จัตวา กลิ่นสุนทร : นักศึกษาเก่า ได้อะไรจากสมาคมนักศึกษาเก่า?

การจับกลุ่มรวมตัวเพื่อพบปะสังสรรค์หลังจากที่ได้เคยร่วมเรียน ร่วมทำงานด้วยกันมานานเมื่อต้องแยกย้ายจากกันไปตามเส้นทางชีวิตก็ยังต้องการมีเวลาได้มาเจอะเจอ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันถ้ามีโอกาส

สังคมของประเทศอื่นๆ ก็คงไม่แตกต่างไปจากสังคมไทย ศึกษาเล่าเรียนในสถาบันเดียวกันจบออกไปแล้วก็ช่วยกันก่อตั้งสมาคมนักเรียนเก่า นักศึกษาเก่าต่างๆ

ปฏิบัติหน้าที่ด้วยกันเมื่อเกษียณอายุออกมาก็มาก่อตั้งสมาคมข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ เพื่อได้พบปะกันเป็นครั้งคราว หรือในโอกาสสำคัญๆ และทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม และสถาบันเก่าของตัวเอง

ปัจจุบันในทุกสาขาอาชีพยังสมัครเข้าศึกษาเล่าเรียนตามวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยนโยบายของรัฐหรือเอกชน เป็นการเรียนรู้ต่อยอดการศึกษาตลอดเวลา

นอกจากได้ความรู้ มีเพื่อนร่วมรุ่น เป็นการเพิ่มพูนศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ยังได้เพื่อนร่วมสังคมเพิ่มขึ้นอีกหลากหลายขยายวงในการช่วยเหลือส่งเสริมกัน

 

ทุกมหาวิทยาลัยจะมีสมาคม หรือสโมสรนักศึกษาเก่าในการดำเนินกิจการดังที่กล่าว มีการก่อตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีนายกสมาคม นายกสโมสร คณะกรรมการ และนโยบายในการบริหาร และแน่นอนที่สุดต้องมีสมาชิก และมีการหารายได้สำหรับมาบริหารจัดการ จึงต้องมีเรื่องการเงินการบัญชีเข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น ยังแยกย่อยไปเกิดสมาคมนักศึกษาเก่าของคณะต่างๆ ขึ้นมาอีก อย่างเช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มีคณะวิชาเท่าไร? ดูเหมือนจะมีสมาคมนักศึกษาเก่าทุกคณะวิชาทีเดียว อย่างเช่น สมาคมศิษย์เก่าคณะโบราณคดี สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ อักษรศาสตร์

กระทั่งสมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่งดูเหมือนจะก่อตั้งขึ้นทีหลังสมาคมของคณะอื่นๆ ที่กล่าวข้างต้น

 

ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นสมัยที่ 2 ของสมาคมรวมทั้งนายกและกรรมการสมาคมชุดที่ 2 เนื่องจากสมาคมก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2555 และคณะกรรมการมีอายุเวลาดำเนินงานเพียงเทอมละ 3 ปี

เคยบอกกล่าวไปครั้งหนึ่งว่าเมื่อแรกก่อตั้งยังจำได้ว่าเป็นปี พ.ศ.2554 เนื่องจากได้รับจดหมายเชิญในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่งเพื่อเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือในการจัดตั้งสมาคม แต่พลาดโอกาสนั้นไปอย่างน่าเสียดาย สืบเนื่องจากติดภารกิจสำคัญต้องเดินทางไกลไม่ได้พำนักอยู่ในประเทศ

วิโชค มุกดามณี (ศิลปินแห่งชาติ) ศิลปินอาจารย์ จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมคนแรก เพียงแต่ไม่ได้ติดตามผลการดำเนินงานจนเวลาล่วงเลยไปอย่างรวดเร็ว โดยมาทราบอีกครั้งหนึ่งเป็นอันว่าหมดวาระ (3 ปี) ไปเรียบร้อย

สมาคมมีการเลือกตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่จำนวน 7 คน และที่ประชุมได้มอบหมายให้ “นายมนัส คงรอด” เป็นนายกคนที่ 2 ซึ่งเป็นคนปัจจุบัน

และ “ท่านอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ” ได้เป็นอุปนายกโดยตำแหน่ง เพราะเป็นคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ในขณะนั้น แต่ถึงวันนี้คณบดีก็เกษียณอายุราชการไปแล้ว

มีเสียงเปรยๆ ตำหนินายกสมาคมคนแรกเล็กๆ เกี่ยวกับการมอบงานโอนงานต่างๆ ว่าไม่ค่อยจะคล่องตัว ขณะเดียวกันก็มิได้ดำเนินงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ซึ่งในเวลาต่อมาได้พบกับอาจารย์วิโชค มุกดามณี โดยบังเอิญ ท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าก็ได้พยายามดำเนินงานไปตามนโยบายปกติเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวยเนื่องจากมีภารกิจในการสอนนักศึกษา และกิจกรรมในฐานะ “ศิลปินแห่งชาติ”

แต่ท่านก็จัดการแสดงงานศิลปะของเหล่าศิษย์เก่าเพื่อหาเงินให้สมาคมไว้ดำเนินงานต่อไปได้ถึง 800,000 บาท (แปดแสนบาท)

 

เคยกล่าวแล้วอีกเหมือนกันว่าศิษย์เก่าทั้งหลายที่สละเวลามาช่วยกันทำงานสมาคมนั้นย่อมต้องเป็นผู้ที่มีจิตอาสา เสียสละอย่างมาก เนื่องจากทุกท่านมีอาชีพการงานด้วยเช่นเดียวกัน แต่เมื่ออาสาเข้ามาแล้วก็ย่อมต้องสร้างผลงานตามนโยบายที่เสนอไว้ให้ดีที่สุด

ค่อนข้างได้เข้าไปใกล้ชิด และรับรู้กับการทำงานของสมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ไม่น้อยทีเดียวในช่วงระยะเวลาหนึ่งเมื่อต้นปี พ.ศ.2558 เพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยดำเนินการจัด นิทรรศการศิลปะ “จดหมายจากโรม” ของ (น้าแพ็ท) ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ให้ความร่วมมือตามกำลังสติปัญญา และตั้งความหวังเอาไว้มากพอสมควร กับคณะกรรมการชุดนี้

เท่าที่ได้สัมผัสก็ค่อนข้างกระตือรือร้น แต่ในท้ายที่สุดก็ยังมิได้มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ได้เพิ่มพูนสมาชิกด้วยการขยายฐาน การเชื่อมต่อระหว่างศิษย์เก่ารุ่นต่างๆ ยังห่างไกลกับรุ่นหลังๆ ที่ตามติดออกมาทุกปีๆ

ศิษย์เก่ายังไม่รู้ว่าจะพบปะติดต่อกันได้ที่ไหน นอกจากมุ่งหน้าสู่คณะจิตรกรรมฯ

แต่ในระหว่างที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม (Renovate) เป็นระยะเวลานาน จึงดำเนินการอะไรไม่ได้

แนวนโยบายที่ได้นำเสนอกลับก็ไม่ปรากฏเป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่ควร

 

อันที่จริงเพียงแต่ตั้งความหวังกันนิดหน่อยว่าน่าจะเกิดงานที่มีการรวมตัวกันครั้งสำคัญระหว่างศิษย์เก่าแทบทุกรุ่น มีทำเนียบรุ่นอันชัดเจนรวมทั้งสมาชิกอันเหมาะสมกับจำนวนศิษย์เก่า

ขณะเดียวกันก็มีการสร้างสรรค์ประโยชน์อะไรต่างๆ ให้แก่นักศึกษาปัจจุบันของคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรบ้าง อย่างเช่น ทุนการศึกษา รวมทั้งการช่วยเหลือศิษย์เก่าที่ประสบเคราะห์กรรมเรื่องราวทุกข์ยากต่างๆ ในชีวิต

