‘ศิริกัญญา’ ชี้รัฐบาลเปิดทางต่างชาติซื้อบ้าน แก้ศก.ไทยไม่ถูกจุด เหลื่อมล้ำยิ่งถ่างอีก

เปิดทางต่างชาติซื้อบ้าน ไม่ช่วยเศรษฐกิจไทย ซ้ำยังถ่างความเหลื่อมล้ำ! ศิริกัญญาชี้ ประเทศไทยไม่ขาดเงินลงทุน แต่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ‘เดชรัต’ เปิดทางช่วยคนรายได้น้อย-ปานกลางเข้าถึงบ้านที่ต้องการ

วันที่ 21 กันยายน 2564 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติการจัดทำ ‘วีซ่าระยะยาว’ ให้ชาวต่างชาติ 4 กลุ่มเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา รวมถึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสิทธิประโยชน์ของวีซ่า ซึ่งรวมถึงการถือครองห้องชุดและบ้านจัดสรร โดยศิริกัญญา มองว่า มาตรการเหล่านี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยมาก และเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด

ศิริกัญญา ระบุว่า โครงการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีความพยายามจะออกวีซ่านักลงทุน และบัตร Thailand Elite Privilege Card เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาอาศัย ท่องเที่ยวและลงทุนในไทยมากขึ้น และต่างประเทศก็มีนโยบายคล้าย กัน เช่น Golden Visa ของยุโรปดึงดูดชาวต่างชาติที่มีมูลค่าสูงเข้าไป แต่งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารวิชาการ Journal of Ethnic and Migration Studies ระบุว่า หลายประเทศมักออกวีซ่าประเภทนี้ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ ซ่าเหล่านี้กลับมีผลต่อจีดีพีไม่เกิน 0.3% เท่านั้น อีกทั้งยังไม่มากพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นเพียงไม่ถึง 5% ของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดเท่านั้น

ปัจจุบัน กฎหมายไทยก็อนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้ 49% อยู่แล้ว หากจะแก้ไขกฎหมายเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 70-80% ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่ควรเป็นโครงการระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาซัพพลายคอนโดที่ล้นเกิน ในช่วงแค่ 3-5 ปีเท่านั้น เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ในไทยก็มีปัญหามาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด มีการสร้างคอนโดขึ้นมามาก จนเริ่มขายไม่ออก มีการประเมินว่ายังเหลืออสังหาริมทรัพย์ที่สร้างมาแล้วยังขายไม่ออกอยู่ราว 2 แสนยูนิต หากมีการเปิดทางให้ชาวต่างชาติซื้อได้มากขึ้น ก็จะช่วยระบายสต็อกออกไปได้ในส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์สำหรับลูกค้าระดับบน จากนั้นก็ควรยุติโครงการดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องดูรายละเอียดว่าจะแก้กฎหมายอย่างไร เช่น ให้ต่างชาติซื้อบ้านในหมู่บ้านได้กี่เปอร์เซ็นต์ ถือกรรมสิทธิ์ได้กี่เปอร์เซ็นต์ กำหนดระยะเวลาการถือครองว่าต้องถือกี่ปีก่อนจะขายต่อ และกำหนดว่าการขายต่อจะต้องขายคืนให้พลเมืองไทยเท่านั้นหรือไม่

ศิริกัญญามองว่า มาตรการเปิดทางให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านในไทยเป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน” และเป็นการ “หวังน้ำบ่อหน้า” เกินไป เพราะงานวิจัยที่กล่าวไปแล้วข้างต้นก็ระบุไว้ว่า โครงการนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยมาก และปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่การไม่มีเงินลงทุน แต่อยู่ที่คนไม่มั่นใจจะลงทุนในช่วงที่รัฐบาลนี้บริหาร

“ปัจจุบัน ไทยไม่ได้ขาดเม็ดเงินลงทุน ประชาชนยังมีสภาพคล่อง คนยังมีเงินเก็บ และหลายคนมีเงินสดเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ที่การลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดลง เป็นเพราะต่างชาติรวมถึงนักลงทุนไทยมองไม่เห็นโอกาสในการลงทุนในไทย จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ไม่แข็งแรง”

การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ควรทำให้คนรายได้กลาง-น้อยมีบ้าน

ด้านดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ให้ความเห็นว่า การเปิดให้ต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์บางประเภทในประเทศไทยอาจไม่กระทบกับความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดินโดยตรง แต่อาจกระทบกับการเข้าถึงบ้านของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากการเพิ่มความต้องการในบ้านระดับบน ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการลงมาจับตลาดบ้านสำหรับผู้มีรายได้กลาง-น้อย

“เราจึงเห็นข้อมูลว่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น ต่ำกว่า 500,000 บาท ไม่มีธุรกิจที่จับกลุ่มนี้ ทำให้ตลาดอสังหาฯ เอียงไปทางผู้มีรายได้สูง ตัวเลขที่เราเห็นว่า ดัชนีราคาอาคารชุดและทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้นเร็วกว่าดัชนีค่าจ้างแรงงาน ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยคึกคักในตลาดบน ส่วนตลาดผู้มีรายได้น้อยถูกละเลยมากขึ้น”

ดร.เดชรัต เสนอว่า นอกจากกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับบนแล้ว รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยให้ผู้มีรายได้กลาง-น้อยเข้าถึงบ้านได้จะเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตที่ตอบโจทย์มากกว่า

“เรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วย อย่างแรกคือ การช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่ดินในทำเลที่เดินทางสะดวก เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่มีรถส่วนตัว โดยอาจกำหนดในผังเมืองหรือปลดล็อกที่ดินของรัฐ นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการบังคับหรือจูงใจให้ผู้ประกอบการผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำตลาดบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย และสุดท้าย รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านดอกเบี้ยบ้านของประชาชนที่เป็นภาระสำคัญในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย โดยอัตราที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ควรต้องอยู่ที่ ร้อยละ 2-3 เท่านั้น” ดร.เดชรัต กล่าว