อุสาหกรรมท่องอวกาศ หลากทางเลือกเที่ยวนอกโลก/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

อุสาหกรรมท่องอวกาศ

หลากทางเลือกเที่ยวนอกโลก

 

ปี2021 แม้จะเป็นปีที่โลกเกือบจะหยุดนิ่งเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

แต่สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอวกาศแล้วกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นการแข่งขันอันดุเดือดอย่างยิ่ง

12 กรกฎาคมที่ผ่านมา “ริชาร์ด แบรนสัน” มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัท “เวอร์จิ้นกาแล็กติก” โดยสารเครื่องบินจรวด พร้อมกับนักบินและพนักงานบริษัทเวอร์จิ้นกาแล็กติก อีก 3 คน บินขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลกได้สำเร็จที่ความสูง 86 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก

นับเป็นการเปิดประตูสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอวกาศขึ้นเป็นครั้งแรกหลังตั้งบริษัทมา 17 ปี

หลังจากนั้น 8 วัน “เจฟฟ์ เบซอส” มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก เจ้าของ “แอมะซอน” อีคอมเมิร์ซระดับโลก ก็ขึ้นจรวด “นิวเชพเพิร์ด” ของบริษัท “บลูออริจิ้น” บริษัทท่องเที่ยวอวกาศของตนเองพร้อมกับน้องชายและคนที่ได้รับการคัดเลือก สู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วยความสูง 106 กิโลเมตร

ด้านอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัท “สเปซเอ็กซ์” บริษัทอุตสาหกรรมอวกาศที่มีประสบการณ์ขนส่งทางอวกาศมาอย่างโชกโชนก็กำลังจะส่งบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เป็นนักบินอวกาศ 4 คนขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน

 

การแข่งขันด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศที่เป็นไปอย่างดุเดือด ทำให้ทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากมีประสบการณ์ไร้น้ำหนัก ชมทิวทัศน์จากนอกโลก นั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

และไม่เฉพาะการส่งมนุษย์ข้ามเขตแดนชั้นบรรยากาศสู่อวกาศเท่านั้น แต่ยังอาจรวมไปถึงการโคจรรอบดวงจันทร์เลยทีเดียว

สำหรับ “เวอร์จิ้นกาแล็กติก” ของแบรนด์สันนั้น ให้บริการด้วยเครื่องบินขนส่งขนาดยักษ์ที่จะเทกออฟจาก “รันเวย์” ไต่ระดับสู่ระดับความสูง ก่อนจะปลดเครื่องบินจรวดลำเล็ก นำผู้โดยสารบินขึ้นสู่ความสูง 80 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ความสูงในระดับที่สหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นเส้นเขตแดนสู่อวกาศ สัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักราว 3-4 นาที ก่อนจะนำเครื่องบินลงแลนดิ้งเหมือนเครื่องบินปกติ

เวอร์จิ้นกาแล็กติกเคยเปิดขายตั๋วสำหรับเดินทางสู่อวกาศอยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากปิดการขายตั๋วไป บริษัทออกมาประกาศว่าจะทำราคาให้ลงมาอยู่ที่ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.3 ล้านบาทในอนาคต

และวางแผนที่จะให้บริการท่องอวกาศได้จริงในปี 2022 นี้

 

ด้าน “บลูออริจิ้น” ของเบซอสนั้นให้บริการนำนักท่องเที่ยวขึ้นสู่อวกาศด้วยแคปซูล ที่ติดอยู่ที่จรวด “นิวเชพเพิร์ด” ซึ่งจะถูกยิงขึ้นในแนวตั้ง

แคปซูลจะแยกตัวออกจากจรวดเมื่อเข้าสู่ห้วงอวกาศ ส่วนจรวด “นิวเชพเพิร์ด” จะกลับลงจอดสู่พื้นโลกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในการเดินทางครั้งต่อไป

สำหรับห้องโดยสารในแคปซูลของบลูออริจิ้น จะมีหน้าต่างชมวิวขนาดใหญ่กว่าของเวอร์จิ้นกาแล็กติก ที่เป็นหน้าต่างเครื่องบินตามปกติ โดยแคปซูลโดยสารจะอยู่ในอวกาศที่ความสูง 100 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ความสูงที่วงการอวกาศนานาชาติถือว่าเป็นเขตแดนสู่อวกาศ

นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักเป็นเวลา 10 นาที ก่อนที่แคปซูลโดยสารจะกลับคืนสู่แรงโน้มถ่วงโลก และกลับลงสู่พื้นโลกด้วยร่มชูชีพขนาดยักษ์

สำหรับค่าตั๋วโดยสาร “บลูออริจิ้น” นั้นยังไม่ได้มีการกำหนดราคา แต่มีข่าวลือว่าอาจมีราคาสูงถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 16.4 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับค่าโดยสารของเวอร์จิ้นกาแล็กติก และบลูออริจิ้นนั้นมีการคาดการณ์กันว่าจะสามารถทำราคาได้ต่ำลงมาที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.2 ล้านบาทภายใน 10 ปี

 

สําหรับบริษัท “สเปซเอ็กซ์” นอกจากโครงการส่งคนธรรมดา 4 คน ในโครงการ “อินสไปเรชั่น 4” ซึ่งจะเป็นการส่งคนขึ้นสู่อวกาศระยะเวลานานถึง 3 วันแล้ว ยังร่วมให้บริการขนส่งโครงการ “แอกซิออม มิสชั่น 1” หรือ “เอเอ็กซ์ 1” ด้วย

“เอเอ็กซ์ 1” เป็นบริการพาเที่ยวอวกาศระยะเวลานานถึง 10 วัน ในจำนวนนี้ 8 วันเป็นการพักอาศัยที่สถานีอวกาศนานาชาติ ไอเอสเอส โดยในเดือนมกราคม ปี 2022 นี้ จะมีนักธุรกิจ 3 คนเดินทางพร้อมกับอดีตนักบินอวกาศของนาซ่าในโครงการเอเอ็กซ์ 1 นี้ โดยในการเดินทางครั้งจะเป็นการทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสถานีอวกาศส่วนที่เป็นพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาด้วย

สำหรับค่าตั๋วโดยสารใน “เอเอ็กซ์ 1” นั้นมีราคาสูงถึง 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อคน หรือราว 1,800 ล้านบาทเลยทีเดียว

ทั้งนี้ สเปซเอ็กซ์ยังมีโครงการร่วมกับสเปซแอดแวนเจอร์ นำลูกค้าสู่อวกาศอีก 4 ราย ในอนาคต รวมถึงโครงการ “เดียร์มูน” ที่จะนำนายยูซากุ มาเอซาวา มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นเดินทางโคจรรอบดวงจันทร์ ด้วยจรวด “สตาร์ชิพ” ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา และวางแผนที่จะออกเดินทางให้ได้ในปี 2023 นี้

 

สําหรับการเดินทางท่องเที่ยวอวกาศที่มีราคาที่คนทั่วไปพอจะจับต้องได้ก็มีอยู่เช่นกัน โดยบริษัท “สเปซเปอร์สเปคทีฟ” จะใช้แคปซูลปรับแรงดัน ที่จะถูกนำขึ้นสู่อวกาศด้วยบอลลูนอวกาศสมรรถนะสูงขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล อย่างไรก็ตาม ด้วยความสูงเพียง 30 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกทำให้ยังไม่สามารถสัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักได้ แต่ก็สูงพอที่จะเห็นความโค้งของโลกได้ที่เส้นขอบฟ้า โดยใช้เวลาเดินทางนาน 6 ชั่วโมง

สำหรับตั๋วโดยสารของสเปซเปอร์สเปคทีฟนั้นสนนราคาอยู่ที่ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.1 ล้านบาทต่อคน อย่างไรก็ตาม ทัวร์อวกาศดังกล่าวอาจต้องรอถึงปี 2024 เลยทีเดียว

จากนี้อุตสากรรมการท่องเที่ยวอวกาศคงจะมีการแข่งขันที่ร้อนแรงกันต่อไป อย่างเช่นที่แบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ทำนายเอาไว้ว่า ธุรกิจนำเที่ยวอวกาศนั้นจะสามารถเติบโต้ได้ถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 88.7 ล้านล้านบาท ภายใน 30 ปีข้างหน้า