สมุนไพรเพื่อสุขภาพ : โสมอินเดียและโทงเทง กับโควิด-19 ?

(ซ้าย) โสมอินเดีย (ขวา) โทงเทง

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย / www.thaihof.org

 

โสมอินเดียและโทงเทง กับโควิด-19?

 

โควิดจะอยู่กับโลกนี้ไปอีกนาน

อะไรที่เกี่ยวกับโควิดก็จะมีออกมาเรื่อยๆ

ทั้งวัคซีนรุ่นสองที่จะใช้ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์

รวมถึงสมุนไพรที่แชร์กันบนโลกออนไลน์

จึงได้ลองทบทวนเอกสารที่ผ่านมาพบว่า โสมอินเดีย เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าจะมีศักยภาพในการนำมาใช้ประโยชน์

แต่สำหรับการศึกษาวิจัยที่นำมาเป็นคำตอบของโควิด-19 ยังมีไม่มากพอ

อย่างไรก็ตาม ก็มีความน่าสนใจมาก

โสมอินเดีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Withania somnifera (L.) Dunal หรือที่มีชื่อทั่วไปว่า อาช-วา-กาน-ดา (Ashwagandha)

คำว่า อาชวา-กานดา มาจากภาษาสันสฤตที่เป็นการผสมกันของคำว่าอัสวะ (ashva) ที่มีความหมายว่า “ม้า” กับคำว่า กานดะ (gandha) ที่มีความหมายว่า “กลิ่น”

เนื่องจากรากของโสมอินเดียมีกลิ่นแรงคล้ายกับกลิ่นของม้านั่นเอง

โสมอินเดีย จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์มะเขือ

อายุรเวทของอินเดียใช้เข้ายาในการรักษาข้ออักเสบ (arthritis) ภาวะวิตกกังวล (anxiety) โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) โรคสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder; ADHD) รักษาความสมดุลร่างกาย โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive dirorder; OCD) ปัญหาการนอนหลับ (insomnia) เนื้องอกบางชนิด โรคผิวหนังที่ปรากฏเป็นปื้นสีขาว (leukoderma) ปวดหลัง (fibromyalgia) ปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน สะอึก โรคตับเรื้อรัง

โรคเกี่ยวกับความเสื่อมทางสมอง ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคฮันติงตัน (Huntington’s เป็นโรคทางพันธุกรรมโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสื่อมของระบบประสาท) และอัลไซเมอร์

รวมถึงยังใช้ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษามะเร็งและจิตเภท (schizophrenia) และมีการใช้เพื่อลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดอีกด้วย

 

ในวิถีชีวิตชาวอินเดียก็นำโสมอินเดียมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดความเครียดและเป็นยาบำรุงร่างกายและป้องกันหรือลดความชราด้วย

บางคนยังใช้โสมอินเดียสำหรับพัฒนาทักษะการคิด ลดความเจ็บปวดและการอักเสบการบวม

โสมอินเดียยังเป็นสมุนไพรสำหรับผู้มีบุตรยากซึ่งใช้กับการทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงใช้เป็นสมุนไพรเกี่ยวกับเพิ่มพลังทางเพศอีกด้วย

ในประเทศอินเดียมีผลิตภัณฑ์จากโสมอินเดียหลายชนิด เช่น โลชั่นทาบนผิวหนังใช้รักษาบาดแผล แก้ปวดหลังและอัมพฤกษ์ครึ่งซีก (hemiplegia)

ในโสมอินเดียพบสารสำคัญหลายชนิดที่ช่วยทำให้สมองสงบลง ลดการบวม (อักเสบ) ลดความดันโลหิตลง และปรับสภาพระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

แต่การใช้โสมอินเดียยังมีข้อจำกัดหรือผลข้างเคียง ผู้ที่มีภาวะความดันไม่ปกติเมื่อใช้โสมอินเดียอาจทำให้ความดันโลหิตลดลง ซึ่งอาจเข้าไปรบกวนยาที่ใช้รักษาระดับความดันโลหิตสูงได้

ดังนั้น ในกลุ่มผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำหรือใช้ยาควบคุมความดันโลหิตควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

โสมอินเดียยังไปสร้างความระคายเคืองแก่ระบบทางเดินอาหารจึงไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร และสำหรับผู้ป่วย “โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง” เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis; MS) โรคพุ่มพวง (Lupus (systemic lupus erythematosus; SLE) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis; RA) หรือภาวะที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

โสมอินเดียอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองมีอาการมากขึ้น จึงไม่ควรใช้โสมอินเดียจะดีที่สุด

 

แม้ว่าโสมอินเดียจะเป็นสมุนไพรที่มีการใช้ในกลุ่มประเทศอินเดีย เนปาล ปากีสถานมาเป็นเวลานานนับร้อยปี แต่งานวิจัยเชิงลึกที่จะสนับสนุนการบำบัดรักษาโรคต่างๆ เป็นการเฉพาะยังมีไม่เพียงพอรวมถึงการวิจัยรักษาโควิด-19 ด้วย

แต่พบว่ามีพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโสมอินเดียคือ โคมไฟจีน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alkekengi officinarum Moench มีถิ่นกำเนิดในยุโรปไปจนถึงทางตอนกลางและทางตอนใต้ของจีน มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าพืชชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับโสมอินเดีย เพราะมีลักษณะภายนอกคล้ายกันมาก

นอกจากนี้ ยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับโสมอินเดีย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้และมีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย จนคนไทยคิดว่าเป็นพืชพื้นเมืองไทย

นั้นก็คือ โทงเทง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalis angulata L. ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์มะเขือเช่นเดียวกับโสมอินเดีย

ในการสืบค้นข้อมูลพบว่า โทงเทงทั้งต้นและผลมีรสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาขับความชื้นในร่างกาย แก้ไข้ตัวร้อน แก้อาการร้อนใน ไอร้อน กระหายน้ำ ขับเสมหะ

ในตำรายาจีนหลายฉบับระบุว่า โทงเทงใช้รักษาโรคช่องปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ น้ำปัสสาวะเป็นสีเหลือง ช่วยแก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ

วิธีใช้ นำทั้งต้นมาตำละลายกับเหล้า เอาสำลีชุบน้ำยาอมไว้ข้างๆ แก้ม แล้วค่อยๆ กลืนน้ำยาผ่านลำคอทีละน้อย

สำหรับคนที่ไม่ดื่มสุรา จะใช้น้ำส้มสายชูแทนก็ได้ผลเช่นเดียวกัน

ส่วนการใช้เป็นยาแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ยารักษาหลอดลมอักเสบ หอบ ไอ คอเจ็บ เสียงแหบต่างๆ ให้ใช้โทงเทงผสมกับเปลือกส้มจีนแห้งอย่างละ 2 สลึง นำมาต้มกับน้ำกิน

 

มองสรรพคุณทั้งโสมอินเดียและโทงเทงแล้ว

โทงเทงน่าจะมีสรรพคุณในการต้านโควิด-19 มากกว่า

แต่แปลกใจว่าเมื่อสืบค้นข้อมูลและทบทวนเอกสารต่างๆ จากต่างประเทศกลับไม่ปรากฏรายชื่อของโทงเทง

ทั้งๆ ที่จากตำรายาจีนโบราณบอกสรรพคุณไว้อย่างชัดเจน

หรือเพราะเป็นไปได้ว่าในต่างประเทศมีจำนวนสมุนไพรโทงเทงไม่มากพอ

ใครเห็นโอกาสนี้ โทงเทงก็เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าศึกษาวิจัยต่อไป