จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : เสน่ห์สร้อยคำ / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

เสน่ห์สร้อยคำ

 

คนไทยมีนิสัยประจำชาติอย่างหนึ่ง ชอบพูดอะไรต่อสร้อยอยู่เสมอ จนกลายเป็นคำพูดติดปาก เช่น เสื้อแสง กินเกิน เรียนเริน อาหารอาเหิร หนังสือหนังหา กระซิบกระซาบ ฯลฯ

ตัวอย่างข้างต้น ความหมายอยู่ที่คำนำหน้า คำหลังเป็นสร้อยเสริมเข้ามา ไม่มีความหมาย

บางครั้งตำแหน่งของสร้อยอยู่ที่คำหน้า ความหมายก็ย้ายไปคำหลัง เช่น อาหงอาหาร นักรงนักเรียน กินข้งกินข้าว เครื่องบงเครื่องบิน ฯลฯ

‘สร้อยคำ’ หรือ ‘คำสร้อย’ จึงเติมหรือประกอบคำอื่นเพื่อให้ถ้อยคำฟังรื่นหู เพิ่มจังหวะของคำ เกิดท่วงทำนองนุ่มนวล ไม่ห้วน ไม่แข็งกระด้าง ในวรรณคดีก็มีไม่น้อย

อย่างคำว่า ‘ผัว’ และ ‘เมีย’ ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่นางศรีมาลาฝันว่าลงเล่นน้ำในสระ แล้วเด็ดดอกบัวงามติดมือมา ‘กอดแนบแอบอุราประคองดม’ พอตื่นขึ้นดอกบัวก็หายไป รู้สึกเสียดายจึงให้อีเม้ยสาวใช้ช่วยทำนายฝัน

 

“อีเม้ยชมว่าฝันของนายดี

ดอกบัวคือผัวมิใช่อื่น                                 มิพรุ่งนี้ก็มะรืนคงถึงที่

ไม่เหมือนอีเม้ยทายให้นายตี                        ฝันอย่างนี้ได้ทายมาหลายคน”

 

บ่าวทายถูกใจเลยถูกนายด่ากลบเกลื่อนความในใจ

 

“ศรีมาลาว่าไฮ้อีมอญถ่อย                            เอาผัวผ้อยมาพูดไม่เป็นผล

อุตริทำนายทายสัประดน ……………………………………”

 

มี ‘ผัวผ้อย’ ก็มี ‘เมียม่อย’ ตอนที่ขุนแผนท้าพระไวย ลูกชาย ด้วยการ ‘ถอดดาบฟ้าฟื้นยืนแกว่งไกว’ ทำเอาบ่าวไพร่ของพระไวยสติแตก

 

“พวกบ่าวพระไวยตกใจวิ่ง                              ทั้งผู้ชายผู้หญิงหลบหน้าหนี

ขุนแผนแค้นใจใช่พอดี                                   เฮ้ยอ้ายไวยมานี่มาเล่นกัน

เด็ดขาดกันไปใช่พ่อแม่                                  ถึงกูเฒ่ากูแก่ก็ไม่พรั่น

เป็นตายร้ายดีกูคงฟัน                                   เมียม่อยมึงด้วยกันก็ดูเอา”

 

ทั้ง ‘ผัวผ้อย’ และ ‘เมียม่อย’ สร้อยคำคือ ‘ผ้อย’ และ ‘ม่อย’ เติมเข้ามาเป็นสีสันของภาษาให้อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในขณะนั้น

 

นอกจากนี้ ยังมี ‘กูก้อย’ ตอนที่ขุนแผนโกรธพระไวยที่พูดจาโอหังไม่เกรงใจญาติผู้ใหญ่

 

“ขุนแผนร้องแปร้นเจ้าลูกชาย                         พ่อตาแม่ยายหากลัวไม่

อวดอิทธิฤทธาว่ามากไป                               ใครใครไม่กลัวทั้งแผ่นดิน

จะสู้ทนจนยับไม่กลับถอย                             กูก้อยไม่กลัวเสียหมดสิ้น”

