มนุษย์ชั่วร้ายตั้งแต่เกิด? (จบ)/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

มนุษย์ชั่วร้ายตั้งแต่เกิด? (จบ)

 

มาถึงทางแยกว่า ตกลงแล้วความเชื่อว่าธรรมชาติมนุษย์ชั่วร้ายต้องถูกควบคุมโดยผู้ครองอำนาจผู้เด็ดขาดซึ่งทำให้ประชาชนขาดเสรีภาพ

หรือความเชื่อว่าเราควรจะปล่อยให้มนุษย์มีเสรีภาพ มีความฝัน และรีดเค้นศักยภาพของตัวเองออกมาเพื่อพัฒนาโลก (มนุษย์) แบบไหนถูก แบบไหนดีกว่ากัน

ทว่า ก่อนตอบคำถามนี้เราควรหยุดคิดนิดหนึ่งว่าเหตุใดสมการทั้งหลายจึงมีเพียง ‘มนุษย์’ เท่านั้น

 

มาร์แซล ซาห์ลินส์ บอกว่านี่คือวิธีเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดตลอดกาลซึ่งวางอยู่บนการเล่าเรื่องที่มีเพียงธรรมชาติมนุษย์เท่านั้นที่ขัดแย้งกับธรรมชาติมนุษย์ วิธีเขียนเช่นนี้สถาปนาให้ธรรมชาติมนุษย์กลายเป็นผู้ชนะตลอดกาลของประวัติศาสตร์โลก

เพราะทั้ง ‘ธรรมชาติ’ และ ‘วัฒนธรรม’ ทั้งหมดที่พูดมานั้นเป็นเรื่องของ ‘มนุษย์’!

ผู้เขียนกล่าวถึงคริสต์ศาสนาในแง่ที่ไม่สามารถยอมรับการดำรงอยู่ของพระเจ้าหรือเทพแบบอื่นได้ พระเจ้าจึงมิได้ดำรงอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของจักรวาลที่พระองค์สร้างขึ้น ดังเช่นที่ศาสนาคริสต์แยกตัวออกจากลัทธินอกศาสนาต่างๆ โดยประณามการบูชาธรรมชาติหรือทวยเทพอื่น ธรรมชาติจึงปราศจากคุณค่าทางจิตวิญญาณ

นักบุญออกุสตินตั้งคำถามว่า “แต่อะไรเล่าคือพระผู้เป็นเจ้า…คำตอบคือ ‘ข้าพเจ้าไม่ใช่พระเจ้า’ และสรรพสิ่งในโลกก็ล้วนแล้วแต่เหมือนกันทั้งสิ้น”

ตรงนี้เองที่น่าสนใจ เพราะสำหรับวัฒนธรรมที่แตกต่างไปอาจไม่มอง ‘สิ่งอื่น’ แยกขาดจาก ‘ผู้ให้กำเนิด’

 

ชาวเมารีอาศัยอยู่ในจักรวาลที่ประกอบไปด้วยบุคคลสารพัดประเภทที่ล้วนกำเนิดมาจากพ่อแม่คู่แรก นั่นคือผืนดิน (Papa) และสวรรค์ (Rangi) สรรพสิ่งในจักรวาลนั้นจึงเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน สิ่งต่างๆ ที่รายล้อมอยู่คือญาติของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ภูเขา นก แมลง ปลา ก้อนหิน ฯลฯ ทั้งหมด

ชาวเชวองในมาเลเซียมองว่าตัวเองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นอมนุษย์ (สิ่งต่างๆ) มากกว่าคนขาวหรือมนุษย์คนอื่นที่ห่างไกลออกไปเสียอีก พวกเขาแบ่งปันที่อยู่อาศัยและธรรมเนียมปฏิบัติร่วมกันกับพืช สัตว์ สิ่งของ และผี ซึ่งพวกเขามองบุคคลเหล่านี้ว่าเป็น ‘พวกของเขา’

ผู้เฒ่าเผ่ายูคาเกียในไซบีเรียซึ่งเป็นสังคมล่าสัตว์อธิบายว่าทั้งสัตว์ ต้นไม้ และแม่น้ำต่างก็เป็นบุคคลเหมือนกับเรา เนื่องจากพวกเขามีจิตวิญญาณสองดวงอยู่ภายใน พวกเขาเคลื่อนที่ เติบโต และหายใจ ขณะที่ก้อนหิน น้ำแข็ง และอาหารมีจิตวิญญาณหนึ่งดวง ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แต่ในทางปฏิบัติพวกเขาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความแตกต่างนี้มากนัก

ผมนึกถึงชาวอินเดียนอเมริกันหลายเผ่าที่ได้พูดคุยระหว่างเดินทางไปทำสารคดี พวกเขามีแผ่นดินเป็นแม่ มีท้องฟ้าเป็นพ่อ และเคารพสรรพสิ่งรอบตัวในสถานะ ‘บุคคล’ เท่าเทียมกับตัวเอง

