เปิดหู | ว่าด้วยที่มา เพลง Happy Birthday to You

อัษฎา อาทรไผท

ก่อนอื่นผมขอสุขสันต์วันเกิดแด่ท่านที่ครบรอบวันเกิดในวันนี้ครับ และถ้าคืนนี้คุณมีงานเลี้ยงวันเกิด ไม่ว่าจะงานใหญ่ หรืองานเล็ก ผมมั่นใจว่าต้องมีการร้องเพลง Happy Birthday to You เคล้าแสงเทียน ที่ปักอยู่บนเค้กวันเกิดของคุณแน่ๆ แต่ทราบไหมครับ ว่าเพลงที่ฮิตที่สุดในโลกเพลงนี้ มีที่มาอย่างไร? และทำไมช่วงหนึ่งคนต้องเสียเงินสองหมื่นกว่าบาท ถ้าเอาเพลงนี้ไปใช้ในการพาณิชย์? เดี๋ยวผมเล่าให้ฟังครับ

สำหรับที่มาของเพลงสุขสันต์วันเกิดของเรานี้ เกิดขึ้นที่มลรัฐ Kentucky ในปี ค.ศ. 1893 จากการสร้างสรรค์ของสองสตรีพี่น้องตระกูล Hill นามว่า Patty เป็นคุณครูใหญ่โรงเรียนอนุบาล และ Mildred เป็นนักแต่เพลง และมือเปียโน สองพี่น้องได้เลือกเอาทำนองเพลงของเพลงดังในยุคนั้น “Good Morning to All” ที่เห็นว่าเด็กๆ อนุบาลสามารถร้องได้ง่ายๆ มาสวมเนื้อร้องใหม่ในเมโลดี้เดิม เป็นเพลง “ Happy Birthday to You ”

โดยการนำเพลงนี้ไปร้องที่นิยมกันในโลกตะวันตก จะนิยมร้องว่า

Happy birthday to you
Happy birthday to you

Happy birthday, dear “ ชื่อเจ้าของวันเกิด ”
Happy birthday to you.

ส่วนที่บ้านเรา มักจะตัดส่วนที่เป็นชื่อเจ้าของวันเกิดออก แล้วร้องว่า Happy birthday to you ไปเลย 4 รอบ จุดนี้ผมชอบสังเกต เวลาที่งานวันเกิดไหนมีทั้งคนไทยและชาวตะวันตก ตอนร้องเพลงวรรคที่สาม จะเกิดความไม่เป็นหนึ่งเดียวขึ้น เพราะชาวตะวันตกจะร้องเป็นชื่อเจ้าของวันเกิด ส่วนชาวไทยเราจะร้องเป็นเนื้อเหมือนวรรคอื่นๆ ชาวต่างชาติที่ร้องออกมาเป็นชื่อ ก็จะตกใจนิดหนึ่งที่ไม่มีใครเอ่ยชื่อ ส่วนถ้างานไหนชาวตะวันตกเยอะกว่า ก็จะมีเสียงคนไทยโดดออกมาว่า Happy birthday to you ในขณะที่คนอื่นร้อง Happy birthday dear “ ชื่อเจ้าของวันเกิด ” เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ผมมักพบเจอ

ในความชอบส่วนตัว ผมชอบการร้องแบบดั้งเดิมเขามากกว่า เหตุผลคือมันทำให้เพลงมีสีสัน เหมือนเป็นเพลงคัสตอมเมด ที่ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน และมันจะสนุกมากเมื่อชื่อเจ้าของวันเกิดมีสาม สี่ หรือห้าพยางค์ คนร้องก็จะพยายามรวบชื่อให้อยู่ในเพลง โดยการเรียกชื่อให้เร็วขึ้น เช่นถ้าชื่อ Bill ก็ร้องเข้าปากง่ายๆ แต่ถ้าชื่อ Maximiliiano ก็จะรัวขึ้นมาหน่อย บางทีก็ได้ยินเมโลดี้น่ารักๆ จากตรงนี้ ผมเลยชอบเป็นการส่วนตัว

กลับมาที่เรื่องของเพลง จากที่เป็นเพียงเพลงที่ทำมาให้เด็กๆ ร้องกันในโรงเรียนอนุบาลเดียว เพลงนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนในที่สุด เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนในโลกรู้จักเพลงนี้กันหมด และใช้ขับขานเพลง Happy Birthday to You อวยพรให้กัน ผ่านหลากหลายภาษา จนเป็นเรื่องปกติ แต่มีช่วงเวลาหนึ่ง หากนำเพลงนี้ไปใช้เพื่อการพาณิชย์ในอเมริกาหรือยุโรป จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์อย่างต่ำ 700 เหรียญสหรัฐ ตามขนาดความใหญ่ของงาน

สาเหตุของการเก็บลิขสิทธิ์มาจาก ในปี ค.ศ. 1988 บริษัท Warner/Chappell Music ได้ไปซื้อกิจการของบริษัท Birch Tree Group Limited ได้พบว่าบริษัทนี้ได้พิมพ์โน็ตเพลง Happy Birthday to You ขายตั้งแต่สมัยสองพี่น้องตระกูล Hill แรกนำเสนอเพลงนี้แก่ชาวโลก และได้จดลิขสิทธิ์เพลงนี้เอาไว้ด้วย และอ้างว่าลิขสิทธิ์ในอเมริกาจะหมดในปี 2030 ก่อนหน้านั้น ถ้าใครจะใช้เพลงนี้เพื่อการค้า เช่นในละคร ภาพยนต์ หรืออีเวนต์ จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด ส่วนเอาไปร้องในครัวเรือนและเพื่อนฝูง สามารถทำได้สบาย

จากการเก็บค่าลิขสิทธิ์นี้ Warner/Chappell สามารถเก็บเงินไปได้ถึงปีละราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพลงๆ นี้ถือว่าเป็นเพลงที่เด็ดขาดมากๆ เพราะแม้เป็นเพลงที่สั้นและเก่ามากๆ แต่กลับไม่มีตกยุค และสร้างรายได้มหาศาลชนิดรายวัน

แต่งานวันเกิดแม้จะอลังการปานใด ก็ย่อมมีวันเลิกรา ในที่สุดเมื่อปี 2013 ก็มีการฟ้องร้อง และยื่นหลักฐานต่างๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วเพลง Happy Birthday to You ไม่ใช่เพลงที่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งขั้นตอนและรายละเอียดของคดีนี้ค่อนข้างละเอียด ผมขอสรุปคร่าวๆ ว่า ที่ Warner/Chappell ถือลิขสิทธิ์นั้น คือโน๊ตของเพลงเฉยๆ ไม่ได้มีการระบุเนื้อร้องเพลงนี้ที่เราคุ้นเคย และไม่สามารถมีใครหาเอกสารมายืนยันได้ เพราะมันเก่ามากแล้ว

ในที่สุดศาลก็ตัดสินให้เพลง Happy Birthday to You กลายเป็นเพลงของสาธารณชน ใครจะนำไปร้อง นำไปใช้ในงานไหนอย่างไรก็ได้ และผู้ที่เคยเสียเงินค่าลิขสิทธิ์ไป ยังได้รับเงินคืนอีกด้วย โดยงานนี้ได้มีการคืนค่าลิขสิทธิ์กันไปถึงราว 14 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 469 ล้านบาทด้วยกัน

คราวนี้ถ้าถึงเวลาร้องเพลงวันเกิด อย่าลืมเล่าให้เจ้าของวันเกิดฟังถึงที่มาของเพลงนี้ด้วยนะครับ และถ้าใครเกิดในวันที่อ่านบทความนี้ “Happy Birthday to You” นะครับ