หนุ่มเมืองจันท์ : 5 ตุลาฯ และ ‘ฟ้าสาง’

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC
ภาพประกอบจากเพจ Eyedropper Fill

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC

 

5 ตุลาฯ และ ‘ฟ้าสาง’

 

ผมเพิ่งอ่านหนังสือ “เกิดเดือนตุลา” ของ “สุธรรม แสงประทุม” จบ

เรื่องนี้เคยลงเป็นตอนๆ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ในปี 2544

รวมเล่มครั้งแรกกับสำนักพิมพ์มติชนในปี 2555

และเพิ่งพิมพ์ใหม่กับสำนักพิมพ์แสงดาวของพี่จรัญ หอมเทียนทอง ในปี 2563

ตอนที่ลง “มติชนสุดสัปดาห์” ผมก็ตามอ่านทุกตอน

แต่วันนี้ที่ซื้อฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดเพราะอยากอ่านซ้ำอีกครั้ง

เรื่องเดิมเมื่อกลับมาอ่านใหม่ในเวลาที่แตกต่างกัน

ความรู้สึกที่ได้รับไม่เหมือนเดิม

ก่อนหน้านี้มีน้องคนหนึ่งที่จัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาฯ มาเล่าให้ฟังถึงแนวการจัดงานปีนี้

แทนที่จะพูดถึง “ความสูญเสีย” ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพียงอย่างเดียวเหมือนทุกๆ ปี

เขาชวนทุกคนหมุนเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปสู่ปี 2516-2519 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของคนหนุ่ม-สาวยุคนั้น

ทุกคนมีความหวังถึงสังคมที่ดีกว่า

มีความปรารถนาที่จะทำให้สังคมไทยลดความเหลื่อมล้ำ เท่าเทียมกัน

มีหลายกิจกรรมที่คนหนุ่ม-สาวลงมือทำเพื่อสังคม

แต่เรื่องราวเหล่านี้สูญหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นหลัง

น้องๆ ต้องการพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้

และที่ตั้งชื่อว่า “5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง”

เขาตีความว่า “ความฝัน” ที่งดงามนั้นได้ถูกทำลายให้มลายหายไปในค่ำคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519

ก่อนเหตุการณ์สังหารโหดกลางเมืองจะเกิดขึ้น

…วันที่ 6 ตุลาคม 2519

เมื่อ “ฟ้าสาง”

 

 

ผมอ่านหนังสือ “เกิดเดือนตุลา” เพื่อทบทวนว่าคนหนุ่มสาวยุคนั้นทำอะไรกันบ้าง

และความรู้สึกของเขาในวันนั้นเป็นอย่างไร

“สุธรรม” อธิบายว่าหลัง 14 ตุลาคม 2516 เมื่อขบวนการนิสิตนักศึกษาโค่นล้มเผด็จการ “ถนอม-ประภาส” สำเร็จ

นักศึกษากลายเป็น “ความหวัง” ของประชาชนที่ถูกกดขี่

“เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” เคยเปรียบเปรยว่า 14 ตุลาคม 2516 เหมือนการเปิดฝาท่อระบายน้ำที่หมักหมมสิ่งสกปรกมากมาย

กลิ่นเหม็นตลบอบอวลคลุ้งไปทั่ว

ขบวนการนิสิตนักศึกษากลายเป็นหัวขบวนในการต่อสู้

“สุธรรม” เล่าว่านักศึกษาลงไปเผยแพร่ประชาธิปไตยในทุกจังหวัด เพราะประเทศไทยถูกปกครองด้วยระบบเผด็จการมายาวนาน

และเมื่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รัฐบาลดึงนักศึกษาให้มาเป็นคณะอนุกรรมการ ลงไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

และนำความเห็นนั้นมาประกอบในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

มีโครงการกลับสู่บ้านเกิดที่จัดโดยทบวงมหาวิทยาลัย กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

เป็นที่มาของการรับรู้ความเดือดร้อนของประชาชน

“สุธรรม” ได้รู้ว่าช่วงการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างหนักในปี 2514-2515 ที่พัทลุง

ใครที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จะถูกจับไปฆ่า

จับขึ้นเขา เผาลงถัง

หรือจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วถูกถีบลงมา

“ผมไม่อยากเชื่อว่านี่เป็นการกระทำของมนุษย์ ของคนไทยที่กระทำต่อมนุษย์ ต่อคนไทยด้วยกันเอง

พาตัวเองย้อนกลับไปในวันนั้น ผมยังอายุไม่เต็ม 20 ยังเด็กเหลือเกิน แต่เด็กอย่างผมและเพื่อนนักศึกษาด้วยกันต้องมารับรู้ทุกข์เข็ญความไม่เป็นธรรมที่คนไทยมีต่อคนไทย

เราฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร

เราฆ่าคนเพื่ออะไร?