 

นี่คือความแตกต่างสำคัญระหว่างวิธีมองแบบตะวันตกซึ่งมองว่ามนุษย์มีธรรมชาติของความเป็นสัตว์ (เราวิวัฒนาการมาจนเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญาดีกว่าสัตว์อื่น) แต่กลุ่มชนอื่นกลับยึดถือหลักการตรงกันข้ามโดยมองว่าสัตว์นั้นมีธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

ยิ่งไปกว่านั้น บางกลุ่มชนยังเห็นว่าสัตว์สามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้

และมนุษย์ก็สามารถปรากฏอยู่ในรูปกายแบบสัตว์หรืออาศัยในชุมชนของสัตว์ได้ ซึ่งคือวัฒนธรรมของกิจกรรมล่าสัตว์

เหล่านี้นำมาซึ่งการมองสิ่งอื่นในฐานะของสังคมเดียวกัน เคารพกัน พึ่งพาอาศัยกัน เห็นอกเห็นใจกัน

นำไปสู่ข้อห้าม ความสงสาร ปฏิสัมพันธ์และการให้ความหมายเชิงวัฒนธรรมที่แตกต่างไป

ในสังคมแบบนั้น มนุษย์ไม่ได้ฆ่าสัตว์เพื่อเอาชีวิตรอด แต่การล่าสัตว์คือการกระทำของความรัก ผมยังจำได้ว่าชาวอเมริกันพื้นเมืองบอกกับผมว่าบรรพบุรุษของพวกเขากล่าวขอบคุณสัตว์ที่ตายเพื่อมอบพลังงานชีวิตให้พวกเขาเสมอ

ทั้งยังใช้ทรัพยากรจากสัตว์ตัวนั้นอย่างคุ้มค่าที่สุดอีกด้วย

สำหรับชาวทูคาโนในอเมซอน การล่าสัตว์คือการหาคู่และกิจกรรมทางเพศ คำกริยา ‘ล่า’ สามารถถูกแปลว่า ‘ร่วมรักกับสัตว์’ ได้ด้วย

 

มาถึงตรงนี้เราจึงเข้าใจว่าชนหลายกลุ่มคลุมร่างกายด้วยขนสัตว์ใหญ่และประดับประดาด้วยขนนกด้วยความคิดความรู้สึกแบบไหน การทำเช่นนั้นไม่ต่างอะไรกับที่สัตว์ปกคลุมและบดบังความเป็นบุคคลของมันภายใต้รูปกายที่เป็นสัตว์เช่นกัน พวกเขาเชื่อว่าสัตว์มีชุมชนของมันเอง มีหัวหน้าเผ่า มีการแต่งงาน มีงานฉลอง และในทัศนะของสัตว์ พวกมันมองตนเองเป็นมนุษย์

เช่นนี้แล้ว ‘ตัวตั้ง’ ของการมองธรรมชาติมนุษย์จึงแตกต่างกันระหว่างโลกตะวันตกกับกลุ่มชนอื่นๆ เมื่อตะวันตกมองว่าธรรมชาติของความเป็นสัตว์ในตัวมนุษย์เป็นสิ่งควรถูกกำราบ ขณะที่กลุ่มชนจำนวนมากมองว่าสัตว์เคยเป็นมนุษย์มาก่อน และพวกมันก็ยังคงเป็นมนุษย์

หากมองด้วยสายตาแบบหลัง ‘หมาป่าในตัวมนุษย์’ จึงมิใช่เรื่องชั่วร้ายน่ากลัว ตรงกันข้าม เราสามารถมองเห็นคุณค่าของหมาป่าที่ไม่ต่างจากมนุษย์ พวกมันอยู่รวมกันเป็นฝูง เคารพกัน ร่วมมือกัน และด้วยวิธีเหล่านี้เองทำให้ฝูงหมาป่ายังคงรักษาระเบียบเอาไว้ได้

มิใช่ ‘ความเป็นหมาป่า’ ชั่วร้ายไร้ระเบียบ แต่กลับเป็นตรงกันข้าม!

มาร์แซล ซาห์ลินส์ บอกว่าวิธีคิดเรื่องสัตว์ร้ายในตัวมนุษย์คือภาพสะท้อนความเกลียดชังตนเองอย่างต่อเนื่องหลายศตวรรษในหมู่ชาวตะวันตก

 

แล้วตกลงเราเกิดมาพร้อมความชั่วร้ายหรือเปล่า?

