ไม่ใครก็ใคร จะต้อง ‘สู่ขิต’ บทวิเคราะห์พลังประชารัฐ เมื่อธรรมนัส งัด ประยุทธ์

บทความในประเทศ

 

ไม่ใครก็ใคร

จะต้อง ‘สู่ขิต’

 

คําว่า “สู่ขิต” ที่มาจากคำว่า “สู่สุขคติ”

โด่งดังเป็นพลุแตก หลังพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ กับพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต 2 พระนักเทศน์ชื่อดัง จัดไลฟ์สด “แบตเทิลธรรมะ”

แบบดวลท้า “ไม่ใครก็ใคร จะต้องสู่ขิต”

สร้างแรงสะเทือนไปทั้งในและนอกวัด

จนต้องลุ้น “เจ้ากู” ทั้งสองรูป จะถูก “องค์กรสงฆ์-พระผู้ใหญ่” ทำให้ไป “สู่ขิต” ฐานปฏิบัติตนไม่สมสมณสารูปหรือไม่

ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของวัด ที่ดุเดือดเลือดพล่าน

แต่ที่ดุเดือดไม่แพ้กัน ก็คงเป็นเรื่อง “การเมือง”

ที่แม้ว่า ศึกซักฟอกจะจบลงไปแล้ว

แต่อย่างที่สังคมได้รับรู้ คือ “เรื่องไม่จบ”

โดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังถูกจับตาว่า ใครจะถูกทำให้ “สู่ขิต” ทางการเมืองหรือไม่

 

แน่นอนที่ถูกจับตามองมากที่สุดขณะนี้ คงไม่พ้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ว่าเขาจะถูกทำให้ไปสู่ “สู่ขิต” ทางการเมืองหรือเปล่า

ขณะเดียวกันตัว ร.อ.ธรรมนัสเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ได้สะสมฤทธิ์เดช และบารมีมากขึ้นตามลำดับ ก็คงไม่ยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว

หากแต่มีศักยภาพที่จะทำให้ใครไป “สู่ขิต” ได้เช่นกัน

อันรวมถึงพี่น้อง 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่คงต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัสและพวก หลังจากนี้อย่างใกล้ชิดด้วย

จะปล่อยให้เป็นขั้วการเมืองอิสระ หรือสะสมบารมีแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้

เพราะต้องยอมรับในศึกซักฟอกที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัสได้แสดงถึงบทบาทการเคลื่อนไหวอันโดดเด่น ที่สร้างความสั่นไหวให้กับ พล.อ.ประยุทธ์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ไม่ว่ากระแสที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.พรรคเล็ก จะลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์

ไม่ว่ากระแสที่ ร.อ.ธรรมนัสเป็นผู้นำความรู้สึกของคนในพรรคไปบอกแก่ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ ว่าเหินห่างต่อ ส.ส. และไม่เคยตอบสนองความต้องการ ของลูกพรรค

อันนำไปสู่ความต้องการให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐที่มีมาตลอด

นั่นคือ ควรจะมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรี เพื่อให้ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ควรจะมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีอันเหมาะสม มิใช่เพียง “รัฐมนตรีช่วย”

นั่นจึงมีการเชื่อมโยงว่า ศึกซักฟอกที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีในพรรค

และการต่อรองนั้น ได้พัฒนาความรุนแรงขึ้น ถึงขนาดต้องการให้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

รวมถึงทะลุพรรคไปถึงขนาดจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว

 

นั่นเองจึงทำให้ 3 ป.ต้องออกแรงเพื่อสยบกระแสเขย่าอำนาจดังกล่าว ก่อนการลงมติไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้น

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งบอกว่าได้คุยกับ พล.อ.ประวิตรแล้ว ท่านบอกว่าไม่มีอะไร คุยกับข้างในแล้ว แต่ก็ยังมีการปล่อยข่าวออกมาอีก ส่วนตัวไม่สบายใจ และ พล.อ.ประวิตรก็ไม่สบายใจ

เพราะเหตุนี้จึงออกมาให้สัมภาษณ์ “ดับเครื่องชน” ในหลายประเด็น

นับตั้งแต่ยืนยันจะไม่ทำตามแรงกดดัน

คือจะไม่ปรับคณะรัฐมนตรี ไม่ยุบสภา

ส่วนข่าวการโหวตล่มนายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า หากเรื่องนี้เป็นความจริง ถือว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษ

และตั้งคำถามอันแหลมคมว่า เรื่องนี้มีการ “แอบอ้าง” เรื่องการเปลี่ยนตัวนายกฯ หรือไม่

พร้อมกับระบุว่า “การแอบอ้างเบื้องสูงถือมีความผิดอย่างร้ายแรงนะ ผมคนเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี โอเคไหม ชัดเจนไหม”

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตรก็ประกาศชัดเจนเช่นเดียวกันว่า “ถ้านายกฯ ออก ผมก็ออก”

พร้อมๆ กับที่ พล.อ.อนุพงษ์ก็ออกโรงมาเคลื่อนไหวร่วมกับ 2 ป. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ

ยืนยันความสัมพันธ์ “กลุ่ม 3 ป.” ที่ยังกระชับแน่น

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังได้ทะลวงเข้าไปในกลุ่ม 4 ช. โดยอาศัยช่วงจังหวะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ ผู้อำนวยการพรรค และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แตกคอกับกลุ่ม 4 ช. แยกตัวออกมาจากกลุ่ม

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ชิงมอบหมาย “งานการเมือง” ให้ โดยเข้ามาเป็นผู้ประสานงานนำเอา ส.ส.พลังประชารัฐมาพบนายกฯ เพื่อลบล้างกระแสเหินห่างกับ ส.ส.

แม้ปฏิบัติการนี้จะถูกโจมตีว่า มี “กล้วย” เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ทำให้หยุดชะงัก ด้วยถือเป็นปฏิบัติการเกลือจิ้มเกลือ ที่ทำให้ฝั่งฟากของเลขาธิการพรรคถูกแซะ ถูกแทรกแซง

ทำให้ “เกม” ที่ดูเหมือนฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสรุกมาตลอด ถูกรุกกลับบ้าง

และยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ ประกอบส่วนเข้ามาประจัญหน้าแบบแพ็กทีม

ชะตากรรมของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ผกผันเปลี่ยนแปลง

ในที่สุดก่อนการลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ ภาพและข่าว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เดินทางไปขอโทษ พล.อ.ประยุทธ์ ณ บ้านป่ารอยต่อก็เกิดขึ้น

ถือเป็นประหนึ่งการ ‘อโหสิกรรม’ ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง

เท่ากับเลิกแล้วต่อกัน

แต่กระนั้น กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมา ก็ยังอึงคะนึงอยู่ในสังคมการเมืองต่อไปในลักษณะ ‘อาฟเตอร์ช็อก’ หลังการลงญัตติขอเปิดอภิปรายยังมีอยู่

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเสียงไว้วางใจ ในตำแหน่งรองบ๊วย ขณะที่เสียงไม่ไว้วางใจ มากที่สุดใน 6 คนที่ถูกซักฟอก

ทำให้ถูกมองว่า แกนนำของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแน่นอนย่อมรวมถึง ร.อ.ธรรมนัส ถูกมองว่ามี “แรงเฉื่อย”

ไม่มีความพยายามที่จะล็อบบี้เพื่อช่วยให้คะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาดูดีกว่านี้

ตรงกันข้ามผลที่ออกมายังกลับกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป

นี้เอง จึงทำให้เกิดกระแสคู่ขนานกันไป โดยจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร จะจัดการ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในทางการเมืองอย่างไร

ยังจะได้เป็น ‘รัฐมนตรี’ ยังเป็น ‘เลขาธิการพรรค’ อยู่หรือไม่

ยิ่งการที่เห็นนายสันติ พร้อมพัฒน์ เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์หลังศึกซักฟอก

ก็ยิ่งทำให้มีการมองว่า ในพรรคพลังประชารัฐอาจกำลังมีการจัดแถวขั้วอำนาจใหม่ หรือไม่

อันทำให้แนวโน้มของการ ‘เช็กบิล’ คิดบัญชีทางการเมืองพลอยเด่นชัดไปด้วย

และเป้าที่ถูกจับตามองก็คือ ร.อ.ธรรมนัสนั่นเอง

แม้ว่า พล.อ.ประวิตรจะยืนยันว่าสถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส “เรียบร้อยดี” ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองระดับ ร.อ.ธรรมนัส ย่อมมิใช่ตะเกียงที่ไร้น้ำมันอย่างแน่นอน

ทั้ง “ทุน” ทั้ง “พวก” ทั้ง “คอนเน็กชั่น” ในฟากรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยังแน่นปึ้ก

