การทูตวัฒนธรรม ในยุค New Normal/บทความพิเศษ – ณัฐภาณุ นพคุณ

บทความพิเศษ

ณัฐภาณุ นพคุณ

รองอธิบดีกรมสารนิเทศ

และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

Twitter : NatapanuN

 

การทูตวัฒนธรรม

ในยุค New Normal

 

เป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีแล้วที่โลกต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่นอกจากจะทำให้ผู้คนต้องปรับตัว ปรับวิถีชีวิตแล้ว ยังต้องปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป กอปรกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิตอลที่ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมและผู้คน

ด้วยเหตุนี้เอง กระทรวงการต่างประเทศจึงใช้โอกาสนี้ในการปรับรูปแบบการส่งเสริมความนิยมไทยในต่างประเทศ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

โดยมีโจทย์สำคัญคือ การส่งเสริมความนิยมไทยให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ของผู้คนทั่วโลก

และใช้ความก้าวหน้าทางดิจิตอลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

เรื่องเชยๆ VS เรื่องคูลๆ

การดำเนินการด้านการทูตวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ของกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เริ่มต้นขึ้นด้วยการจัดงานเสวนา New Normal : New Coolture เมื่อเดือนกันยายน 2563 ถ่ายทอดผ่าน Facebook Live เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรม สำหรับก้าวเข้าสู่ยุคชีวิตวิถีใหม่ เพราะเราเชื่อว่า culture นั้น cool ได้ ขอเพียงเปิดใจให้กับแนวทางใหม่ๆ ที่หลากหลาย เผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้ผนวกเข้ากับวิถีชีวิตยุคใหม่อย่างสอดคล้อง ทันสมัย ใช้ platform ใหม่ๆ เพื่อนำพาประเทศไทยเข้าไปอยู่ในใจของผู้คนทั่วโลก

ภาพของ New Normal : New Coolture ฉายชัดยิ่งขึ้นในการจัดงานเสวนาครั้งที่สอง ในชื่อ New Normal : New Coolture in Digital Age ซึ่งท่านสามารถติดตามชมการเสวนาย้อนหลังผ่าน Facebook ของกระทรวงการต่างประเทศได้

ความน่าประทับใจของการเสวนาครั้งนี้ คือการได้เห็นคนรุ่นใหม่สร้างพื้นที่แห่งการสื่อสารด้วยตัวเอง แบ่งปันความคิด ทัศนคติ การใช้ชีวิตที่น่าสนใจ ใช้ platform online ให้เกิดประโยชน์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนได้ อีกทั้งยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเสพสื่อออนไลน์ของผู้คนในปัจจุบันอีกด้วย

และในเดือนกันยายน 2564 นี้ กรมสารนิเทศได้จัดงานเสวนา New Normal : New Coolture ขึ้นอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด New Normal : New Coolture : Bridging the Gap

ซึ่งเชิญคนต่างเจเนอเรชั่นมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการสื่อสารในโลกสมัยใหม่และการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของใจที่เปิดกว้าง

ย้อนอดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน

และรังสรรค์อนาคต

ช่วงเวลาเช่นนี้นับเป็นโอกาสในการย้อนกลับไปสร้างความเข้าใจในรากเหง้าของความเป็นไทย รวมทั้งงานการทูตในประวัติศาสตร์ไทยด้วยเช่นกัน กรมสารนิเทศจึงเชิญคณะสื่อมวลชนไปร่วมศึกษาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทยในโครงการ “เส้นทางวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์การทูตไทยในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์” และ “เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา”

ด้วยความมุ่งหวังว่า การเดินทางย้อนรอยประวัติศาสตร์เช่นนี้จะช่วยก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชนเกี่ยวกับเรื่องราวการต่างประเทศในอดีต

เช่น ท้าวทองกีบม้าไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นประดิษฐ์ขนมทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง อย่างที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกัน

และอยุธยาคือยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของสังคมพหุวัฒนธรรมที่ไม่ได้มีแต่เพียง “เงาฝรั่ง” หากแต่รวมถึงชาวต่างชาติอื่นๆ ทั้งญี่ปุ่น จีน เปอร์เซีย และอีกหลายชนชาติ

