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 แห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 กลับทำให้พฤติกรรมการตัดสินใจของประชาชนไปทุ่มเทการให้ความสำคัญว่า พรรคเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี มากกว่าที่จะดูคุณสมบัติของผู้สมัครในพื้นที่

ประการที่สี่ การส่งทุกเขตไม่มีความหมายเท่าการสร้างความนิยมจากส่วนกลาง ภายใต้มาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ระบุว่า พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้

นั่นหมายความว่า ขอให้ส่งเขตเพียงเขตเดียว ก็สามารถมีชื่อพรรคการเมืองในบัตรบัญชีรายชื่อในบัตรเลือกตั้งใบที่สองให้ประชาชนเลือกได้ทั้งประเทศ แตกต่างจากเดิมที่เป็นบัตรใบเดียวที่หากไม่ส่งเขตก็ไม่ได้คะแนนที่จะไปคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีจากเขตเลือกตั้งนั้น

ดังนั้น หากพรรคการเมืองมีการวางยุทธศาสตร์การหาเสียงจากส่วนกลางที่ดี สามารถสร้างการรับรู้ในภาพกว้างทั่วไปประเทศก็มีสิทธิได้คะแนนจากบัตรใบที่สองโดยไม่เหนื่อย

และในมุมกลับกัน หากพรรคการเมืองที่จับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคที่มีแนวทางคล้ายกัน การส่งครบทุกเขตคือการแย่งคะแนนกันเองจนถึงขึ้นแพ้ทั้งคู่ได้

ประการที่ห้า นโยบายรูปธรรมเหนือกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม แน่นอนว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมสัมผัสกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากนโยบายได้ชัดเจนว่าได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ดังนั้น ตัวอย่างของนโยบายการรักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกโรคในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จึงยังคงอยู่ในใจของประชาชน หรือการชูนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของพรรคพลังประชารัฐย่อมมีผลต่อการเลือกตั้ง

ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจึงเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคการเมืองจึงพยายามแสวงหานโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อเอาชนะใจประชาชน

ประการที่หก คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่ามีความนิยมในจุดยืนพรรคคนละแบบ ความเป็นอนุรักษนิยม (Conservative) นั้นติดอยู่กับคนรุ่นเก่าที่เติบโตมากับการปลูกฝังให้เชื่อในของเดิมและหวาดหวั่นกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะยอมรับในความคิดเป็นเสรีนิยม (Liberal) และแสวงหาความเปลี่ยนแปลงมากกว่าการติดยึดอยู่กับสิ่งเดิม

ดังนั้น พฤติกรรมการเลือกตั้งระหว่างคนสองรุ่นนี้จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การแสดงออกทางจุดยืนของพรรคการเมืองจึงมีความหมายต่อการตัดสินใจเลือกของคนแต่ละรุ่น นอกจากนี้ สิ่งที่พรรคการเมืองต้องเข้าใจในสัจธรรมคือ นับวันคนรุ่นใหม่จะขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่า เนื่องจากคนรุ่นเก่านับวันนับล้วนหายตายจาก คนรุ่นใหม่นับวันยิ่งเข้ามาแทนที่ การเข้าใจถึงความต้องการคนรุ่นใหม่และแสดงออกทางจุดยืนที่สอดคล้องกับค่านิยม ทัศนคติของคนรุ่นใหม่จึงมีความหมายยิ่ง

การเลือกตั้งยังไม่ทราบจะมาเร็วหรือช้า แต่การขยับตัวของพรรคการเมืองเพื่อลงพื้นที่อย่างคึกคักและป่าวประกาศเปิดตัวผู้ที่พรรคจะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีกันแล้วคงแปลความหมายได้ไม่ยากว่า ทุกฝ่ายเล็งเห็นว่า คงอีกไม่นานแล้ว

ถึงเวลากำหนดยุทธศาสตร์ของแต่ละพรรคแล้ว