มองบ้านมองเมือง : เรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น / ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

 

เรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น

 

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นหนึ่งหน่วยงานที่รับภาระหนัก ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยความรู้ความสามารถของบุคลากรโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขของนักวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้วยหลักการแห่งมนุษยธรรม ของสภากาชาดไทย

ผู้ป่วยมากมาย ทุกประเภท ตั้งแต่ครั้งที่ยังไม่แบ่งสี หลั่งไหลมาที่โรงพยาบาล ตั้งแต่ตรวจ และฉีดวัคซีนป้องกัน รับการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไป ผู้ที่ได้รับเชื้อ ผู้ป่วยโรคต่างๆ และยังได้รับเชื้อ ที่ทำให้ต้องมีการแยกพื้นที่ แยกอาคาร และแยกการดูแลรักษา ทั้งผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยในภาวะวิกฤต

ยังมีการวิจัยค้นคว้าวัคซีนป้องกันและยารักษาโรค ทั้งในห้องปฏิบัติการ และภาคสนามอย่างเข้มข้นและก้าวหน้า

สมกับเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ ที่พร้อมจะตอบแทนสังคม และเป็นที่พึ่งของคนไทย ด้วยศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤต มากถึง 24 เตียง กึ่งวิกฤต 274 เตียง และขั้นติดเชื้อ ในโรงแรมเครือข่าย 500 เตียง

รวมทั้งระบบโฮม ไอโซเลชั่น ที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพ

 

ครั้นถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 การแพร่ระบาดของวายร้ายไวรัสรุนแรงมากขึ้น ผนวกกับตัวเลขจากการคาดการณ์ที่น่ากลัวยิ่งนัก ซึ่งจะเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล

ในวันที่ 15 กรกฎาคม ฝ่ายบริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นำโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพงษ์ วัชรสินธุ เริ่มหารือการสร้างโรงพยาบาลสนาม เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต และกึ่งวิกฤต โดยสั่งการให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในทุกๆ ด้าน ได้แก่ ที่ตั้ง รูปแบบ ระบบอาคาร ระบบพิเศษป้องกันการแพร่เชื้อ การรักษาพยาบาล อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ งบประมาณและแหล่งที่มา รวมทั้งระยะเวลาที่ใช้

ในวันที่ 19 กรกฎาคม เมื่อทุกฝ่ายรายงานความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และทางเลือกต่อที่ประชุม เพื่อวินิจฉัยและกลั่นกรอง ก่อนที่จะมีข้อสรุป และสั่งการให้ทุกฝ่ายจัดทำรายละเอียดและแผนงาน เพื่อนำเสนออีกครั้ง

ในวันที่ 22 กรกฎาคม เมื่อรับทราบความพร้อมของทุกฝ่าย และรายละเอียดในทุกด้านแล้ว จึงตัดสินใจสร้างหอผู้ป่วยส่วนขยาย ณ ลานหน้าอาคารแพทยพัฒน์ สำหรับผู้ป่วยวิกฤตและกึ่งวิกฤต ให้แล้วเสร็จในระยะเวลาสามสิบวัน

 

 

การตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลให้ไม่เพียงฝ่ายระดมทุนต้องสืบหาผู้บริจาค และยอดเงิน

ฝ่ายพยาบาลต้องเตรียมการดำเนินงานดูแลรักษา

ฝ่ายงานพัสดุต้องเตรียมรับการทำสัญญาจ้าง ที่รองรับการทำงานแบบเร่งด่วน

รวมทั้งฝ่ายบริหารต้องพร้อมที่จะตัดสินใจและจัดการ ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านเวลา

โดยเฉพาะงานก่อสร้างอาคาร ที่มีรายละเอียด และความต้องการทางการแพทย์ ภายในระยะเวลาและงบประมาณที่จำกัด ซึ่งในเวลานั้นยังมีปัญหาคลัสเตอร์อันตรายของคนงานก่อสร้าง และแรงงานในโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง

ในวันที่ 26 กรกฎาคม ฝ่ายกายภาพ ของโรงพยาบาล นำโดยศาสตราจารย์ ดร.เสริชย์ โชติพานิช เริ่มงานออกแบบอาคาร ตามข้อกำหนดต่างๆ ได้แก่ เวลา งบประมาณ และระบบอาคารพิเศษทางการแพทย์ กำหนดวัสดุก่อสร้าง ระบบการก่อสร้าง ทั้งอาคาร โครงสร้าง งานระบบอาคาร และงานระบบพิเศษทางการแพทย์ ไปจนถึงสภาพพื้นที่ก่อสร้าง สภาพดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะแรงงานและช่างฝีมือ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐ

ด้วยข้อจำกัดทั้งปวง จากการศึกษาและวิจัยของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมาซึ่งแนวทางการออกแบบพื้นที่ใช้สอย โครงสร้างและระบบอาคาร วัสดุอุปกรณ์ วิธีการก่อสร้างและผู้ก่อสร้าง ฯลฯ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผนวกกับความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค จากหน่วยเซอร์วิสโซลูชั่นบิสิเนส ของเอสซีจี หรือเครือซิเมนต์ไทย

โดยใช้วิธีแบ่งงานออกเป็น 13 กลุ่มงาน เพื่อกระจายงาน ไปตามผู้รับจ้างที่เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง ที่ต้องแยกการเตรียมการ การผลิต ก่อนที่จะนำมาติดตั้งตามลำดับงานและเวลา แทนการว่าจ้างผู้รับเหมารายเดียว เช่นที่ดำเนินการในยามปกติ

ประกอบด้วย งานโครงสร้างอาคาร งานสถาปัตย์ เฉพาะผนัง เพดาน และประตูหน้าต่างทั่วไป งานระบบปรับและระบายอากาศ งานระบบไฟฟ้าและสื่อสาร งานระบบคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์วงจรปิด งานระบบสื่อสารภายใน audio phone งานระบบแก๊สต่างๆ งานเตรียมพื้นที่ งานภายนอกอาคาร และงานอื่นๆ

ยังมีงานระบบประตูอัตโนมัติ งานควบคุมกลาง central monitor และงานระบบหน่วยไอซียู ICU modular

 

 

วันที่ 1 สิงหาคม เมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อม ผู้อำนวยการโรงพยาบาล จึงสั่งการเริ่มงานก่อสร้าง ณ สถานที่ก่อสร้างในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยสถาปนิกและวิศวกร ฝ่ายวางแผนและบริหารโครงการ จะประจำการทำงานตลอดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง การจัดลำดับการเข้างาน การประสานงาน และการตัดสินใจเมื่อมีปัญหา ภายใต้การสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร

และที่สำคัญการทุ่มเทกำลังความสามารถของแรงงานและช่างฝีมือ โดยไม่หวาดหวั่นต่อการติดเชื้อ

รวมกับความเต็มใจของบริษัทผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างทุกรายการ โดยไม่ได้คำนึงถึงธุรกิจผลกำไร ด้วยทุกฝ่ายต่างมุ่งมั่นร่วมกันสร้างกุศลกรรม

วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันส่งมอบอาคาร ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์สภานายิกา สภากาชาดไทย ธ ผู้ทรงประทับอยู่ ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้พระราชทานขวัญและกำลังใจ ให้กับทุกภาคส่วน ตั้งแต่เริ่มโครงการ จนกระทั่งงานแล้วเสร็จ พร้อมเปิดรองรับผู้ป่วยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมี ฯพณฯ องคมนตรี เกษม วัฒนชัย เป็นประธานพิธีเปิด

จนถึงวันนี้ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วย ส่วนขยาย กึ่งวิกฤตและวิกฤต แพทยพัฒน์ ตามแผนที่ได้วางไว้

 

 

ถ้านับเฉพาะเวลาการก่อสร้าง เพียง 12 วัน

ถ้านับเวลาตั้งแต่เริ่มโครงการ เพียง 22 วัน

และถ้านับเวลาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพียง 29 วันเท่านั้น

นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน คนไทยสามารถสร้างโรงพยาบาลสนาม เป็นอาคารชั้นเดียว กว้างหกเมตร ยาวสามสิบเมตร จำนวน 6 อาคาร รองรับผู้ป่วยวิกฤต 22 เตียง และผู้ป่วยกึ่งวิกฤต 64 เตียง ด้วยงบประมาณเพียงเตียงละห้าแสนบาทเท่านั้น

ถ้าใครชื่นชมข่าวการสร้างโรงพยาบาลสนามที่จีน แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว ตอนเกิดการแพร่ระบาดเมื่อปีก่อน

ข่าวนี้คงสร้างความภาคภูมิใจ ให้กับคนไทยได้เช่นเดียวกัน

และเป็นเรื่องน่ายินดีที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเศร้าจากการสูญเสีย ความหวาดหวั่นต่อการระบาด และความสับสนจากข้อมูลและข่าวสาร ในสงครามโรคครั้งนี้

มองบ้านมองเมืองจึงขอนำเสนอหนึ่งเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย