‘วิโรจน์’ แนะตั้งปุโรหิต แทน ‘ประยุทธ์’ หลังให้ สวดมนต์ไล่พายุ ซัดขาดวุฒิภาวะ

วิโรจน์ แนะตั้ง ปุโรหิต แทน ประยุทธ์ หลังให้ชาวบ้าน สวดมนต์ ไล่พายุ กรณีลงพื้นที่ที่ จ.สุโขทัย ยุรัฐบาลลาออก ฝ่ายค้านพร้อมทำหน้าที่แทน

วันที่ 27 ก.ย.2564 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลงพื้นที่ จ.สุโขทัย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม โดยขอให้ประชาชนช่วยกันสวดมนต์ อย่าให้พายุเข้ามาอีก ว่า ยุคนี้เป็นยุค 2021 การแก้ปัญหาน้ำท่วมหรืออุทกภัยนั้น วันนี้ประเทศต่าง ๆ พึ่งพาด้านเทคโนโลยีเป็นหลักแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องการวางระบบกักเก็บน้ำ การวางระบบผันน้ำ ระบบระบายน้ำ ที่สำคัญคือระบบเตือนภัยล่วงหน้า แน่นอนว่าพายุเป็นภัยธรรมชาติ ไม่มีทางที่รัฐบาลไหนจะสั่งห้ามไม่ให้พายุเข้าประเทศได้

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานการวางระบบต่าง ๆ ดังกล่าว ซึ่งหากมีการบริหารข้อมูลสารสนเทศที่ดีก็จะสามารถเตือนภัยประชาชนล่วงหน้าได้ ความเสียหายก็จะจำกัด รวมถึงปัญหาน้ำท่วมขังก็จะไม่มี ประชาชนจะวางแผนจัดการชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้น ทั้งก่อนภัยพิบัติ ระหว่างภัยพิบัติ และหลังภัยพิบัติ

“การสวดมนต์เหมือนการบอกประชาชนทางอ้อมว่าให้ยอมจำนนต่อโชคชะตา และยอมรับโดยสภาพว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้แล้ว อีกทั้งหลายคำถามนายกฯ ก็ไม่ควรจะถาม บ้านเขาท่วมมิดหลังคา กลับไปถามว่าสบายดีไหม หากสบายดีก็คงไม่เป็นเช่นนี้ จากข่าวจะเห็นว่าขนาดพระสงฆ์ที่ จ.สุโขทัย ที่อยู่ในสถานะนักบวชสวดมนต์ได้ยังไม่สวดเลย ยังออกมานำข้าวของแจกจ่ายประชาชนเลย สุดท้ายแล้ว นายกฯเองนั่นแหละที่โดนประชาชนสวดกันทั้งประเทศ” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า เรื่องสวดมนต์ถือว่าขาดวุฒิภาวะอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลลงทุนเรื่องงบประมาณเกี่ยวกับน้ำในแต่ละปีเป็นแสนล้านบาท ถ้าไม่นับงบกลาง รัฐบาลเคยบอกกับประชาชนหรือไม่ว่าตอนนี้ปริมาณในการกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นกี่ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว หรือเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ปริมาณความต้องการใช้น้ำ รัฐบาลไม่เคยชี้แจงตรงนี้

นายวิโรจน์ กล่าวว่า และที่ผ่านมา ระบบการเตือนภัยล่วงหน้าก็ไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนรู้ว่าน้ำมาก็ตอนที่น้ำมาแล้ว ความจริงหากใช้บิ๊กดาต้าหรือเทคโนโลยีดาวเทียมผสมผสานการคำนวณระบบต่าง ๆ ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ก็น่าจะพอประมาณการณ์ได้ว่าจะท่วมอีกกี่วัน น้ำจะลงเมื่อไหร่ ซึ่งเราไม่เห็นข้อมูลตรงนี้จากรัฐบาล

เมื่อถามถึงกรณีการบริหารจัดการน้ำที่มักจะเกิดน้ำท่วมบ่อยในพื้นที่ต่าง ๆ สาเหตุเกิดจากอะไร นายวิโรจน์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำต้องแก้อย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมาเราพยายามสร้างเขื่อนซึ่งเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่เราไม่มีการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำย่อย ๆ เพื่อทยอยกักเก็บน้ำเป็นระยะ ๆ จากทางเหนือลงมาสู่ด้านล่าง

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ฉะนั้น เมื่อเขื่อนเก็บน้ำไม่ไหวน้ำจึงหลากออกมา ความจริงแล้วการทำนายน้ำฝนแต่ละปีนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาทำนายได้อย่างแม่นยำ แม้จะมีภาวะโลกร้อนอยู่บ้างแต่ก็ไม่ถึงกับทำนายปริมาณน้ำฝนไม่ได้เลย จึงสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ในการสร้างพื้นที่รับน้ำย่อย ๆ นอกจากนี้ บางพื้นที่มีการเบิกงบประมาณทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งในปีเดียวกัน ซึ่งน่าสงสัยอย่างมาก

“รัฐบาลทำอะไรได้มากกว่าการสวดมนต์แน่นอน เจอโควิดก็สวดมนต์ เจอน้ำท่วมก็สวดมนต์ ประเทศนี้ไม่ต้องมีนายกฯ แล้ว แต่งตั้งปุโรหิตหรือพ่อมดหมอผีแทนดีหรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนวาทกรรมที่บอกว่าทำไมฝ่ายค้านไม่ลงมาจัดการสถานการณ์น้ำท่วม คำถามเช่นนี้จากรัฐบาลหรือฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลแสดงว่ารัฐบาลไม่รู้หน้าที่ตัวเองว่าถืออำนาจในการสั่งการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการ ถืองบประมาณ และไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ส.ส. ห้ามข้องแวะเรื่องงบประมาณและการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ แต่ตนมองในแง่บวกว่า รัฐบาลแสดงความมั่นใจว่าหากฝ่ายค้านมีอำนาจบริหารก็จะทำงานได้ดีกว่า

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ซึ่งฝ่ายค้านไม่ใช่ไม่ทำอะไร อย่างพรรคก้าวไกลก็พยายามเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความช่วยเหลือภาคเอกชนไปสู่ประชาชนที่เดือดร้อน รวมถึงตามจี้ตามเสนอแนะรัฐบาลเพื่อที่จะได้แก้ปัญหาให้ถูกทาง แต่การช่วยเหลือจากภาครัฐต้องอยู่ในอำนาจฝ่ายบริหาร หากรัฐบาลพูดเช่นนั้นก็ลาออกเลย ฝ่ายค้านพร้อมที่จะเข้าไปทำงานแทน