อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (7)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (7)

 

ปฏิกิริยาของอินเดียที่มีต่อฏอลิบาน (ต่อ)

ในขณะที่งานก่อสร้างกำลังดำเนินอยู่ วิศวกรและแรงงานของอินเดียต้องเผชิญกับการโจมตีอย่างสม่ำเสมอจากฏอลิบาน ชาวอินเดีย 6 คน และชาวอัฟกันจำนวน 140 คน ถูกสังหารจากการโจมตีครั้งนี้

เมืองซารานจ์ตั้งอยู่ใกล้กับชาบาฮาร์ (Chabahar) ในอิหร่านซึ่งได้รับการพัฒนาโดยอินเดีย ทั้งนี้ อินเดียหวังจะใช้ท่าเรือนี้เป็นที่ส่งสินค้าหลักจากอินเดียมายังอัฟกานิสถาน รายได้จากการค้าของทั้งสองฝ่ายยังคงถูกปิดเป็นความลับจนกว่าความสัมพันธ์ของอินเดียกับรัฐบาลใหม่จากกรุงคาบูลจะถูกพัฒนาขึ้นมา

เมื่อกองกำลังของฏอลิบานได้รับชัยชนะทั่วทั้งอัฟกานิสถาน อินเดียก็ถอนคณะทำงานของตนออกมาจากกงสุลของตนในกอนดาฮาร์ เฮรัด ญะลาละบัด และมาซารี ชารีฟ (Mazhar-e-Sharef) ซึ่งอยู่ใกล้กับอุซเบกิสถาน

ส่วนสถานทูตส่วนที่เหลือต่างก็เปิดสถานทูตของตนเองหลังฏอลิบานเคลื่อนเขาสู่เมืองหลวง

ที่น่าสนใจก็คือ ซาอุดีอาระเบีย และ UAE ต่างก็เรียกนักการทูตของตนเองกลับและปิดสถานทูตของตนในกรุงคาบูล

ประเทศยุโรปส่วนใหญ่ ซึ่งในทางการเมืองแล้วเป็นกลุ่มก้อนเดียวกับสหรัฐต่างก็ตัดสินใจเอาเจ้าหน้าที่ของตนออกจากกรุงคาบูลเช่นกัน

ส่วนประธานาธิบดีอัชร็อฟ กอนีย์ (Ashraf Ghoni) ซึ่งหนีออกจากกรุงคาบูลในวันที่ฏอลิบานเข้าครองเมืองหลวง ได้รับอนุญาตให้อยู่ในดูไบหลังจากเขาไปโผล่ตัวที่ UAE

ประเทศต่างๆ ในยุโรปและเอเชียต่างก็กังวลถึงความไม่มั่นคงในอัฟกานิสถาน กลัวว่าแผ่นดินนี้จะกลับมาเป็นที่รวมของการก่อการร้ายในภูมิภาคทำให้การลักลอบขนยาเสพติดพุ่งขึ้นและคลื่นผู้อพยพจะเพิ่มขึ้น

แต่ประเทศเหล่านี้ก็กำลังพัฒนาความสัมพันธ์กับฏอลิบานในขณะที่อินเดีย ยังคงเป็นประเทศเดียวที่ไม่เหมือนใคร อินเดียเลือกที่จะนำคณะนักการทูตของตนออกจากอัฟกานิสถานด้วยการช่วยเหลือของสหรัฐ ซึ่งดูแลสนามบินนานาชาติในกรุงคาบูล

แต่ในท้ายที่สุดอินเดียก็ขอให้ฏอลิบานให้การคุ้มครองเอกอัครราชทูตของตนไปยังสนามบิน

 

ความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบ

แม้อินเดียจะไม่ได้บอก แต่ความสนใจหลักในการกลับมาของฏอลิบานก็เป็นที่หวาดหวั่นว่าจะมีผลกระทบต่อเหตุการณ์ในแคชเมียร์หรือไม่?

