ไทยสร้างไทย ลั่นค้าน “พ.ร.บ.การศึกษา” ซ้ำเติมเหลื่อมล้ำ จี้ศธ.หยุดจับนิทานสอนเสรีภาพเด็ก

ไทยสร้างไทย คัดค้าน “พ.ร.บ.การศึกษา” ชี้ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ จี้ ศธ. เลิกทำเกินหน้าที่ หยุดจับนิทานสอนเสรีภาพเด็ก

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย แสดงความคิดเห็นคัดค้านร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยกล่าวว่าร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ เขียนแนวทางการจัดการศึกษาแบบย้อนยุค ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของโลก ในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่ควรพัฒนาโดยใช้เด็กเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กเติบโตไปเป็นพลเมืองโลก (Global citizen) และร่างกฎหมายการศึกษาดังกล่าว ขาดความหลากหลายของการเรียนรู้ ที่มีทั้งการเรียนในห้องเรียน และการเรียนแบบ Home school ขาดความยืดหยุ่นจนทำให้ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้อย่างแท้จริง ซ้ำร้ายยังขาดความเท่าเทียมของคุณภาพการศึกษาในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ

“เนื้อหาสาระของร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีปัญหาหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 21 มีเนื้อความบางส่วนให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สามารถจัดเก็บตามความจำเป็นได้ จนอาจทำให้เด็กไทยหลายคนต้องเสียโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพไป และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ที่บัญญัติเอาไว้ถึงหน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษาโดยไม่จัดเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ และไม่เป็นไปตามหลักการการศึกษาขั้นพื้นฐานของสากลตามกฎบัตรปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กตามข้อ 26.1 ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของสหประชาชาติ” น.ส. ธิดารัตน์กล่าว

ตนจึงขอวอนให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ปรับแนวคิดการบริหารการศึกษาเสียใหม่ ต้องมุ่งเน้นให้เด็กไทยเป็นพลเมืองโลก โอบรับความหลากหลายของเด็กไทย ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเท่าเทียม อย่าให้เด็กไทยเป็นหนูทดลองการศึกษาของรัฐมนตรี เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เรามี รมว. ศึกษาธิการ ไปแล้ว 20 คน เฉลี่ยแล้วเป็นรัฐมนตรีคนละ 1 ปี ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐมนตรี ก็มักมีการเปลี่ยนนโยบายการศึกษาด้วยทุกครั้ง ไม่มากก็น้อย

“หน้าที่หลักของรัฐมนตรี คือ การบริหารการศึกษาให้ดีที่สุด ไม่ใช่การไปไล่เอาผิดหนังสือนิทานที่สอนเรื่องสิทธิ เสรีภาพให้กับเด็ก เพราะนอกจากจะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐมนตรีแล้ว ยังไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อระบบการศึกษาไทยที่ต้องการการปฏิรูปโดยเร่งด่วน เราได้ยินคำนี้จากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ตั้งแต่ท่านทำรัฐประหารยึดอำนาจมา 7 ปีกว่า และยังเขียนเรื่องนี้ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่เรากลับยังไม่เห็นการปฏิรูปการศึกษาใดๆ มีแต่เค้าลางของการศึกษาที่ถอยหลัง จากร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าว จึงไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปการศึกษาในความหมายของนายกฯ คือ การทำให้ดีขึ้นหรือแย่ลงกันแน่” นางสาวธิดารัตน์ กล่าวเสริม