วิเคราะห์ จากคาร์ม็อบ-คาร์ปาร์ก สู่ม็อบ ‘ดี-เดย์’ ลุยเผด็จศึกขับไล่ ‘ประยุทธ์’

บทความในประเทศ

 

จากคาร์ม็อบ-คาร์ปาร์ก

ก่อนมาถึงม็อบ ‘ดี-เดย์’

‘ณัฐวุฒิ-บก.ลายจุด’ ลุย

เผด็จศึกขับไล่ ‘ประยุทธ์’

 

ที่มาที่ไปม็อบ “ดี-เดย์” 2 กันยายน สี่แยกอโศก ยกระดับชุมนุมต่อเนื่องทุกวัน ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนกว่าจะลาออก

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ออกแบบ “คาร์ม็อบ” เผยว่า ม็อบดี-เดย์ สี่แยกอโศก ได้รับอิทธิพลจากม็อบ “ทะลุแก๊ส” สามเหลี่ยมดินแดง

คือการนัดหมายในพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ในการขับไล่ประยุทธ์ แม้จะมีเหตุปะทะกันทุกครั้งในพื้นที่แต่ปรากฏการณ์ที่ประชาชนมากันเองโดยไม่ได้นัดหมาย แต่ทุกคนเข้าใจว่าม็อบจะเกิดขึ้นทุกวันตอนเย็นนั้น เป็นความสวยงามในด้านปรากฏการณ์

คือการสื่อสารที่ไม่ต้องใช้คำพูด แต่ใช้ใจสื่อสารกัน เป็นวินัยของการอุทิศตน หากตัดเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงออกได้ ปรากฏการณ์สามเหลี่ยมดินแดงน่าสนใจมาก

“ผมอยากเห็นม็อบที่มีแรงบันดาลใจแบบสามเหลี่ยมดินแดงโดยไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง การมีม็อบในแบบที่ไม่มีทางเลิกล้มหากไม่บรรลุเป้าหมายเช่นนี้ ภาระทั้งหมดจะไปอยู่กับฝ่ายรัฐที่ต้องอธิบายทุกวันว่าเมื่อไหร่ประยุทธ์จะลาออก”

การตั้งป้อมค่ายที่อโศก ซึ่งมีความหมายว่า ไม่เสียใจ

คือหลักประกันได้ว่าชัยชนะจะตกเป็นของประชาชน ขอใช้หัวใจนัดหมายพี่น้องประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และหน้าศาลากลางจังหวัดต่างๆ หรือจุดที่แต่ละพื้นที่เห็นว่าเหมาะสม

 

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ อ.ห.ต. กล่าวถึงจุดมุ่งหมายม็อบดี-เดย์ 2 กันยายน ว่า ไม่มีโอกาสเวลาใดหมาะสมในการไล่ประยุทธ์ มากเท่าครั้งนี้มาก่อน 8 ปีแห่งความล้มเหลว วิกฤตแห่งความสูญเสีย อนาคตที่มืดมนของคนทั้งชาติ

กระแสข่าวการลงมติไม่ไว้วางใจที่กดดันนายกรัฐมนตรี ทั้งการปรับ ครม. หรือกระทั่งโหวตล้มนายกรัฐมนตรีในสภา ถ้าอำนาจของประยุทธ์ยังคงแข็งแกร่งดังเดิม จะไม่มีกระแสข่าวเช่นนี้ออกจากพรรครัฐบาล

ก่อนพัฒนายกระดับเป็นม็อบดี-เดย์ การเคลื่อนไหวคาร์ม็อบ เด่นชัดถึงแนวทางสันติวิธี “ไม่บวก ไม่ลุย ไม่ปะทะ” ใช้ยุทธวิธีทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์

จุดสตาร์ตครั้งแรก 3 กรกฎาคม “คาร์ม็อบ สมบัติ (ทัวร์)” ขับรถชมทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับ “กดแตร” ส่งเสียงไล่ พล.อ.ประยุทธ์

จนมาถึงครั้งสุดท้าย “คาร์ม็อบ คอลเอาต์” 29 สิงหาคม

ตลอดระยะเวลาการจัดคาร์ม็อบ 5 ครั้ง ในระยะเวลา 2 เดือน ทุกครั้งได้เห็นถึงการเติบโตและพัฒนาการ

รวมถึงแนวร่วมที่เพิ่มมากขึ้นทั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ “ไฮโซลูกนัท” นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย แกนนำสลิ่มกลับใจ

กิจกรรมคาร์ม็อบ ไม่ได้คึกคักเพียงแค่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่ยังขยายความคึกคักไปยังหัวเมืองใหญ่และอีกหลายจังหวัด

แม้ บก.ลายจุดและนายณัฐวุฒิจะประกาศจัดกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งสุดท้ายวันที่ 29 สิงหาคม แต่เป็นการจบเพื่อเริ่มม็อบเวอร์ชั่นใหม่ นั่นคือม็อบ ‘ดี-เดย์’

เผด็จศึกต่อเนื่อง จนกว่าจะไล่ พล.อ.ประยุทธ์สำเร็จ

จุดเริ่มเคลื่อนไหวคาร์ม็อบ จัดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด เป็นการชุมนุมในรูปแบบนิวนอร์มอล