ชัยชนะของนักรบที่มีต่อมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดของโลกอาจจะปลุกเร้ากลุ่มสุดโต่งไปทั่วโลกก็เป็นได้

ปลายทศวรรษ 1990 เมื่อฏอลิบานเข้าสู่อำนาจนั้นพบว่ากลุ่มอย่างลัชการีฏออิบะฮ์ (Lashkar-i-Taiba) และกลุ่มนักต่อสู้แคชเมียร์ได้รับการฝึกฝนอย่างเปิดเผยในอัฟกานิสถาน

อัลกออิดะฮ์ยกย่องชัยชนะของฏอลิบาน ด้วยการกล่าวว่านี่เป็นบทเริ่มต้นในการโค่นรัฐบาล “หุ่น” ในภูมิภาคอีกครั้ง

เวลานี้เป็นเวลาที่ได้รับการคาดหมายว่าจะมีความรอบคอบเกี่ยวกับการพูดคุยกับอัลกออิดะฮ์ ผู้เชี่ยวชาญกับการเผชิญการก่อการร้ายยืนยันว่าการย้ำของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ Mike Pompio เมื่อปี 2020 ที่บอกว่าฏอลิบานได้ตัดสายสัมพันธ์กับอัลกออิดะฮ์นั้นไม่ควรเอามาเป็นเรื่องจริงจังนัก

สหประชาชาติมีรายงานในเดือนกรกฎาคม ว่า ฏอลิบานและอัล-กออิดะฮ์ยังคงมีความใกล้ชิดกันและไม่มีอะไรแสดงให้เห็นว่าจะมีการตัดความสัมพันธ์ระหว่างกันแต่อย่างใด

กล่าวกันว่าเมื่อสหรัฐเริ่มพูดคุยกับฏอลิบานในปี 2018 อินเดียก็ควรจะเริ่มพูดกับฏอลิบานโดยทันที หลังจากมีรายงานถึงการจัดการพูดคุยระหว่างฏอลิบานกับฝ่ายต่างๆ ในกาตาร์ อินเดียปฏิเสธการติดต่อใดๆ กับฏอลิบาน

อินเดียดูเหมือนจะมีความชักช้าในการยอมรับการตัดสินใจถอนทหารของสหรัฐ และรัฐบาลของกอนีย์เองก็ดูเหมือนจะขาดความชัดเจนในการวิเคราะห์ สังเกตการณ์ หลังจากรัฐบาลของเขาเชื่อมาตลอดว่ามีความเหนือกว่าและไม่จำเป็นต้องมีการพูดถึงการใช้อำนาจร่วมกันกับฏอลิบาน ดูเหมือนว่าอินเดียขาดการคาดหมายถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน

อินเดียไม่ควรเร่งรีบให้เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ออกมาจากกรุงคาบูล เอกอัครราชทูตของสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานแล้ว แต่ก็ยังมีอุปทูตในกรุงคาบูลเพื่อพูดคุยกับฏอลิบาน

อัลญะซีเราะฮ์ (Al Jazeera) รายงานว่าผู้ติดอาวุธของฏอลิบานให้การคุ้มครองเจ้าหน้าที่สถานทูตไปยังสนามบิน ส่วนหนึ่งสถานทูตจะกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ต่อมาจึงขอความช่วยเหลือจากฏอลิบานและพวกเขาก็ได้รับการคุ้มครอง

ตามรายงานของสื่ออินเดีย สถานทูตไม่สามารถหาพื้นที่ที่จะทำงานได้ เนื่องจากการอำนวยความสะดวกนั้นมีให้เฉพาะสมาชิกของนาโต้เท่านั้น

มีคำถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกว่าอินเดียได้ขอพื้นที่ให้กับเจ้าหน้าที่กลุ่มเล็กๆ หรือไม่? สถานทูตรัสเซียในกรุงคาบูลยังเปิดทำการต่อไป วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้จำเป็นต้องมีการคิดนอกกรอบด้วย

อินเดียควรเจรจากับฏอลิบานและส่งเอกอัครราชทูตกลับมาให้เร็วที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นอินเดียควรจะนำเสนอการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อชาวอัฟกันที่ไร้ที่อยู่ ไม่จำเป็นที่จะต้องนำเอาพลเมืองที่เป็นชาวซิกข์และชาวฮินดูกลับมาอินเดียแต่อย่างใด

