ทุบ-เผาป้อม จร. ลูบคมตำรวจ ‘บิ๊กปั๊ด’ สั่ง ผกก.สแตนด์บาย 24 ช.ม. ตร.ลั่น เอาอยู่สิ้น ก.ย. ดินแดงจบแน่/โล่เงิน

โล่เงิน

 

ทุบ-เผาป้อม จร. ลูบคมตำรวจ

‘บิ๊กปั๊ด’ สั่ง ผกก.สแตนด์บาย 24 ช.ม.

ตร.ลั่น เอาอยู่สิ้น ก.ย. ดินแดงจบแน่

 

กลางดึกวันที่ 23 กันยายน เกิดเหตุกลุ่มวัยรุ่นรวมตัวขับรถจักรยานยนต์จำนวน 15-20 คัน ตระเวนทุบทำลายและเผาป้อมควบคุมสัญญาณไฟจราจรกลางกรุง จำนวน 6 จุด ได้แก่ บริเวณแยกสะพานควาย แยกประดิพัทธ์ ด่วนระนอง ท้องที่ สน.บางซื่อ, แยกราชประสงค์ ท้องที่ สน.ลุมพินี, แยกอุรุพงษ์ ท้องที่ สน.พญาไท และแยกมิตรสัมพันธ์ ท้องที่ สน.มักกะสัน ได้รับความเสียหายแทบทั้งหมด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมองว่า เป็นความเชื่อมโยงจากการเข้ากระชับพื้นที่หน้ากรมดุริยางค์ทหารบก และถนนมิตรไมตรี และผู้ก่อเหตุยังคงเป็นวัยรุ่นกลุ่มเดิมๆ ที่มาปักหลักขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริเวณกรมดุริยางค์ทหารบก ใกล้กับบ้านพักนายกฯ ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

ซึ่งการเผาและทุบทำลายป้อมควบคุมสัญญาณไฟจราจร ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก

ย้อนไปเมื่อ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ได้มีวิทยุสั่งการไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 แจ้งสายตรวจทุกสถานีตำรวจ ให้นำอาวุธปืนยาว ลูกซอง กระสุนยาง ออกไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันทรัพย์สินทางราชการ ป้อมจราจร ตู้ยาม สถานีตำรวจ และให้เป็นไปตามยุทธวิธี โดยให้ผู้บังคับบัญชากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

สาเหตุการออกคำสั่งครั้งนั้น เนื่องจากหลังสลายการชุมนุม มีวัยรุ่นบางส่วนได้แตกกระจายจากบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดงไปยังสถานที่ต่างๆ จากนั้นได้ทำลายทรัพย์สินของทางราชการโดยเฉพาะตู้กดสัญญาณไฟจราจร ป้อมจราจร หรือตู้ยามและสถานีย่อยต่างๆ จนได้รับความเสียหาย

แต่ยังคงมีการก่อเหตุลูบคมตำรวจอย่างต่อเนื่อง 19 สิงหาคม กลุ่มรถจักรยานยนต์ประมาณ 30 คัน ถูกกระชับพื้นที่จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาได้ตระเวนทุบทำลายตู้จราจรที่บริเวณแยกสวรรคโลก, แยกสุโขทัย, แยกสามเสน, แยกเศรษฐศิริ นอกจากนี้ ยังมีการทุบกระจกรถสายตรวจ สน.ดุสิต ที่บริเวณแยกอุภัยเจษฏทิศ

หลังเกิดเหตุ “บิ๊กปั๊ด” ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตำรวจต้องปรับยุทธวิธีการใช้กำลัง การบังคับใช้กฎหมาย และเรื่องการข่าว พร้อมย้ำว่า ตำรวจไม่ได้วิ่งตามม็อบ แต่เป็นผู้ก่อเหตุ แต่อาจเป็นเส้นเบลอๆ ระหว่างม็อบกับผู้ที่ก่อเหตุ ซึ่งเขาลงมือกระทำเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวาย กระทบต่อภาพลักษณ์ในเรื่องรักษาความปลอดภัย ความมั่นคง กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกประชาชน และหวังผลทางการเมือง