 

แม้ ‘ก้อย’ ซึ่งเป็น ‘สร้อยคำ’ ในที่นี้จะมีความหมาย แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับคำว่า ‘กู’ เลยสักนิด เช่นเดียวกับคำว่า ‘เงาะเงย’ ในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ทั้งนางมณฑา แม่ยาย และท้าวสามล พ่อตา พร้อมใจกันใช้เรียกลูกเขย ดังตอนที่ท้าวสามลขอให้นางมณฑาตากหน้าไปขอร้องลูกเขยแทนพระองค์

 

“เจ้าอุตส่าห์แข็งใจออกไปหา                             บอกว่าพี่เฒ่านี้รับผิด

ให้เจ้าเงาะปรานีช่วยชีวิต                                มาต่อฤทธิ์ตีคลีแทนบิดา”

 

นางมณฑาหมั่นไส้พระสวามีที่ชิงชังรังเกียจเขยสุดท้องแต่ก็ต้องขอความช่วยเหลือในที่สุด

 

“จนจริงจะวิ่งไปหาเงาะ                                   น่าหัวเราะหนักหนาเจ้าข้าเอ๋ย

สิ้นมานะสะทะแล้วพระเอย                              เงาะเงยก็จะให้ไปง้องอน”

 

ทันทีที่นางมณฑาเห็นเจ้าเงาะถอดรูป ‘ผิวเนื้อเรื่อเหลืองเรืองรอง เปล่งปลั่งดั่งทองนพคุณ งามเลิศเหลือมนุษย์สุดแล้วพ่อ’ นางก็ร้องเรียกให้ท้าวสามลรีบมาดูลูกเขย ผลคือท้าวสามล

 

“ตรัสกับเสนานินทาเมีย                                  ตะแก่เสียจริตผิดแล้วเหวย

รูปทองที่ไหนเล่าเฝ้าชมเชย                            เงาะเงยน่าเกลียดขี้เกียจไป”

 

คำว่า ‘เงาะเงย’ ทั้งสองที่ สื่อถึงความไม่พอใจ รังเกียจเหยียดหยามในที

 

ยามที่ตัวละครเอกตกทุกข์ได้ยาก พระอินทร์เป็นผู้ช่วยคนสำคัญ ในเรื่อง “สังข์ทอง” นอกจากจะช่วยให้เจ้าเงาะยอมถอดรูปเป็นพระสังข์ พิสูจน์ความสามารถเป็นที่ยอมรับของพ่อตาแม่ยายและคนทั้งหลายด้วยการตีคลีชนะพระอินทร์แล้ว ยังทำให้ท้าวยศวิมล (พ่อบังเกิดเกล้าของพระสังข์) ตาสว่างว่าที่ลูกเมียต้องพลัดพรากไปเพราะพระองค์หูเบาหลงเชื่อเมียน้อยที่ใส่ความเมียหลวง พระอินทร์ขู่ท้าวยศวิมลว่า

 

“แม้นรักตัวกลัวตายอย่านิ่งเสีย                           ไปตามลูกตามเมียมาให้ได้”

 

พระอินทร์สำทับว่าถ้าไม่ทำตามนี้จะตีด้วยกระบองเหล็ก

ท้าวยศวิมลเล่าเรื่องทั้งหมดให้นางจันทาฟัง นางตอบโต้พระสวามีอย่างรุนแรง ‘ข้าไม่โง่เง่าดอกอย่าหลอกกัน’

 

“จริงอยู่คะข้าเจ้าเป็นคนโกง

สารพัดไม่ดีมีแต่ชั่ว                                          เดี๋ยวนี้ก็เห็นตัวอยู่โต้งโต้ง”

เอาพระอินทร์พระอ้อยมาพลอยโกง                      ปากโป้งไปกระนั้นกันนินทา”

 

