รวมกันเราอยู่! ดีพร้อม เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ผู้ประกอบการรายย่อยผ่านยุทธศาสตร์ “คลัสเตอร์” เผยผลงานปี 64 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มรวม 1,200 ล้านบาท

· ดีพร้อม สร้างคลัสเตอร์ผู้ประกอบการสำเร็จ รวม 29 กลุ่มทั่วประเทศ ครอบคลุมอุตสาหกรรม เกษตร แพทย์ ยานยนต์ พร้อมชี้อานิสงส์การรวมกลุ่มผู้ประกอบการ มีอำนาจการต่อรอง เพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน ฯลฯ

กรุงเทพฯ 17 กันยายน 2564  – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เผยความสำเร็จจากการดำเนินมาตรการการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ หรือคลัสเตอร์โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 – ปัจจุบันมีจำนวนกลุ่มอุตสาหกรรมที่พัฒนามาแล้วอย่างต่อเนื่องจำนวน 123 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นคลัสเตอร์ทั่วไป 112 กลุ่ม และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S Curve 11 กลุ่ม พร้อมชี้ในปี 2564 ได้ดำเนินการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 29 กลุ่ม แบ่งเป็นคลัสเตอร์เกษตรอุตสาหกรรม จำนวน 25 กลุ่ม และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 4 กลุ่ม สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกกว่า 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้เตรียมยกระดับการดำเนินงาน ผ่านการเป็นศูนย์กลางหรือ HUB ด้านการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในทุก ๆ กลุ่มสาขาอุตสาหกรรมด้วยการใช้ศักยภาพของหน่วยงาน โดยมีเครื่องมือที่สำคัญ ได้แก่  ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือศูนย์ ITC 4.0 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ ThaiIDC เครือข่าย RISMEP และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี หรือ SSRC

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้เป็นผู้ริเริ่มมาตรการขับเคลื่อนการสร้างและพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม หรือ คลัสเตอร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ.  2549 – ปัจจุบัน  โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรมร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเชื่อมโยงการช่วยเหลือในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองทางการซื้อ การตลาด และสามารถเติบโตได้ในลักษณะกลุ่ม ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว ปัจจุบันมีจำนวนกลุ่มอุตสาหกรรมที่พัฒนามาแล้วอย่างต่อเนื่องจำนวน 123 กลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทั่วไป 112 กลุ่ม และคลสัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S Curve) 11 กลุ่ม มีกระบวนการพัฒนาตั้งแต่การทำความความเข้าใจด้านเศรษฐกิจแบบพึ่งพา หรือ Sharing Economy การพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็งในด้านการผลิต การตลาด การแบ่งปันเทคนิคและองค์ความรู้ ตลอดจนการผลักดันให้เข้าใจถึงนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ

สำหรับในปี 2564 ภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ ดีพร้อม เร่งพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน ได้ดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์ไปแล้ว จำนวน 29 กลุ่ม แบ่งเป็นคลัสเตอร์เกษตรอุตสาหกรรม จำนวน 25 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ คลัสเตอร์น้ำผึ้ง กาแฟ เกษตรแปรรูป ผลไม้แห่งขุนเขา เกลือไอโอดีน สมุนไพรและสปา มันสำปะหลัง อาหารเพื่อสุขภาพ ขนมหวาน ผลไม้ภาคตะวันออก ไม้ยางพารา ผลไม้แปรรูป อาหารแห่งอนาคต อาหารพร้อมทาน เป็นต้น ส่วนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล โดยผลสำเร็จจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวยังสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกกว่า 1,200 ล้านบาท

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีพร้อมได้ตั้งเป้ายกระดับบทบาท จากเดิมที่เป็นผู้เชื่อมโยงในการประสานผู้ประกอบการให้เกิดการรวมตัวในแต่ละกลุ่ม สู่การเป็นศูนย์กลางหรือ HUB ด้านการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในทุก ๆ สาขาอุตสาหกรรมด้วยการใช้ศักยภาพของหน่วยงาน รวมถึงความเชื่อมโยงจากกลุ่มพันธมิตรอย่างครบวงจร โดยมีเครื่องมือที่สำคัญ ดังนี้

·       ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือศูนย์ ITC 4.0 ซึ่งกระจายอยู่ในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ จะช่วยกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาเดียวกัน ให้สามารถยกระดับกระบวนการทางธุรกิจ เช่น การผลิต การลดต้นทุน การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าบริการและผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งจะเป็นศูนย์กลางในการให้คำแนะนำงานวิจัย และโซลูชันที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง

·       ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center ThaiIDC) ซึ่งจะให้บริการด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แต่ละคลัสเตอร์สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจด้วยองค์ความรู้ด้านการออกแบบ ตลอดจนให้บริการเครื่องมือต่าง ๆ ที่สนับสนุนการออกแบบครบวงจร เช่น บริการซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและบรรจุภัณฑ์ การทดลองขึ้นต้นแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printing) การจัดกิจกรรมอบรม/สัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและบรรจุภัณฑ์ การให้บริการพื้นที่ทำงานร่วมกัน หรือ CoWorking Space ระหว่างนักออกแบบและคลัสเตอร์ผู้ประกอบการ

·       เครือข่ายส่งเสริม SMEs (RISMEP) ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานส่งเสริม SMEs สำหรับให้คำปรึกษาปัญหาทางธุรกิจแบบครบวงจร โดยเครือข่าย RISMEP เปรียบเสมือนศูนย์กลางการให้คำแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การผลิต การขาย การตลาด การขนส่ง กฎหมายและทรัพย์สินทาปัญญา ฯลฯ มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในเครือข่ายดังกล่าวกว่า 250 คน ทั้งนี้ กลุ่มคลัสเตอร์ต่าง ๆ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ทั้งช่องทางแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ หรือติดต่อโดยตรงได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

·       ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center : SSRC) ซึ่งมีหน้าที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินและการพัฒนา เชื่อมโยงการบริการของหน่วยงานเครือข่ายที่ส่งเสริมและพัฒนา SMEs และกลุ่มคลัสเตอร์ พร้อมส่งต่อปัญหาของ SMEs ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการและคลัสเตอร์มีเงินทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจ

โดยในปี 2565 ดีพร้อม มีแผนดำเนินการสนับสนุนการรวมกลุ่มคลัสเตอร์เพิ่มอีก 34 กลุ่ม ครอบคลุมกว่า 680 กิจการ แบ่งเป็น คลัสเตอร์เกษตรอุตสาหกรรม 30 กลุ่ม และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 กลุ่ม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท

  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th

###

หมายเหตุบทสัมภาษณ์ผู้ประกอบที่เข้าร่วมโครงการ

 

นายชัยสันท์ หิรัญสาลี ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสมุนไพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสมุนไพร เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพรซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า สิ่งสำคัญที่ทำให้กลุ่มนี้แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ คือ สมาชิกทุกคนจะเชื่อมโยงถึงกันตลอด ไม่เพียงแต่การแบ่งปันวัตถุดิบให้กัน แต่ยังรวมไปถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งสมาชิกคนใดไว้ข้างหลัง โดยภายในกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สมุนไพรที่ได้มาจากการเพาะปลูก เช่น ขมิ้น ฟ้าทะลายโจร กระชาย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จำพวก ยาดม ยาหมอง นํ้ามันคลายเส้น ลูกประคบ ที่ได้รับการแปรรูปมาเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม จังหวัดสุราษฎร์ธานีถือเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกสมุนไพรที่ดีที่สุดในโลกเนื่องจากมีแร่ธาตุที่สำคัญ ต่อการทำเกษตรและพืชสมุนไพร ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มได้ตั้งเป้าหมายของการมารวมตัวในปัจจุบันและในอนาคตว่า ต้องการที่จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกภายในกลุ่มมีคุณภาพมากขึ้น มีมาตรฐานรองรับ พร้อมผลักดันให้สมุนไพรไทยได้ไปสร้างชื่อเสียงในตลาดในต่างประเทศ