ส่วนจะมีพัฒนาการที่รุนแรงกว่านี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดการของตำรวจ ซึ่งต้องจัดการให้ได้

“การกระทำแบบนี้ไม่ใช่อาชญากรทั่วไป จะเห็นว่าตั้งแต่สิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีการจับกุมผู้ก่อเหตุกว่า 400 ราย ทุกครั้งที่จับ ผู้ถูกจับกุมจะมีความรู้เทคนิคข้อกฎหมายต่างๆ มากขึ้น เห็นจากมีฝ่ายกฎหมายที่พร้อมปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง พอมีคนโดนจับจะมาทันที ตอนนี้ได้พูดคุยกับฝ่ายสอบสวนว่าการบังคับใช้กฎหมายให้ดูเรื่องฐานความผิดอื่นๆ ถ้ามีองค์ประกอบความผิดอื่น เช่น อั้งยี่ ซ่องโจร ให้ไปรวบรวมพยานหลักฐานมา”

ผบ.ตร.กล่าว

หลัง ผบ.ตร.ส่งสัญญาณเอาจริง

กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น.ระบุว่า มั่นใจตำรวจเอาอยู่ทั้งมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้กระทำผิด และมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย ขณะนี้กลุ่มผู้ก่อเหตุถูกบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลง จึงไปก่อเหตุในพื้นที่อื่น

ตอนนี้การดำเนินการในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงเกือบใกล้จบแล้ว คาดว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนจะสามารถหยุดยั้งการก่อเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ร่ายยาวความผิดผู้ก่อเหตุ ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุม เลิกแล้วไม่เลิก, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งชุดสืบสวนติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุดำเนินคดีตามกฎหมาย

เผยผลการปฏิบัติตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนถึงปัจจุบัน มีการดําเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งสิ้น 234 คดี มีผู้ต้องหาทั้งหมด 869 คน ติดตามจับกุมตัวได้แล้ว 624 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2564)

โฆษก บช.น.กล่าวอีกว่า ผบ.ตร.สั่งการให้เพิ่มความเข้มการรักษาความสงบเรียบร้อย จับกุมการกระทำผิดที่ละเมิดกฎหมายก่อความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน โดยปรับแผนระดมกำลังตำรวจทุกคนมาใช้รักษาความสงบเรียบร้อย โดยผู้กำกับการ (ผกก.) ต้องอยู่โรงพักตลอด 24 ชั่วโมง รับผิดชอบควบคุมการปฏิบัติ

ส่วนมีความผิดบกพร่องต้องถูกย้ายหรือไม่ ต้องดูตามการปฏิบัติว่ามีความบกพร่องอย่างไรหรือไม่ จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

 

ทว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งตำรวจผู้ปฏิบัติและผู้ชุมนุม ชิงไหวชิงพริบ ชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ ปรับกลยุทธ์ไปตามสถานการณ์ จนล่าสุดบรรยากาศที่ดินแดงใกล้คลี่คลาย แต่คล้ายจะเริ่มปฐมบทใหม่ที่แยกนางเลิ้ง

ขณะเดียวกันอีกไม่กี่วัน จะมีการเปลี่ยนแม่ทัพนครบาลและรอง ผบช.น.อีกหลายคน รวมไปถึงโฆษก บช.น.ที่จะไปรับตำแหน่ง ผบช.ภ.5 วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งน่าเชื่อว่ามีการส่งมอบสานต่องานกันเป็นที่เรียบร้อย

ด้าน พล.ต.ต.สำราญ นวลมา น.1 คนใหม่ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ม็อบเมื่อ 22 กันยายน ว่า ไม่หนักใจ พร้อมดำเนินการตามนโยบาย ผบช.น.คนเก่าอยู่แล้ว

น่าจับตาจากนี้ “บิ๊กราญ” จะใช้กลยุทธ์ใดคลี่คลายสถานการณ์ชุมนุมให้คืนสู่ปกติโดยปราศจากความรุนแรง