คงไม่ยอมอยู่ในสถานะถูกกระทำฝ่ายเดียว

แต่ในตอนนี้ คงต้องสงวนท่าที และดูว่า อีกฝั่งฟากจะเคลื่อนไหวอย่างไร

ซึ่งทางเลือกของ ร.อ.ธรรมนัสก็มีหลายทาง

ทั้งดำรงความเป็นขั้วใหญ่ในพรรคต่อไป เพราะตำแหน่งเลขาธิการพรรค ถือเป็นตำแหน่งใหญ่ และต้องทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร จึงมีโอกาสที่จะช่วงชิงการนำในพรรคได้ ไม่ใช่ไม่มี

และหากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ต้องการ “รอมชอม” ก็อาจมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยมอบตำแหน่ง “ว่าการ” ให้ เพื่อสมกับศักดิ์ศรีเลขาธิการพรรค ซึ่งก็อาจทำให้ความรู้สึกดีๆ กลับมาบ้าง

แต่หากไม่มีการขานรับใดๆ ยังคงปล่อยให้ ร.อ.ธรรมนัสติดเพดานอยู่ในระดับผู้นำ 3 ช. ก็ยังพอมีเวลาที่จะสะสมเพื่อช่วงชิงการนำในพรรคให้สูงกว่านี้ และแบ่งอำนาจมาจาก 3 ป.ให้มากขึ้น

และที่สุด ก็อาจมีเป้าหมายใหม่ ที่จะสนับสนุนให้คนอื่นเป็นนายกฯ แทน พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้

หรือหากสถานการณ์ย่ำแย่ไปกว่านั้น คือถูกตัดมือตัดไม้ ไม่ให้มีบทบาทภายในพรรคอีกต่อไป

โดยศักยภาพ ร.อ.ธรรมนัส สามารถที่จะแยกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยมี ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ส.พรรคเล็กที่อยู่ในสังกัด เข้าไปร่วมจัดตั้ง “อาณาจักรใหม่ทางการเมือง” ของตัวเองขึ้นมาได้

ยิ่งกว่านั้นยังสามารถที่จะสะวิงไปในระหว่าง 2 ขั้วคือ ขั้วรัฐบาลปัจจุบัน และขั้วฝ่ายนำโดยพรรคเพื่อไทยได้ เพราะส่วนตัว ร.อ.ธรรมนัสถือว่าเข้าได้ทั้งสองปีก

เพียงแต่ ร.อ.ธรรมนัสอาจจะไม่สามารถยืนในตำแหน่ง “นำ” อันเนื่องมาจากประวัติส่วนตัว “สีเทา” ที่ตอนนี้ยังขจัดออกไปไม่ได้ และเป็นจุดอ่อนสำคัญทางการเมือง

จึงทำให้ ร.อ.ธรรมนัสคำรามได้ไม่เต็มเสียง ด้วยต้องพึ่งพาคนอื่น

แต่กระนั้น ไม่ว่าทางเลือกจะเป็นเช่นไร อำนาจในพรรคพลังประชารัฐและต่อเชื่อมไปยังกลุ่ม 3 ป. ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนไม่อาจหวนกลับคืนไปเหมือนเดิมได้แล้ว

เสมือนประหนึ่งแก้วที่ร้าวย่อมประสานกันได้ยาก

ทำได้เพียงจะประคองกันไปซึ่งจะยาวนานแค่ไหนไม่รู้

ที่สุด ก็คงถึงจุดอย่างที่ทางธรรมว่าไว้

นั่นคือไม่มีอะไรยั่งยืนนั่นเอง

ไม่ใครก็ใคร จะต้อง “สู่ขิต” ทางการเมือง

 

และล่าสุด ร.อ.ธรรมนัส ก็ได้ตัดสินใจ ลาออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯเมื่อวันที่ 8 กันยายน

พร้อมๆกันนั้น ก็มีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ออกมา ความว่า

“ พระบรมราชโองการประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 และประกาศครั้งสุดท้าย ลงวันที่ 22 มีนาคม พุทธศักราช 2564 นั้น

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า สมควรให้รัฐมนตรีบางคนพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์แก่ราชการ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีดังต่อไปนี้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

1.ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่งวันที่ 8 กันยายน เป้นต้นไป

เท่ากับ กลุ่ม 3 ช. พ้นจากคณะรัฐมนตรีไปถึง 2 คน

ทำให้การเมืองต่อไปนี้ร้อนผ่าว และคงมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้น กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด