ศบค.จำใจคลายล็อก เศรษฐกิจกู่ไม่กลับ ห้าง-ร้านอาหารวังเวง/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ศบค.จำใจคลายล็อก

เศรษฐกิจกู่ไม่กลับ

ห้าง-ร้านอาหารวังเวง

 

การประกาศคลายล็อกในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป

ด้านหนึ่ง เหมือนจะเป็นจุดประกายแห่งความหวังของหลายๆ ธุรกิจ การสร้างบรรยากาศให้มีความคึกคักมากขึ้น ขณะที่หลายคนอาจจะมองภาพการต่อจิ๊กซอว์ไปถึงไตรมาสสุดท้ายที่เป็นไฮซีซั่นของการจับจ่ายใช้สอย และจะเห็นห้วงเวลาในการกลับมาฟื้นฟูกิจการและยอดขาย

แต่อีกด้านหนึ่ง ผลกระทบของโควิด-19 ที่กินเวลามาอย่างยาวนาน และยังมองไม่ออกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจบลงเมื่อไหร่

ยิ่งส่งผลให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ ต้องใช้เวลามากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

แน่นอนว่า การคลายล็อกครั้งนี้ มีเสียงการขานรับจากบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะบรรดาศูนย์การค้า ร้านค้าต่างๆ เช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นค่ายเซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ค่ายสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ไอคอนสยาม รวมถึงเดอะมอลล์ กรุ๊ป ต่างก็ประกาศความพร้อมกันอย่างเต็มที่ และมีมาพร้อมกับมาตรการความปลอดภัยอย่างสูงสุด ตามแนวปฏิบัติของมาตรการองค์กรของ ศบค. ทั้งมาตรการเข้มข้นคัดกรองพนักงานก่อนเข้าปฏิบัติงาน กำหนดให้พนักงานทุกคนจะต้องได้รับวัคซีน, การตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit, ต้องใส่หน้ากาก และปฏิบัติตาม D-M-H-T-T อย่างเคร่งครัด

เพื่อลดความเสี่ยงในการเผยแพร่โรคสำหรับการเปิดกิจการ/จัดกิจกรรมได้ และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพนักงาน ร้านค้า และผู้ใช้บริการ

ขณะที่บรรดาร้านอาหารรายใหญ่ เริ่มจาก “ไมเนอร์ฟู้ด” เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร เดอะพิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์คิง ฯลฯ ที่ประกาศเปิดร้านอาหารในเครือไมเนอร์ฟู้ดทุกแบรนด์ เบื้องต้นประมาณ 200 สาขา ใน 29 จังหวัด ยกเว้นสาขาในสนามบิน

“ประพัฒน์ เสียงจันทร์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เบื้องต้น หลังจากที่ได้ทยอยเปิดให้บริการไปแล้ว คงจะต้องมีการกลับมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง หากรายได้ไม่คุ้มกับต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย คงต้องพิจารณาปิดร้าน

“ระยะแรกทราฟฟิกอาจจะยังไม่กลับมา ประกอบกับลูกค้าสามารถนั่งรับประทานในร้านได้เพียง 50% ยอดขายอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ดังนั้น จึงต้องบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ทั้งด้านค่าเช่าและค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ”

เช่นเดียวกับ “บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง, มูฉะข้าวหน้าล้น, ออน เดอะ เทเบิล อาหารสไตล์ฟิวชั่น, อาหารตามสั่ง เขียง ฯลฯ กล่าวว่า ร้านอาหารในเครือจะทยอยเปิดทุกสาขา แต่ทั้งนี้จะต้องมีการเจรจาเพื่อขอลดค่าเช่า เพราะทราฟฟิกช่วงแรกอาจจะยังมีไม่มาก ประกอบกับระยะเวลาการขายมีน้อยลง โดยเปิดได้เพียง 20.00 น. อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปบริษัทก็จะให้ความสำคัญกับการขยายสาขานอกศูนย์มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและหากเกิดกรณีล็อกดาวน์ขึ้น

ขณะที่นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล อาทิ มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์ ฯลฯ กล่าวว่า ในช่วงนี้ร้านอาหารในเครือจะเป็นการเปิดในลักษณะการทยอยเปิด จะไม่เปิดทีเดียวพร้อมกันทุกสาขา โดยจะเน้นไปที่สาขาที่มีไพรม์แอร์เรียหรือมีทราฟฟิกสูงๆ ก่อน

ขณะเดียวกันก็ได้มีการเตรียมแผนสำรองหากเกิดการระบาดหนักขึ้นมาอีก

 