ต้องการให้เหลียวมอง “กองทุนส่งเสริมการศึกษา การสร้างสรรค์ศิลปะ ของมูลนิธิ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ซึ่งอาจารย์อาวุโสจากคณะจิตรกรรมฯ ไปช่วยดำเนินงานแทบทั้งนั้น

ทุกวันนี้มีกองทุนเติบโตขึ้นมาก สามารถให้ทุนนักศึกษาศิลปะในคณะจิตรกรรมฯ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ เกือบทั่วประเทศ ซึ่งรวมไปถึงนักศึกษาต่างชาติ ของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา เวียดนาม

โดยกองทุนที่ใหญ่ขึ้นก็ได้จากการประมูลผลงานของศิษย์เก่า คณะจิตรกรรมฯ ที่เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” และศิลปินที่มีชื่อเสียง ปีละมากมายหลายล้านบาท

สมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรมฯ เท่าที่ติดตามดูเหมือนจะมีกิจกรรมประสานติดต่อกันเพียงในวงแคบๆ ไม่กี่รุ่น ซึ่งมีการจัดเดินทางไปท่องเที่ยวทำงานศิลปะที่จังหวัดเชียงใหม่ สัตหีบ ฯลฯ จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ผลงานเหล่านั้นจำหน่ายหาเงินทุนเข้าสู่สมาคมแบบเป็นชิ้นเป็นอัน

 

ที่เห็นเป็นรูปธรรมดูเหมือนจะเป็นงาน “ศิลปากรรวมใจถวายพ่อหลวง” โดยร่วมกับคณะจิตรกรรมฯ จัดวาดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (จำนวน 89 ภาพ) เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2559 ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเงินทุนก้อนหนึ่งจากบริษัทบริษัทหนึ่ง แต่สุดท้ายผลงานตกไปเป็นของใครบ้าง? หรือเอาไปดำเนินการเผยแพร่ที่ไหนอย่างไรบ้าง? ไม่ชัดเจน

จะว่าไปสำหรับผู้ริเริ่มความคิดเรื่องการวาดภาพงานครั้งนั้นดูเหมือนจะเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ปัจจุบันที่ออกมารัวพู่กันแบบสดๆ ร้อนๆ ริมกำแพงวังท่าพระ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สวรรคต

คณะจิตรกรรมฯ และสมาคมนักศึกษาเก่าเพียงหยิบเอาความคิดนั้นมาต่อยอด ดำเนินการต่อด้วยการเชื้อเชิญศิลปิน นักศึกษาเก่ารุ่นต่างๆ หลายๆ รุ่นมาร่วมกันวาดภาพจนครบจำนวนที่ตั้งเป้าหมาย รวมทั้งดึงคณะต่างๆ ระดมจัดงานให้หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรี และ ฯลฯ

เวลาเดินทางอย่างสม่ำเสมอทำให้คณะกรรมการสมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จะครบวาระการดำเนินงานประมาณเดือนพฤศจิกายน 2560 ไม่รู้ว่าจะยังพอมีเวลาสร้างผลงานอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันน่าประทับใจ และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในบรรดาศิษย์เก่าได้หรือไม่?

จะว่าไปก็เหลือเพียงการดำเนินงานจัดงานวัน “ศิลป์ พีระศรี” (15 กันยายน) แค่เพียงงานเดียวที่จะดึงศิษย์เก่าทั้งหลายมาร่วมงานพร้อมทั้งได้พบเจอะเจอกัน ซึ่ง “มหาวิทยาลัยศิลปากร” และ “สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร” ก็ดำเนินการเป็นประจำทุกๆ ปีอยู่แล้ว

ว่าแต่งานวัน “ศิลป์ พีระศรี” ครั้งใหม่นี้จะจัดกันขึ้นที่ไหน? เพราะการบูรณะซ่อมแซม (Renovate) มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ยังไม่เสร็จเรียบร้อย!