ถ้าคำตอบคือใช่ วัยเด็กย่อมเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ ‘วัฒนธรรม’ ต้องทำหน้าที่กดข่ม ‘ธรรมชาติ’ เลวทรามนั้นไว้แล้วชักจูงไปในทางที่ดี ถูกต้องไหมครับ นั่นคือวิธีและวิถีที่เป็นอยู่ในสังคมส่วนใหญ่

กระนั้น ในหมู่ชนชาวฮาเก็นมิได้มีวิธีการทำนองนั้นแต่อย่างใด พวกเขาไม่ได้เรียกร้องเด็กให้ฝึกฝนกล่อมเกลาหรือมีสภาวะก่อนสังคมใดๆ ให้กดข่ม สังคมจึงไม่ใช่ชุดกลไกการควบคุมที่อยู่เหนือบุคคล

ความเชื่อที่พบเห็นทั่วไปคือ เด็กทารกยังไม่ถูกนับว่าเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ เด็กๆ จะค่อยๆ บรรลุความเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่น เมื่อต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น เหล่านี้เองที่ค่อยๆ ปั้นนิสัยใจคอของเด็กขึ้นมา ซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติ สังคมไม่ถูกมองเป็น ‘ผู้คุมกฎ’ คอยกำราบความชั่วร้ายในตัวมนุษย์

สำหรับชนที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก เด็กทารกคือกระบวนการกลายเป็นมนุษย์ แต่สำหรับชาวตะวันตก เด็กทารกคือความเป็นสัตว์ที่ต้องถูกชำระล้างออกไป–มาร์แซล ซาห์ลินส์ กล่าวไว้อย่างน่าคิด

จึงไม่แปลกที่ชาวตะวันตกมักมองคนอื่นด้วยแว่นของการมองว่า ‘ป่าเถื่อน’ ต้องถูก ‘ทำให้ศิวิไลซ์’ (Civilized หมายถึงพวกเรา) เช่นเดียวกับธรรมชาติต้องถูกทำให้มีวัฒนธรรม ร่างกายต้องถูกควบคุมขัดเกลาด้วยจิตใจ สิ่งนี้สามารถอธิบายหลายเรื่องในโลกตะวันตกที่มีผลไปทั่วโลกได้ตั้งแต่วิธีคิดทางศาสนาไปจนถึงลัทธิล่าอาณานิคม และวิธีมองแบบทวิลักษณ์ ไม่ดีก็เลว ไม่ถูกก็ผิด ไม่ใช่พวกกูก็เป็นศัตรูกัน

เพราะสำหรับแว่นแบบตะวันตกแล้ว ถูก-ผิด ดี-ชั่ว นั้นชัดเจน และจำเป็นต้องจัดการ

 

คราวนี้มาถึงคำตอบจากหนังสือเล่มนี้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ดีหรือชั่วกันแน่?

มาร์แซล ซาห์ลินส์ เหมือนจะสรุปว่า ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว มนุษย์ถูกสร้างขึ้นภายในสังคม และมนุษย์ก็แตกต่างกันไปในแต่ละสังคม ในสังคมที่พวกเขาถือกำเนิดมา พวกเขาสามารถรับรู้และมีอารมณ์ความรู้สึกได้จากบรรดาผู้คนรอบตัวปรับแต่งวิถีทางแห่งชีวิตของพวกเขา ตามเงื่อนไขในสังคมนั้นๆ

อ่านมาจบ ผมเข้าใจว่า ‘ธรรมชาติ’ ของมนุษย์คือธรรมชาติของการเรียนรู้เพื่อเอาตัวรอด ดีหรือเลวขึ้นอยู่กับใช้ไม้บรรทัดของใครวัด แต่มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่พยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขรอบตัวเพื่ออยู่รอดและเติบโตต่อไป

เรากลายเป็น ‘ปัจเจกบุคคล’ จากการหล่อหลอมของ ‘สังคม’ ทว่า มิได้หมายความว่าสังคมควบคุมบัญชาเรา หากคือสังคมเป็นองค์ประกอบที่เอื้อให้เราสร้างสรรต์ตนเองขึ้นมาผ่านกิจกรรมต่างๆ

คลิฟฟอร์ด เกียซ บรรยายไว้ว่า เมื่อชาวชวากล่าวว่า “หากจะเป็นมนุษย์ ก็จงเป็นชาวชวา” พวกเขาพูดถูกในความหมายที่ว่า “มันไม่มีธรรมชาติมนุษย์ใดๆ ที่ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระจากวัฒนธรรม”

นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า “มันไม่ใช่ว่าพวกเราถูกสาปโดยธรรมชาติอันฝืนมิได้ให้แสวงหาประโยชน์ใส่ตนโดยไม่คำนึงถึงใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง และทำลายการดำรงอยู่เชิงสังคมของตัวเอง” มาร์แซล ซาห์ลินส์ บอกว่านี่คือความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง

และความเข้าใจผิดนี้ก็มีส่วนในการก่อร่างอารยธรรม สงคราม การฆ่าฟัน ความเกลียดชัง การบังคับขู่เข็ญให้คนเปลี่ยนความเชื่อเปลี่ยนศาสนา การกำจัดอีกฝ่ายให้หมดสิ้นไป

มนุษย์ชั่วร้ายโดยธรรมชาติ หรือมนุษย์ชั่วร้ายเพราะเราคิดว่ามนุษย์ชั่วร้ายกันแน่?