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกหลายคนแสดงความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การคลายล็อกครั้งนี้ ถือเป็นข้อดี หรือเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถกลับมาเริ่มดำเนินการ หรือกลับมาให้บริการได้ จากการล็อกดาวน์ที่ทำให้ต้องปิดกิจการชั่วคราวและขาดรายได้

แต่ปัญหาในขณะนี้ก็คือ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในภาพรวมที่เป็นปัญหาหนัก เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลานานมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา และการระบาดระลอกนี้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็หนักหน่วงและรุนแรงกว่าระลอกแรกๆ ที่ผ่านมา สะท้อนจากจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในแต่ละวันที่มีเป็นจำนวนมาก

การกลับมาเปิดใหม่ หลังจากที่ ศคบ.คลายล็อก สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงมากขึ้นก็คือ เรื่องของต้นทุน-ค่าใช้จ่าย และสิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลก็คือ กลัวว่าโควิด-19 จะกลับมาระบาดระลอกใหม่และอาจจะหนักกว่าเดิม เพราะตอนนี้การฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ยังทำได้ไม่มาก

“ตอนนี้นอกจากกำลังซื้อจะมีปัญหามากแล้ว ต้องยอมรับว่า ประชาชนยังมีความกังวลและตื่นกลัวโควิด ชะลอการจับจ่าย ไม่อยากออกไปไหน”

 

ขณะที่ถ้อยแถลงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ชัดเจนและรุนแรงขึ้น โดยการบริโภคเอกชนลดลงค่อนข้างมากจากมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลให้กำลังซื้ออ่อนแอลงต่อเดือนจากเดือนก่อน แม้ว่าจะมีมาตรการภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้เข้ามาช่วยบางส่วน แต่โดยรวมยังได้รับผลกระทบ

ขณะที่ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าบางประเทศชะลอตัวลงจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยในเดือนนี้ที่เริ่มได้รับผลกระทบ โดยตัวเลขมูลค่าการส่งออกแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับหดตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง

“เศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคมได้รับผลกระทบมากขึ้นจากมาตรการคุมเข้มของภาครัฐ ขณะที่เศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวกระทบภาคการส่งออก และแนวโน้มในเดือนสิงหาคมจะเริ่มชัดเจนขึ้น เพราะเป็นช่วงที่มีการปรับมาตรการเข้มขึ้นและมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 หมื่นราย ทำให้เศรษฐกิจถูกกดดันจากการระบาดที่รุนแรงขึ้น”

 

ถึงวันนี้ แม้ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันอาจจะเป็นตัวเลข “ขาลง” จากที่เคยมีตัวเลขสูงมากกว่า 20,000 คน/วัน ค่อยๆ ลดลงมาเหลือวันละ 18,500 คน 17,900 คน 16,500 คน และ 14,800 คน (1 กันยายน) ตามลำดับ ขณะที่ยอดรักษาหายกลับบ้านได้ในแต่ละวันที่ดีวันดีคืน จาก 17,000-18,000 คน บางวันเพิ่มเป็นกว่า 20,000 แต่อีกด้านหนึ่งก็กลับพบว่า การปูพรมฉีดวัคซื้อที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

จากประชากรทั้งประเทศราวๆ 72 ล้านคน ตอนนี้ภาพรวมของการฉีดวัคซีน สำหรับการฉีดเข็ม 1 ทำได้ 32.5% หรือประมาณ 23.5 ล้านคน ส่วนเข็ม 2 ฉีดไปได้ 10% หรือราวๆ 7.7 ล้านคน ขณะที่เข็ม 3 มีตัวเลขเพียง 0.8% หรือ 5.38 แสนคนเท่านั้น

หรือในส่วนของกรุงเทพมหานคร ที่มีประชากรราว 7.6 ล้านคน ถึงวันนี้ การฉีดวัคซีนเข็ม 1 ทำไปได้กว่า 90% หรือราวๆ 6.9 ล้านคน แต่การฉีดเข็ม 2 ยังห่างจากเข็ม 1 อีกหลายขุม โดยมีการฉีดไปเพียง 22.4% หรือประมาณ 1.72 ล้านคน ส่วนเข็ม 3 มีตัวเลขเพียง 1.8% หรือ 1.36 แสนคน

ตัวเลขที่เกิดขึ้น สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่ายังไม่มากพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และตามมาด้วยความไม่มั่นใจ ความไม่ใช่เชื่อมั่นที่จะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องแก้ให้ได้โดยเร็ว

ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจ-กำลังซื้อที่กำลัง “ดิ่งเหว” ในเวลานี้ คงไม่มีโอกาสจะกู้กลับมาได้

และคงต้องเหนื่อยอีกหลายปีเลยทีเดียว