 

จะมีอะไรหลังจากนี้

ฏอลิบานพยายามจัดตั้งรัฐบาลโดยมีหลายๆ ฝ่ายเข้าร่วม มีการติดต่อกับหะมิด กัรซัย อดีตประธานาธิบดี รวมทั้งอับดุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐและฝ่ายอื่นๆ ซึ่งหวังกันว่าความพยายามนี้จะประสบความสำเร็จ

แม้มีผู้เดินขบวนต่อต้านฏอลิบานในอัฟกานิสถาน แต่ก็มีคนจำนวนมากที่มีความหวังว่าการตั้งรัฐบาลที่มีความครอบคลุมจะนำเอาสันติภาพและความสงบกลับมาสู่ประเทศได้

ฏอลิบานได้พูดอย่างชัดเจนว่าไม่มีปัญหาในเรื่องประชาธิปไตยที่มาจากการใช้ชาริอะฮ์หรือกฎหมายอิสลาม ทั้งนี้ ฏอลิบานก็พูดเช่นกันว่าจะมีการนำแง่มุมการปกครองที่เปิดกว้างกว่าในปี 1996-2001 มาใช้

ปากีสถาน จีน รัสเซียอาจจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้การยอมรับรัฐบาลใหม่ในกรุงคาบูล

จนถึงเวลานี้สหรัฐได้อายัดเงินจำนวน 9.5 พันล้าน ซึ่งเป็นกองทุนของชาวอัฟกันในธนาคารสหรัฐ กองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวว่าสิทธิพิเศษในการเบิกเงิน 460 ล้านไม่อาจดำเนินการได้ แต่เดิมเชื่อกันว่าสหรัฐใช้ความกดดันนี้เพื่อมิให้ฏอลิบานขัดขวางการถอนทหารจากประเทศต่างๆ ออกจากอัฟกานิสถาน แต่การถอนทหารและเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการขัดขวางจากฏอลิบานแต่อย่างใด หากแต่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจว่าในช่วงการออกนอกประเทศอัฟกานิสถาน ทหารของต่างชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐและอังกฤษรวมทั้งชาวอัฟกันเองต้องมาเจอกับการถล่มด้วยระเบิด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันนับร้อยคน โดยฝีมือของกลุ่มไอเอสเค (IS-K) ที่เป็นสาขาของกลุ่มไอเอสที่มีสมาชิกอยู่ 500-1,500 คน ที่ในระยะหลังมีความระหองระแหงกับฏอลิบานและปะทะกันบ่อยครั้ง

มองจากภาพใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์ก็จะพบว่าหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จีนและรัสเซียมีความสนิทสนามกันและเป็นพันธมิตรซึ่งเสริมกำลังให้แก่กันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตะวันตกแซงก์ชั่นรัสเซียเพื่อตอบโต้การผนวกไครเมียในปี 2014

Biden เลือกที่จะไม่ยกเลิกการแซงก์ชั่นอิหร่าน หากข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่านไม่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่

อิหร่านตกลงที่จะลงทุน 400 พันล้านเหรียญสหรัฐในอินเดียเป็นเวลา 25 ปี พร้อมๆ ไปกับการลงทุนในรัสเซีย ขั้วของจีน-รัสเซีย-อิหร่านจึงปรากฏตัวขึ้นมา

แต่อินเดียควรจะมีความกังวลในพัฒนาการเหล่านี้มากกว่าสหรัฐซึ่งอยู่ไกล ถึงเวลาที่อินเดียต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศที่รอบด้านและคำนึงถึงความจำเป็นที่มีอยู่ใกล้ตัวให้มากขึ้น

สหรัฐใช้เงินไปจำนวนมหาศาลในอัฟกานิสถานและต้องหลั่งเลือดลงในแผ่นดินนี้ ที่มาของการเข้ามาแทรกแซงทางทหารของสหรัฐในอัฟกานิสถานมาจากเหตุการณ์โจมตีสหรัฐ (9/11)