เป็นคำถามที่ปวดร้าวขมขื่นเกินไปที่จะคิดและตอบ”

“สุธรรม” คงไม่คิดว่าเรื่องเลวร้ายที่ได้รับฟังมาในวันนั้น

เขาจะได้เจอสิ่งที่โหดเหี้ยมกว่ากับตัวเอง

ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

 

“โชคดีที่ผมยังมีชีวิตยืนยาวจนได้มีโอกาสพบและได้มีโอกาสเห็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นในชีวิต

นั่นคือ ได้พบเห็นสัมผัสการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา และประชาชนรุ่นใหม่ชุมนุมแสดงพลังเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ โดยเสนอปัญหาและยื่นข้อเรียกร้องแหลมคมตรงประเด็น

ซึ่งคนรุ่นผมไม่กล้าคิดและทำมาก่อน”

“สุธรรม แสงประทุม” เขียนในคำนำผู้เขียนฉบับพิมพ์ครั้งใหม่ด้วยความหวังกับคนหนุ่ม-สาวในวันนี้

“การปะทะของแรงเคลื่อนอันเป็นพลังแห่งอนาคตกับคลื่นลูกเก่าซึ่งมีอำนาจรัฐที่ได้มาด้วยการใช้กำลังอาวุธและกลไกราชการหล่อเลี้ยงรองรับ หยั่งรากในสังคมไทยอย่างยาวนานคงไม่จบอย่างง่ายๆ”

และหนึ่งในเรื่องราวที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นใหม่สนใจ

คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ตั้งแต่ MV ของเพลง “ประเทศกูมี” ใช้ฉากเก้าอี้ตีศพที่ต้นมะขาม

หนึ่งในภาพจำความโหดร้ายของ 6 ตุลาคม 2519

คนหนุ่ม-สาวเริ่มสนใจหาข้อมูลของประวัติศาสตร์ที่ถูกลบเลือนไปจากตำรา

น้องที่ทำโครงการ” 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง” ก็คงคิดคล้ายกัน

เขาต้องการเชื่อมระหว่าง “ปัจจุบัน” กับ “อดีต”

อยากให้ทุกคนได้ตระหนักว่าคนหนุ่ม-สาวในวันนั้นกับคนหนุ่ม-สาวในวันนี้

ทุกคนมี “ความฝัน” ที่ไม่แตกต่างกันเลย

อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

ทำ “พรุ่งนี้” ให้ดีกว่า “วันก่อน”

ด้านหนึ่ง เหมือนนำประวัติศาสตร์กระตุ้นเตือนคนหนุ่ม-สาวในวันนี้

แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันคือ กระตุ้น “ความจำ” ของคนหนุ่ม-สาวในวันก่อน

ถ้าปี 2519 เขาอายุ 20 ปี

45 ปีผ่านไป

วันนี้เขาอายุ 65 ปี

เป็น “คุณลุง” ของคนหนุ่ม-สาวในวันนี้

ถ้าโครงการ “5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง” กระตุ้นความทรงจำในอดีต

วันที่เขาเป็นนิสิตนักศึกษา

เขาเคยคิด

เคยฝันไว้อย่างไร

บางทีคุณลุงเหล่านี้จะได้เข้าใจ “คนหนุ่ม-สาว” วันนี้มากขึ้น

เข้าใจว่าเด็กเหล่านี้ก็คือตัวคุณในอดีต

เราไม่สามารถหยุดยั้ง “ความเปลี่ยนแปลง” ได้

เข็มนาฬิกาต้องเดินหน้าต่อไป

เช่นเดียวกับแสงตะวันแห่งกาลเวลา