หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ลาย’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - ลายของเสือนั้น แตกต่างกันเป็นเช่นเดียวกับลายนิ้วมือคน และลายจะเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่กระทั่งวัยเด็ก จนถึงวัยชรา

 

 

‘ลาย’

 

โดยประสบการณ์ของการทำงานในป่า ค้างแรมในป่านานๆ ถึงวันนี้ผมพบว่า คนสำคัญที่สุดในทีมคือ พ่อครัว

หน้าที่ของพ่อครัวสำคัญ เพราะว่าตามจริง เขาไม่ใช่แค่คนหุงข้าวทำกับข้าว แต่คือผู้ที่ต้องทำหน้าที่วางแผนจัดการเรื่องเสบียง ของสด ของแห้ง เครื่องปรุงต่างๆ รวมทั้งจัดวางของเสบียงอย่างเป็นระเบียบ มัดแน่นหนา บนเส้นทางทุรกันดาร อย่างนั้น แค่มีไข่แตกสักฟอง ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องน่ากังวลของเขา

อีกทั้งที่ผมพบมา ผู้ที่มีทักษะในงานครัวนี้มักจะมีทักษะอื่นๆ มากด้วย เช่น วิธีนำรถขึ้นจากหล่ม เดินป่า ใช้อุปกรณ์ต่างๆ

ในขณะพ่อครัววิ่งวุ่นอยู่กับการซื้อของ คนอื่นนั่งสบายๆ ในร้านกาแฟ หรือโทรศัพท์ ก่อนจะไม่มีสัญญาณ อีกนั่นแหละ แม้จะเป็นพ่อครัวที่ทำงานมานาน มีประสบการณ์สูงๆ พอกลับถึงแคมป์มักพบว่า ลืมซื้อโน่นนี่หลายอย่าง

แต่ใครเล่าจะกล้าตำหนิพ่อครัว ผู้ทำให้เราอิ่มได้ลงคอ

การลืมของเขา เราถือเป็นข้อดีเสียด้วยซ้ำ เพราะเอาเป็นข้ออ้างเพื่อเข้าเมืองได้ก่อนกำหนด…

 

นอกจากจะไม่ตำหนิพ่อครัวแล้ว

เราก็ไม่บ่นวิธีการจัดการเรื่องอาหารของเขา

เพราะส่วนมากเราจะได้กินอาหารตามฤดูกาล

อย่างเช่น ในช่วงฤดูฝน นอกจากเราจะอยู่กับป่ารกทึบ ระดับน้ำเต็มลำห้วย ท้องฟ้ามืดครึ้ม ยุง แมลงจำนวนมาก มีอีกสิ่งหนึ่งอันทำให้รู้ว่า อยู่ในฤดูฝนอย่างแท้จริงคือ เมนูอาหารจะมีส่วนประกอบของหน่อไม้ทุกมื้อ

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม หน่อไม้ไผ่รวกเริ่มโต พ่อครัวจะเก็บมาต้มจิ้มน้ำพริก แกง หมก และอีกมากมาย

ต่อจากนั้น หน่อไผ่นวลก็ตามมา นอกจากกินสดๆ พ่อครัวจะดองหน่อไผ่นวลไว้จำนวนหนึ่ง

หน่อไม้ยังไม่ทันหมด ฤดูแห่งเห็ดตามมาติดๆ เอาเข้าจริงแม้จะเป็นเห็ดโคนก็เถอะ การกินทุกมื้อทุกวันติดต่อกัน ทำให้แค่เพียงเห็นเห็ดก็เบือนหน้าหนี

แต่นั่นแหละ ใครจะกล้าบ่น

 

ถ้าจะพูดถึงความยุ่งยากในสิ่งที่มากับงาน ผมนึกถึงฤดูฝนนี่แหละ การเดินทางใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะการใช้รถ การเดินเท้าก็เช่นกัน ต้องข้ามลำห้วยเป็นระยะๆ เลี่ยงไม่พ้น ขึ้นจากห้วยไต่ขึ้นสันเขา และลงหุบ พบกับการลื่นไถล

เวลาเดินป่า ไต่ขึ้นสัน ผมรู้ว่า ไม่นานก็จะมีทางลงหุบ ขณะเดินลงหุบอีกไม่นาน เส้นทางจะพาขึ้นสันเขา เดินตามเส้นทางที่สัตว์ป่าใช้ ดูคล้ายจะมีทั้งทางขึ้นและลง

การลื่นไถลบนเส้นทางชัน เป็นเรื่องธรรมดา

 

ในฤดูฝน เราต้องกางผ้ายางเหนือกองไฟ

พ่อครัวจะเก็บฟืนมาวางข้างๆ ในตอนนี้ไม่มีฟืนแห้งๆ ทั้งหมดจะเปียกชื้น การก่อไฟในฤดูฝน ต้องใช้ความชำนาญบ้าง

พ่อครัวจะหาฟืนท่อนใหญ่มาวางเรียง ผ่าไม้เป็นเศษเล็กๆ เขาจะก่อไฟบนฟืนท่อนใหญ่ที่เรียงไว้

วิธีการนี้เป็นทริกที่ใช้ต่อๆ กันมานาน คนในป่าเรียกว่า ไฟสายฝน

ในกองไฟ พ่อครัวโยนหน่อไผ่รวกเผาไว้

ผมมองหน่อไม้ เมนูวันนี้คงไม่พ้นแกงเปอะหน่อไม้ และหน่อไม้จิ้มน้ำพริก

ควันไฟไล่ฝูงยุงที่ตอมหึ่งๆ ไปบ้าง รองเท้าเปียกโชก ผมปักไม้ เอารองเท้าวางคว่ำข้างกองไฟ พร้อมกางเกงและเสื้อที่เปียกชื้น

ตั้งแต่บ่ายถึงค่ำๆ และบางวันตลอดคืน จะพบกับสายฝนโปรย

ชีวิตใช้เวลากับห้องนั่งเล่นข้างกองไฟเสียเป็นส่วนใหญ่

 

นั่งมองเปลวไฟร่ายรำ คือสิ่งที่ผมทำบ่อย ไม่ใช่ไร้น้ำใจไม่ช่วยทำกับข้าว แต่ในฐานะพ่อครัวเขา ตั้งกฎที่จะไม่ให้ใครยุ่งกับงานเขา ทำคนเดียว และยินดีเมื่อคนกินชอบ

“วันนี้มีหน่อไม้ผัดไข่นะครับ” เสียงพ่อครัวปลุกผมจากภวังค์ ภาพแกงมัสหมั่นไก่หายไป

นี่เป็นช่วงเวลาที่อาหารในป่าอุดมสมบูรณ์ ในป่าไผ่ มีร่องรอยกระทิงจำนวนมากกัดกินหน่อไม้

กอไผ่หลายกอถูกช้างดึงลงพื้น แหล่งน้ำมีทั่วไป ตามปลักเล็กปลักน้อย มีรอยกลิ้งเกลือกของกวางและหมูป่าพอกโคลนเพื่อกันแมลงบ้าง เป็นวิธีที่ดี

ตามลำต้นไม้ มีรอยโคลนสูงท่วมหัว ช้างมายืนพิง หรือเอาตัวไถๆ

ผมขยับท่อนฟืน ลูกไฟแตกกระจาย อยู่ในป่า แต่ใช่ว่าจะหลบเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงหรือการต้องปรับตัวพ้น

โลกเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ต้องขออนุญาตใคร เราต่างรู้ว่า การปรับตัวจำเป็น

ข้อดีกับการทำงานกับสัตว์ป่า พวกมันสอนให้เลือกสิ่งที่คิดว่าเหมาะสม

เรียนรู้จากพวกมันว่า ปรับตัวเปลี่ยนไปตามฤดูกาลคือสิ่งสำคัญ

 

ผ้ายางกันละอองฝนไม่ได้หรอก

แต่ความร้อนจากเปลวไฟช่วยให้ความเปียกชื้นหายไปได้

ไฟสายฝนของพ่อครัวเปลวไหววูบวาบ เราล้อมวงกินข้าว หน่อไม้จิ้มน้ำพริก และแกงเปอะ

“อย่าเพิ่งเบื่อหน่อไม้นะครับ” พ่อครัวพูดยิ้มๆ

เราอยู่ในช่วงฤดูฝน เป็นฤดูของหน่อไม้ หนทางเลือกมีไม่มาก

อีกไม่นานฤดูเห็ดจะมาถึง

 

ในป่า พ่อครัวสอนให้เรากินอาหารตามฤดูกาล เช่นเดียวกับเหล่าสัตว์ป่า เราเลือกที่จะอยู่ในฤดูกาล

สำหรับสัตว์ป่าเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง หนทางเลือกในการปรับตัวของพวกมันมีไม่มาก

สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือ สอนบทเรียนหนึ่ง พวกมันปรับตัวไปตามฤดูกาล ไปตามวัย จากความแข็งแกร่ง สู่ความอ่อนล้า

ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใด ครั้งที่ยังไม่แกร่งพอยังยึดครองพื้นที่สมบูรณ์ไม่ได้ หรือเข้มแข็งเพียงพอกระทั่งยึดครองพื้นที่สมบูรณ์ เบียดเจ้าถิ่นเดิมออกไปได้ จนถึงวาระที่อ่อนล้า ถูกเบียดออกจากพื้นที่ ต้องปรับตัวอยู่กับพื้นที่ใหม่อันกันดาร

คุณสมบัติที่เสือมีนั้นคือลาย

ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใด ลายของมันจะคงเดิม

“ลาย” จะไม่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เกิดจนถึงวันตาย…