คำว่า ‘พระอินทร์’ ในที่นี้มีสร้อยคำว่า ‘พระอ้อย’ ซึ่งแสดงถึงอารมณ์โกรธแค้น นางจันทาไม่ให้ราคาพระอินทร์เลย

 

วรรณคดีบางเรื่องใช้คำเดียวกัน แต่มีสร้อยคำต่างกันไป เช่น คำว่า ‘คารม’ ซึ่งหมายถึง ฝีปาก ถ้อยคำสำนวนที่คมคาย เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่เถนขวาดช่วยสร้อยฟ้าทำเสน่ห์จนพระไวยหลงใหลรีบไปหา แต่สร้อยฟ้าเล่นตัว แสร้งทำเป็นโมโห ประชดประชันต่างๆ นานา พระไวยถึงกับออกปากว่า

 

“ชิต้าฉาแต้เจ้าแม่เอ๋ย                                       คารี้คารมกระไรเลยหาเหือดไม่”

 

‘คารี้คารม’ มีสร้อยคำคือ ‘คารี้’ ซึ่งไม่มีความหมาย แต่เมื่อรวมกับ ‘คารม’ เป็น ‘คารี้คารม’ ความหมายก็ไม่ต่างกับ ‘เจ้าคารี้สีคารม’ ที่ใช้ในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” และ “ไกรทอง” หมายถึง คารมคมคายเหลือหลาย ในเรื่อง “สังข์ทอง” เมื่อนางรจนาถูกพี่สาวทั้งหกเหน็บแนมเย้ยหยันว่า

 

“เมียเจ้ารูปทองสิบสองหนัก                                ยศศักดิ์ปึ่งชาหาน้อยไม่

พี่น้องพร้อมพรั่งชั่งกระไร                                  แต่จะยกมือไหว้ก็ไม่มี”

 

น้องนุชสุดท้องจึงสวนกลับทันที

 

“เออนี่กระไรช่างไม่อาย

ออกมานั่งตั้งกระทู้ขู่ข่ม                                     เจ้าคารี้สีคารมใจหาย

เมื่อแรกได้ผัวเงาะเยาะวุ่นวาย                             ทั้งตัดเป็นตัดตายจะตบตี

ประเดี๋ยวนี้จะกลับมานับถือ                                นี่ลืมไปแล้วหรือนะหม่อมพี่

เป็นผู้ใหญ่อะไรอย่างนี้                                       ข้ามิอยากไหว้ให้เสียมือ”

 

ตอนที่ไกรทองหมดทางห้ามปรามเมียทั้งสาม (นางตะเภาแก้ว ตะเภาทอง และนางจระเข้วิมาลา) ที่ทะเลาะกันเพราะหึงหวง ไม่มีใครยอมใคร ต้นเหตุถึงกับ ‘บ่นออดทอดใจใหญ่’ และด่ากราด

 

“นางพี่น้องสองคนก็ล้นเหลือ                                บ้าโลหิตขวิดเฝือเหมือนมหิงส์ (=ควาย)

นางวิมาลาเล่าก็เพราพริ้ง                                    น้อยหรือนั่นท่านผู้หญิงทั้งสามคน

เจ้าคารี้สีคารมไม่สมหน้า                                    เหมือนอีแม่ค้าปลาที่หัวถนน”

 

‘เจ้าคารี้สีคารม’ ในที่นี้ไม่ใช่แค่คารมคมคาย แต่ถึงขั้นปากจัดปากตลาด ด่าไฟแลบ พรั่งพรูคำต่ำช้า หยาบคายไม่เป็นผู้ดี ราวกับแม่ค้าขายปลาก็ไม่ปาน บอกถึงอารมณ์ผู้พูดว่าเอือมระอาระคนหมั่นไส้

เสน่ห์สร้อยคำคือ ส่วนหนึ่งของเสน่ห์เสียงคำในภาษาไทย มิใช่เป็นเพียงเสียง แต่เป็นเสียงสื่ออารมณ์