และสุดท้าย ได้ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถในการดำเนินกุศโลบายทางการทูตของสถาบันพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น

 

เทศกาลละครไทย

ความบันเทิงที่เข้าถึงประชาชน

เมื่อคนรุ่นใหม่มีชีวิตผูกพันกับโลกออนไลน์อย่างเหนียวแน่น ไม่เพียงแค่คนไทย หากรวมถึงผู้คนในประเทศต่างๆ การ lockdown เมือง ส่งผลให้ผู้คนต้องอยู่กับบ้าน ทำงานและใช้ชีวิตกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ละครไทยที่ฉายผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น

เราจึงนำวัฒนธรรมไทยไปเสิร์ฟให้ถึงหน้าจอด้วยงาน “เทศกาลละครไทยในญี่ปุ่น 2021” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมสารนิเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ทีมประเทศไทย และค่ายละครไทย 3 ค่าย ได้แก่ GMM TV นาดาวบางกอก และช่อง 3

ที่นอกจากจะเป็นการจัดงานเทศกาลละครไทยเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นการจัดงานเทศกาลไทยผ่านระบบ Online Streaming เป็นครั้งแรกอีกด้วย

งานนี้ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากแฟนๆ ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาติอื่นๆ มีผู้ติดตามชมการถ่ายทอดสดกว่าหนึ่งหมื่นคน hashtag ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งของไทย

ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จด้านการทูตวัฒนธรรมของกระทรวงการต่างประเทศในยุค New Normal ช่วยส่งเสริมวงการละครไทยให้พัฒนาและเป็นที่รู้จักในระดับสากล

 

Soft Power ที่หลากหลาย

อีกแขนงหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่สามารถส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกได้ คือแฟชั่น ด้วยว่าไทยมีนักออกแบบแฟชั่นที่มีชื่อเสียงมากมาย และจำนวนหนึ่งก้าวไปไกลถึงเวทีระดับโลก อย่างปารีสแฟชั่นวีก มิลานแฟชั่นวีก หรือนิวยอร์กแฟชั่นวีก

แต่สิ่งที่ชาวต่างชาติยังรู้จักไม่มากนัก คือวงการแฟชั่นไทยได้พัฒนาการออกแบบแฟชั่นไปพร้อมๆ กับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของ ‘Bio-Circular-Green’ Economy หรือการผสมผสานการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (green)

นอกจากนี้ กรมสารนิเทศได้ร่วมมือกับนิตยสารแฟชั่นเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ศักยภาพของวงการแฟชั่นและอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย

ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีโอกาสฉายแสงในเวทีโลก หากยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สะท้อนภาพพันธกิจของไทยในการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างน่าสนใจ

 

Gen Y Gen Z = Our Future

เพราะเราเชื่อว่า คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่มีไอเดียสดใหม่ มีมุมมองที่น่าสนใจ และมีความสามารถอย่างที่เราคาดไม่ถึง

โครงการจัดประกวดภาพยนตร์สั้น “ประเทศไทยที่อยากให้โลกรู้จัก” จึงเกิดขึ้น

เพื่อเฟ้นหาภาพยนตร์สั้นประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในรูปแบบที่น่าสนใจ เพราะใครเล่าจะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ดีเท่ากับคนรุ่นใหม่ด้วยกันเอง

นอกจากจะได้เห็นมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อการสร้างความนิยมไทยในต่างประเทศแล้ว

โครงการนี้ยังมุ่งให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพ มีผลงานเผยแพร่ออกสู่สายตาชาวต่างชาติ

 

การทูตวัฒนธรรมในบริบทโลก

หลายโครงการด้านการทูตวัฒนธรรมของกรมสารนิเทศที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ล้วนแล้วแต่สะท้อนภาพการทูตวัฒนธรรมยุคใหม่ที่ยึดโยงกับบริบทโลก ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิตอล

กระชับความสัมพันธ์ทั้งระหว่างคนไทยต่างวัยและเพื่อนนานาชาติของเราให้แน่นแฟ้น

สร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม อันมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสร้างช่องทางและโอกาสใหม่ให้กับสินค้าและผู้ประกอบการไทย