ครั้งแรก 3 กรกฎาคม “คาร์ม็อบ สมบัติ (ทัวร์)” นายสมบัติ บก.ลายจุด นัดซ้อมใหญ่นำขบวนขับชมทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับกดแตรเป็นการแสดงสัญลักษณ์ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์

ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ถ้ารัฐบาลประยุทธ์มาจากเสียงนกหวีด เราจะไล่ประยุทธ์ด้วยเสียงแตร”

นัดรวมพลบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บรรยากาศเนืองแน่ไปด้วยรถยนต์ทุกชนิด รถมอเตอร์ไซค์และจักรยานที่มาตั้งแถวร่วมขบวน

ต่อมา “คาร์ม็อบ สมบัติ (ทัวร์)” ครั้งที่ 2 วันที่ 10 กรกฎาคม จุดหมายการเคลื่อนไหวรอบนี้พุ่งเป้าไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ อันเปรียบเสมือนเสาค้ำยันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ครั้งที่ 3 วันที่ 1 สิงหาคม โดยมีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ หรือ อ.ห.ต. รวมถึง “ไฮโซลูกนัท” แกนนำสลิ่มกลับใจ เข้าร่วม

นายสมบัตินัดรวมตัวบริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต หน้าสนามบินดอนเมือง นำมวลชนเคลื่อนไปยังจุดสำคัญ นายณัฐวุฒินำขบวนคาร์ม็อบอีกสาย รวมตัวแยกราชประสงค์ ก่อนเคลื่อนไปรอบกรุงเทพฯ

คาร์ม็อบครั้งที่ 3 คือจุดเริ่มต้นการร่วมกันของมวลชนหลากหลายกลุ่ม ที่มีจุดหมายเดียวกันในการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์

 

คาร์ม็อบครั้งที่ 4 ยกระดับขึ้น เมื่อนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศจัด “คาร์ปาร์ก” อันเป็นรูปแบบการชุมนุมผสมผสาน “คาร์ม็อบ” กับการ “ไฮด์ปาร์ก”

พร้อมจัดกิจกรรมปราศรัยและดนตรีออนไลน์ควบคู่กัน

คาร์ปาร์กแบ่งออกเป็น 3 เส้นทาง

นายณัฐวุฒินำขบวนนัดรวมพลแยกราชประสงค์ เคลื่อนไปรอบเมือง

บก.ลายจุด นัดรวมพลอยุธยาพาร์ค จ.พระนครศรีอยุธยา เคลื่อนขบวนเข้ากรุงมาจบที่ห้าแยกลาดพร้าว และ “กลุ่มทะลุฟ้า” นัดรวมตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเคลื่อนคาร์ปาร์กไปยังพื้นที่ฝั่งธนฯ

คาร์ม็อบครั้งสุดท้าย “ณัฐวุฒิ-บก.ลายจุด” จัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ คอลเอาต์” 29 สิงหาคม

เส้นทางครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นัดตั้งขบวนบริเวณอุโมงค์แยกเกษตร จุดหมายปลายทางลานเทพปทุม ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดปทุมธานี รวมระยะทาง 50 กิโลเมตร

ได้รับความสนใจจากมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก รวมถึงอีกหลายจังหวัดที่ร่วมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในพื้นที่ ทั้งเชียงใหม่ อุดรธานี ปทุมธานี นนทบุรี พิษณุโลก และกาญจนบุรี

ก่อนคาร์ม็อบของ บก.ลายจุดและณัฐวุฒิจะประกาศปิดตัวลง

เพื่อแจ้งเกิดใหม่ในนามม็อบดี-เดย์

 

การยกระดับชุมนุมใหญ่จากคาร์ม็อบ เป็นม็อบดี-เดย์ ดำเนินต่อทันที

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ บก.ลายจุด ประกาศนัดหมายชุมนุมกลางเมืองสี่แยกอโศก วันที่ 2 กันยายน

เป็นม็อบเวอร์ชั่นใหม่ ประกาศเผด็จศึกชุมนุมจนกว่าจะไล่ พล.อ.ประยุทธ์สำเร็จ

แม้เป็นการชุมนุมต้องยุติในเวลา 20.00 น. เนื่องจากติดประกาศเคอร์ฟิว แต่ก็จะจัดชุมนุมต่อเนื่องวันต่อวัน

ม็อบ “ดี-เดย์” อันเป็นภาคต่อจาก “คาร์ม็อบ” จึงน่าจับตาคู่ขนานไปกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 5 รัฐมนตรีในสภาที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน และโหวตชี้ชะตาวันที่ 4 กันยายน

กิจกรรมม็อบดี-เดย์ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนลงคะแนนนอกสภาเพื่อไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ม็อบ “ดี-เดย์” จึงเสมือนเป็นศึกใหม่ที่รัฐบาลต้องเผชิญ เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มทะลุฟ้า กลุ่มไทยไม่ทน กลุ่มราษฎร และภาคประชาชนในหัวเมืองใหญ่ ที่พร้อมใจกันตีกระหนาบไปกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านในสภา

ทั้งหมดจึงเป็นแรงกดดันพุ่งตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล

ต้องจับตาหลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลจะเหลือสภาพอย่างไร จะไปต่อ หรือพอแค่นี้

ท่ามกลางการซัดกระหน่ำของพายุม็อบการเมือง