2503 สงครามลับ สงครามลาว (47)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (47)

 

นับตั้งแต่กำลังทหารราบ 3 กองพัน และทหารปืนใหญ่ 2 กองร้อยของไทยเดินทางเข้าสู่สมรภูมิทุ่งไหหินเมื่อกลางปี พ.ศ.2512 แล้วเปิดฉากการรุกขับไล่ทหารเวียดนามเหนือที่กำลังจะเข้ายึดเมืองล่องแจ้งจนถอยร่นไป

จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็วางกำลังประจันหน้ากัน

ฝ่ายเวียดนามเหนือยังคงยึดครองและมีเสรีการปฏิบัติในบริเวณทุ่งไหหิน

ขณะที่กำลังจากไทยเข้ายึดที่มั่นบ้านนา-เนินซีบร้า-ภูล่องมาด ป้องกันมิให้ฝ่ายเวียดนามเหนือคุกคามซำทอง เมืองสุย และโดยเฉพาะล่องแจ้ง

การที่เวียดนามเหนือยังคงเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีในพื้นที่ทุ่งไหหิน จึงสามารถสร้างแรงกดดันต่อฐานที่มั่นทหารไทยด้วยการโจมตีด้วยอาวุธหนักและกำลังทางพื้นดินเป็นระยะๆ เพื่อรอเวลารุกใหญ่

ขณะที่กำลังของฝ่ายไทยสามารถดำเนินกลยุทธ์โต้ตอบได้อย่างจำกัด การใช้การโจมตีทางอากาศซึ่งเป็นจุดได้เปรียบก็ทำได้อย่างจำกัดเช่นเดียวกัน เนื่องจากอุปสรรคสภาพลมฟ้าอากาศ

ซึ่งยังส่งผลต่อการส่งกำลังบำรุงทุกประเภทที่ต้องอาศัยการส่งกำลังทางอากาศเนื่องจากข้อจำกัดเครือข่ายถนนในพื้นที่อีกด้วย

 

CAMPAIGN 74B

ฤดูแล้ง ธันวาคม พ.ศ.2513 ทหารเวียดนามเหนือซึ่งยังคงดำรงความมุ่งหมายในการยึดครองพื้นที่ทุ่งไหหินได้เปิดฉากการรุกใหญ่ตามแผนยุทธการ “CAMPAIGN 74B”

“ที่หมายหลัก” ตามแผนยุทธการนี้คือเมืองซำทองซึ่งกองทัพเวียดนามเหนือเคยเข้ายึดไว้ได้เมื่อปีที่แล้ว และล่องแจ้งซึ่งยังไม่สามารถยึดได้ ส่วน “ที่หมายรอง” คือการเข้ายึดทำลายกำลังกองพันทหารราบ “BI-15” และฐานยิงสนับสนุนกองร้อยปืนใหญ่ทหารไทย “พันเชอร์” ที่บ้านนา

กองพล 316 เวียดนามเหนือได้รับภารกิจต่อที่หมายหลักเมืองล่องแจ้งและซำทอง ประกอบกำลังด้วยหน่วยรองหลักที่มีอยู่เดิมคือ กรม 148 และกรม 174 เพิ่มเติมกำลังด้วยหน่วย ค.หนัก แซปเปอร์ และอีก 2 กรมคือ กรมอิสระ 335 และ 866

ส่วนที่หมายรองต่อที่หมายบ้านนาเป็นภารกิจของกรม 165 ซึ่งแยกตัวมาจากกองพล 312 โดยมีการเพิ่มเติมกำลังจากกองพันเครื่องยิงระเบิด 120 มิลลิเมตร 1 กองพันปืนกล 12.7 มิลลิเมตร และ 3 หน่วยแซปเปอร์

รวมทั้งหน่วยสนับสนุนขนาดใหญ่ทางด้านการส่งกำลังบำรุงจากตำบลส่งกำลังในทุ่งไหหินเพื่อให้การสนับสนุนจนถึงที่มั่นแนวหน้าสุดของพื้นที่การรบ

 

ที่หมายบ้านนา

กลางดึกของคืนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2513 กรม 165 พร้อมด้วยกองพันที่ 16 และ 17 ซึ่งเป็นหน่วยขึ้นสมทบ เคลื่อนย้ายกำลังผ่านทุ่งหินมุ่งสู่ที่หมายบ้านนา

การข่าวของซีไอเอได้รับรายงานการเคลื่อนไหวกลับคืนสู่สนามรบทุ่งไหหินของทหารเวียดนามเหนือครั้งนี้จากแหล่งข่าวซึ่งเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวในพื้นที่ตั้งแต่ช่องทางหนองเห็ด (Nong Het) บนถนนหมายเลข 7 จนกระทั่งมาแยกย้ายกันที่แก่งไก่ (Khang Khay) ซึ่งน่าจะเป็นกำลังของกรม 165 ที่มีภารกิจเข้าตีบ้านนา และที่เชียงขวางวิลล์ (Xieng Khoungville) น่าจะเป็นกำลังเพิ่มเติมของกองพล 316 ที่มีภารกิจเข้าตีล่องแจ้งและซำทอง

ซีไอเอคาดการณ์ว่า การเคลื่อนย้ายกำลังขนาดใหญ่ซึ่งมีหน่วยรถถังและทหารปืนใหญ่ชนิดลากจูงรวมอยู่ด้วยนี้

น่าจะหมายถึงแผนการปฏิบัติการขนาดใหญ่ของฝ่ายทหารเวียดนามเหนือต่อที่เหมายในพื้นที่ทุ่งไหหินอย่างไม่ต้องสงสัย

 

พันเอกเหงียน ชวง

ผู้บังคับการกรม 165 ผู้ได้รับมอบหมายให้เข้าตีที่หมายบ้านนา คือ พันเอกเหงียน ชวง (Nguyen Chuong) ซึ่งมีประวัติการรบอย่างโชกโชนและยาวนานมาตั้งแต่การรบที่เดียนเบียนฟูครั้งสงครามปลดแอกฝรั่งเศสจนเป็นที่ยอมรับในฝีมือการรบของกองทัพเวียดนามเหนือ

พันเอกเหงียน ชวง ได้เขียนรายงานการปฏิบัติครั้งนี้และได้มีการเผยแพร่ภายหลังใน “People’s Public Security – Cong An Nhan Dan”

สรุปได้ดังนี้…

พันเอกเหงียน ชวง ได้วางแผนการรบต่อที่หมายบ้านนาโดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน…

เริ่มขั้นตอนแรกด้วยการวางกำลัง “ปิดล้อม” ที่ตั้งกองพันทหารไทยและลาวฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งฐานยิงปืนใหญ่ทั้งหมดที่บ้านนา แล้วใช้การยิงจากอาวุธปืนกล 12.7 ม.ม. และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน 14.5 ม.ม. เพื่อขัดขวางการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมจากทางอากาศ

ขั้นตอนที่สอง เข้าโจมตีแตกหักด้วยกำลังหน่วยแซปเปอร์และทหารราบ ประสานกับการยิงสนับสนุนด้วยปืนใหญ่สนามวิถีโค้ง 85 ม.ม. และปืนใหญ่สนามวิถีราบ 122 ม.ม. จากที่ตั้งยิงทางตะวันตกของทุ่งไหหิน ขั้นตอนที่สองนี้จะสอดประสานกับการเข้าตีของกองพล 316 ต่อที่หมายหลักที่เมืองล่องแจ้งและเมืองซำทองซึ่งอยู่ทางใต้ลงไป

กล่าวโดยสรุปแล้วแผนของพันเอกชวงต่อที่หมายบ้านนาคือ “ปิดล้อม” ให้อ่อนกำลัง แล้ว “เข้าตี”

หวังผลแตกหักในที่สุด

 

ปิดล้อม

การวางกำลังปิดล้อมที่มั่นทหารไทยที่บ้านนาเริ่มต้นเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2514 ซึ่งสามารถกดดันและสร้างปัญหาให้กับทหารไทยในวงล้อมอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นไปตามความมุ่งหมายของพันเอกชวง

“หน่วยอาวุธหนักให้มุ่งขัดขวางและป้องกันมิให้เฮลิคอปเตอร์ลงจอดในที่มั่นของทหารไทยอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ทหารคนใดเล็ดลอดออกไป และไม่ให้มีทหารคนใดเข้ามาในพื้นที่ที่หมายได้”

“เราต้องทำให้ข้าศึกตกอยู่ในวงล้อม ให้ข้าศึกประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีพ กินไม่ได้ นอนไม่ได้ และต้องอยู่ร่วมกับซากศพของผู้เสียชีวิต”

“ให้กองร้อยเครื่องยิงระเบิด 120 ม.ม. ระดมยิงที่มั่นในส่วนกลางของบ้านนา ด้วยความมุ่งหมายหลักคือการกดดันไม่ให้ปืนใหญ่ข้าศึกสามารถยิงสนับสนุนได้ รวมทั้งการยิงทำลายที่หมายกองบังคับการกองพันทหารไทย”