จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : เล็กจริงๆ / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม จ.สระบุรี

 

 

เล็กจริงๆ

 

เมื่อตัวละครต่างวัยกระทบกระทั่งกัน ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใหญ่ อีกฝ่ายเป็นเด็กหรืออ่อนวัยกว่า การใช้ถ้อยคำสำนวนมีเป้าหมายชัดเจน

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เมื่อพระไวยเผชิญหน้ากับพลายชุมพล (น้องชายที่ปลอมเป็นมอญ) ก็ทักทายเป็นเชิงข่มให้ตระหนักถึงความอ่อนด้อย

 

“จึงร้องมาว่าเหวยอ้ายมอญน้อย                   กระจ้อยร่อยใจกำเริบเติบใหญ่

ตัวเด็กเล็กน้อยไม่สมใจ                             ชื่อไรบอกความไปตามจริง”

 

คำว่า ‘น้อย กระจ้อยร่อย เด็ก เล็กน้อย’ สื่อถึงสภาพร่างกายยังไม่โตเต็มที่ ยังไม่เป็นหนุ่ม บอกเป็นนัยๆ ว่าฝีไม้ลายมือก็พลอยน้อยตามไปด้วย

ร้ายกว่านั้น ตัวละครผู้เฒ่าหยิบเอาอวัยวะบางส่วนมาจงใจด้อยค่าเพื่อเหยียดหยามผู้เยาว์ ดังที่เถนขวาดพูดถึงพลายชุมพลว่า

 

“ถึงมีฤทธิ์เรี่ยวแรงแข็งเป็นเหล็กกล้า             มันก็เด็กเล็กลูกกะหำใส

มันจะรู้ลึกซึ้งถึงเพียงใด                            ปากไอยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม”

 

กะหำ คือลูกอัณฑะ หรือของที่ลับชายเป็นเม็ดกลมๆ สองเม็ดเหมือนไข่นั้น (อักขราภิธานศรับท์)

สมัยยังเด็ก ผู้เขียนเคยได้ยินคนข้างบ้านตะโกนด่าเด็กในบ้านว่า “ไอ้หนุ่มกระโปกใส ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง”

ทั้ง ‘กะหำใส’ และ ‘กระโปกใส’ น่าจะใช้เป็นเชิงเย้ยผู้เยาว์ว่าไม่เอาไหน ไม่ได้เรื่อง

นอกจากนี้ สำนวน ‘ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม’ ที่กวีใช้ว่า ‘ปากไอยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม’ มีความหมายว่ายังเป็นเด็กอยู่ แม้โตจนพ้นช่วงกินนมแล้วยังขาดความรู้ ประสบการณ์และความชำนิชำนาญ ไม่เจนจัดเหมือนผู้ใหญ่

เถนขวาดใช้สำนวนนี้เพื่อย้ำว่าพลายชุมพลยังเด็ก ไม่มีทางสู้ผู้ใหญ่อย่างเถนขวาดได้

 

บ่อยครั้งสิ่งที่กวีนำมาเทียบเคียงทำให้อมยิ้ม นอกจากทำให้มองเห็นภาพว่าเล็กจริงๆ ยังแสดงถึงอารมณ์ขันของกวี ดังจะเห็นได้จากเรื่อง “พระลักษณวงศ์” ตอนที่พญายักษ์วิรุญมาศได้รับจดหมายท้าทายจากมนุษย์

 

“ในสาราว่าพระกาลมาผลาญยักษ์                ชื่อพระลักษณวงศ์อันเรืองศรี

มารับองค์พระมารดาในราตรี                     ให้ยักษีเร่งยกโยธาตาม

ไปทางทิศบูรพาป่าระหง                           ให้สิ้นโคตรญาติวงศ์ไม่เข็ดขาม

จะคอยรับสัประยุทธ์ในสงคราม                  แม้นมิตามจะมาล้างให้วางวาย”

 

ทันทีที่อ่านจบ ท้าววิรุญมาศโกรธจัดจนหลุดปากว่า

 

“ไอ้ลูกเท่าขี้ตามาท้าทาย                          กูนี้หมายว่าใครที่ไหนมา

จะตามล้างเสียให้วางชีวาวาตม์                   …………………………………….”

 

พญายักษ์นำเอา ‘ขี้ตา’ ที่มีขนาดเล็กและไร้ค่ามาเปรียบเปรยดูแคลนพระลักษณวงศ์ว่าทั้งเด็กทั้งด้อยความสามารถ ยังบังอาจมาท้ารบ

ไม่ต่างกับเรื่อง “โคบุตร” หัศกัณฐมัจฉาเปรียบสองกุมาร (โคบุตร อรุณกุมาร) และพญาลิงว่ารวมกันแล้วก็ ‘เล็กเท่าขี้ตา’ ยังกล้ามาสู้

 

“ทั้งสามคนครึ่งคำไม่พอเคี้ยว                        ประเดี๋ยวเดียวชีวังจะสังขาร์

ไม่พอมือครือฤทธิ์อสุรา                               เท่าขี้ตาก็จะวิ่งมาชิงชัย”

 

‘ขี้ตา’ ถึงเล็กก็ยังมองเห็นชัด แต่ที่เล็กจนต้องเพ่งถึงจะเห็นคือ ‘เหา’ และ ‘เล็น’ ดังจะเห็นได้จากนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ตอนที่พราหมณ์โมรา สานน วิเชียร ยกทัพเข้าดงตาล เมื่อพบกับทัพปลัดอัสดรก็เจรจาอย่างเป็นมิตรขอร้องว่า ‘อย่ามาขวางหนทางเรา’ ไมตรีที่ยื่นให้กลับได้รับผลตรงข้าม

 

“ฝ่ายปลัดขัดใจว่าอ้ายเด็ก                             ล้วนเล็กเล็กลำตัวเท่าหัวเหา

กูหัวหงอกหลอกกูไม่ดูเงา                             จะเล่นเจ้าเสียให้ยับลงกับมือ”

 

ปลัดอัสดรมองสามพราหมณ์อย่างหยามเหยียดว่าเป็นแค่เด็ก ‘ล้วนเล็กเล็กลำตัวเท่าหัวเหา’ เปรียบกับเหาทั้งตัวก็เล็กมากอยู่แล้ว ถ้าเป็น ‘หัวเหา’ หรือ ‘หัวของเหา’ ก็ยิ่งเล็กลงไปอีก

ในเรื่อง “ลักษณวงศ์” เมื่อเผชิญหน้ากัน พระลักษณวงศ์ด่าท้าววิรุญมาศอย่างไม่ไว้หน้า

 

“ว่าเหวยๆ อสุราไอ้บ้ากาม                             ช่างเลียนลามพูดจาหน้าไม่อาย

พระชนนีมีศักดิ์ดังเหมราช                             มึงเหมือนชาติเช่นกาอย่ามาหมาย

แต่บาทาหน้ามึงมิได้กราย                              ไม่มีอายอาจเอื้อมอหังการ์

มึงถึงกรรมจำตายวันนี้แล้ว                            พระขรรค์แก้วกูจะตัดเอาเกศา

อีกแสนโกฏิโคตรมึงเร่งขับมา                         อสุรามิได้รอดไปเมืองมาร”

 

ท้าววิรุญมาศสุดจะทนคำหยามจากลูกชายของสตรีที่หมายปอง

 

“ตวาดก้องร้องเหม่ไอ้สามานย์                       จองหองหาญฮึกเหี้ยมไม่เจียมตน

เมื่อเล็กๆ สักเท่าเล็นทำเข่นเขี้ยว                   ดูแรงเรี่ยวเหมือนแมงวันไม่คันขน”

 

ท้าววิรุญมาศนำเอา ‘เล็น’ มาเปรียบกับพระลักษณวงศ์เพื่อเน้นถึงความเป็นมนุษย์กระจ้อยร่อย ไร้พละกำลัง ไม่ผิดอะไรกับ ‘แมลงวัน’ ตัวหนึ่ง

 

บางทีกวีก็เปรียบทั้ง ‘เหา’ และ ‘เล็น’ ไปพร้อมๆ กัน ในบทละครนอกเรื่อง “ไชยเชษฐ์” พระไชยเชษฐ์กล่าวแก่กุมารน้อย นารายณ์ธิเบศรว่า

 

“เมื่อแต่ล้วนเล็กเล็กกระจิริด                         ข้ามีจิตคิดรักจึงหยอกเล่น

ลูกเท่าหัวเหาเต่าเล็น                                 ไม่เคยพบเคยเห็นแต่บุราณ”

 

เช่นเดียวกับบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” เมื่อบรรดาเสนากลุ้มรุมฉุดเจ้าเงาะ เด็กเลี้ยงวัวต่างกรูกันขัดขวาง เสนาก็ตวาดลั่น

 

“บัดนั้น                                                 เสนาฮึกฮักชักหวาย

เหม่เจ้าเหล่านี้หลังจะลาย                           อย่าวุ่นวายไอ้หัวเหาเต่าเล็น”

 

กาญจนาคพันธุ์ อธิบายความหมาย ‘หัวเหาเต่าเล็น’ ไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ดังนี้

“แปลตามคำก็ว่า หัวเท่ากับตัวเหา เท่ากับตัวเล็ก คำว่า ‘เต่า’ ตรงกับ ‘เต่า’ ซึ่งหมายถึง เต่าจริงๆ หรืออาจจะเป็นคำเพี้ยน คือคำเดิมเป็น ‘เท่า’ แล้วเพี้ยนมาเป็น ‘เต่า’ ก็ได้…แสดงว่าเอาตัวเหากับตัวเล็นซึ่งเป็นสัตว์เล็กเหมือนกันมาเปรียบ ‘เต่า’ ไม่ใช่สัตว์เล็กพวกเดียวกัน คำว่า ‘เต่า’ จึงอาจจะมาจาก ‘เท่า’ คือ ‘หัวเหาเท่าเล็น’ แปลว่า เล็กเท่ากับตัวเหาตัวเล็น ถ้าเพี้ยนก็เพี้ยนมาแต่โบราณนานแล้ว จึงพูดกันว่าเป็น ‘หัวเหาเต่าเล็น'”

แม้ ‘เหา’ และ ‘เล็น’ มีขนาดเล็กจิ๋ว แต่ก่อความรำคาญมากโข เหาเป็นแมลงขนาดเล็กดูดกินเลือดคนและสัตว์ ดังที่ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์อธิบายว่า

“เหา, คือสัตว์ตัวหนิดๆ มันมักเกิดอยู่ที่เส้นผม ขน, ตัวมันขาวๆ นั้น”

ส่วน ‘เล็น’ เป็นแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กมากที่กัดแล้วทำให้ร่างกายระคายเคือง

“อักขราภิธานศรับท์” ให้ความหมายว่า

“เล็น, เปนชื่อสัตว์จำพวกหนึ่ง, ตัวมันเล็กเท่าตัวเรือด มันศรีขาวมักเกิดอยู่ที่ผ้านุ่งผ้าห่มคนนั้น”

ทั้งยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาหารของสัตว์ชนิดนี้

“เล็นกัด, คือตัวเล็นมันเกิดอยู่ที่ผ้านุ่งผ้าห่ม. เพราะเหงื่อไคลอาโศรยกัดกินเลือดคนนั้น

เล็นกิน, คือตัวเล็นมันกัดคนกินเลือด, ตัวเล็นมันเร้นอยู่ที่ผ้านุ่งผ้าห่มกินเลือดคน”

จะเห็นได้ว่าเสื้อผ้าหมักหมม อับชื้นด้วยเหงื่อไคลเป็นที่อาศัยของเล็น ซึ่งคอยกัดกินเลือดคนเป็นอาหาร ทั้งเล็นและเหาก่ออาการคันคะเยอได้พอๆ กัน เพียงแต่คันต่างที่ เหาทำให้คันหัว เล็นทำให้คันเนื้อคันตัวจนถึงในร่มผ้า

 

บทละครเรื่อง “ระเด่นลันได” ให้ภาพตัวละครชาวบ้านสมัยโบราณที่ห่างไกลสุขอนามัย มี ‘เหา’ และ ‘เล็น’ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน อย่างตอนชมโฉมนางประแดะ นางเอกของเรื่อง

 

“โฉมเฉลาเนาในที่ไสยา                                บรรจงหั่นกัญชาไว้ท่าผัว

แล้วอาบน้ำทาแป้งแต่งตัว                            หวีหัวหาเหาเกล้าผมมวย”

 

อีกตอนหนึ่งนางกระแอ ชู้รักของลันได มาพบภาพบาดใจระหว่างลันไดกับนางประแดะโดยบังเอิญ

 

“เห็นโฉมยงองค์ประแดะกับระเด่น                   คลี่ผ้าหาเล็นกันง่วนอยู่

โมโหมืดหน้าน้ำตาพรู                                  ดังหัวหูแยกแตกทำลาย”

 

‘เหา’ และ ‘เล็น’ ไม่ว่าจะเป็นสำนวน ‘หาเหาใส่หัว’ ‘เหาจะขึ้นหัว’ ฯลฯ รวมไปถึงการเปรียบเทียบหรือเอ่ยถึงในวรรณคดี เท่ากับยืนยันว่าสัตว์สองชนิดนี้อยู่คู่สังคมไทยมานาน

‘เหา’ และ ‘เล็น’ คือสาเหตุแห่งความคันอันเกิดจากความโสโครกที่สะสม

ถ้าปล่อยไว้ไม่จัดการ ต้องทนรำคาญต่อไป