ไซเบอร์ วอชช์เมน : “เทเลแกรม” แอพพลิเคชั่นแชต ที่รัฐอยากแบนใจจะขาด

บรรดาแอพพลิเคชั่นประเภทส่งข้อความที่มีมากมาย เราใช้มันส่งข้อความ ภาพ วิดีโอ ซึ่งสะดวกรวดเร็วและสนุกกับมัน แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการ คือความปลอดภัย เพื่อให้แน่ใจว่า สิ่งที่ส่งระหว่างกันจะไม่มีบุคคลที่สามเข้ามาสอดส่องหรือแม้แต่ขโมยหรือยึดการสื่อสารในนั้นได้

หนึ่งในแอพพลิเคชั่นส่งข้อความที่ขึ้นชื่อในการป้องกันความเป็นส่วนตัวอันดับต้นๆ ในเวลานี้ คงไม่มีใครรู้จัก “เทเลแกรม” อีกแล้ว

แอพพ์นี้มีทั้งคนรักในความเป็นส่วนตัว พอๆ กับคนชังถึงขั้นออกสื่อ จากรัฐบาลหลายประเทศที่ต้องการคุมให้อยู่หมัด

เพราะสิ่งที่ถูกส่งตัวผ่านแอพพ์นี้ ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่รัฐมองว่า “เป็นภัย” นั่นเอง

 

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ปิดกั้นการเข้าถึงเทเลแกรมเพื่อไม่ให้ใช้งานได้ โดยประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่กำลังสู้กับภัยก่อการร้ายจากแนวคิดสุดโต่งระบุว่า หน่วยงานของรัฐบาลพบเนื้อหาออกสู่สาธารณะที่มีลักษณะเผยแพร่แนวคิดหัวรุนแรงที่นำไปสู่การก่อการร้าย จึงได้สั่งปิดกั้นแอพพ์ดังกล่าวโดยเหตุผลของความมั่นคง ทำให้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทีมงานเทเลแกรมต้องเร่งลบเนื้อหารุนแรงดังกล่าวออกไป

นายพาเวล ดูรอฟ ซีอีโอชาวรัสเซีย ผู้ก่อตั้งเทเลแกรม กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นการสื่อสารผิดพลาดกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ทำให้ไม่ได้ทราบเรื่องคำขอจากทางการให้ลบเนื้อหาที่ว่านี้ออกไป

นายดูรอฟยังกล่าวอีกว่า เทเลแกรมเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีการเข้ารหัสระดับสูงและคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว แต่เราไม่ได้เป็นเพื่อนกับกลุ่มก่อการร้ายอย่างแน่นอน

การกระทำของอินโดนีเซีย ทำให้ประเทศข้างเคียงถึงกับออกมาชี้แจงกับสื่อ โดย นายอาหมัด ซาอิด ฮามิดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย ได้ออกมากล่าวถึงเทเลแกรม แต่ต่างกับอินโดนีเซียที่นายฮามิดีระบุว่า ยังไม่มีแผนที่จะสั่งปิดกั้นแอพพลิเคชั่นดังกล่าว แม้จะเคารพการตัดสินใจของรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่ทางกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย ซึ่งมีหน่วยต่อต้านก่อการร้าย ได้ตรวจสอบความเคลื่อนไหวกลับไม่พบปัจจัยที่มีการเกณฑ์คนหรือหาทุนเพื่อก่อการร้ายผ่านเทเลแกรมแต่อย่างใด

ถึงอย่างนั้น นายฮามิดีระบุว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเฝ้าระวังตลอด แม้ทางการจะเคารพความเป็นส่วนตัว แต่ทางการก็จำเป็นต้องหาวิธีถอดรหัสเพื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุก่อการร้าย

 

 

ปัญหาครั้งนี้ของเทเลแกรมถือว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยจ้องจะปิดกั้นแอพพ์นี้แล้ว จากเหตุการณ์ระเบิดฆ่าตัวตายในสถานีรถไฟใต้ดินนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โดยหน่วยข่าวกรองของรัสเซียระบุว่า มือระเบิดฆ่าตัวตายใช้แอพพ์ตัวนี้ก่อนลงมือทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสิบราย

รวมถึงกรณีที่เทเลแกรมไม่เซ็นเข้าระบบควบคุมสื่อตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ของรัสเซีย เพราะเกรงว่ารัฐบาลจะไปดูข้อมูลคนอื่นซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับภารกิจนั้นๆ ก็เป็นได้

รัสเซียพยายามเจาะเข้าระบบหลังบ้านของเทเลแกรม โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานระบุว่า แฮ็กเกอร์รัสเซียสามารถเจาะเข้าไปได้ โดยเน้นไปที่ผู้ใช้งานที่เป็นนักธุรกิจจากประเทศตะวันตก แต่ต่อมาเทเลแกรมได้ออกมาระบุว่า รายงานข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องเท็จ

 

ข้อมูลล่าสุดเมื่อปีที่แล้วระบุว่า มีผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นตัวนี้ทั่วโลกถึง 100 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ได้มาโดยไม่ยากนัก สำหรับนายดูรอฟ เพราะเป็นคนที่อยู่แวดวงไอทีมาตั้งแต่ยังหนุ่ม และเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่จนได้ชื่อว่าเป็น “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค ของรัสเซีย” จากแอพพลิเคชั่น “วีเค” โซเชียลมีเดียชื่อดังของรัสเซีย

แต่เมื่อนายดูรอฟไม่ยอมลงนาม กฎหมายควบคุมข้อมูลข่าวสารที่รัฐบาลรัสเซียบังคับใช้ ทำให้นายดูรอฟต้องออกจากบริษัทและประเทศบ้านเกิด ก่อนจะตั้งบริษัทใหม่และสร้างเทเลแกรมขึ้นมา ด้วยคอนเซ็ปต์การเข้ารหัสแบบ End-to-end ที่มีเพียงผู้สื่อสารระหว่างกันสองคนเท่านั้นที่รู้ จึงดึงดูดผู้ใช้งานที่ต้องการหาความปลอดภัย ไม่ถูกแฮ็กเกอร์เจาะเข้ามาสอดแนมหรือขโมยข้อมูลไปได้

แม้แต่จุดแข็งนี้ยังดึงดูดผู้ใช้งานในไทยอีกด้วย โดยเฉพาะช่วงที่รัฐบาล คสช. ต้องการควบคุมสื่อโซเชียล เพื่อสกัดการต่อต้านรัฐบาลทหารบนโลกโซเชียลและปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ใช้โซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหว

เทเลแกรมจึงเป็นอีกทางเลือกที่บรรดานักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน ใช้งานอย่างปลอดภัย ไม่ต้องถูกรัฐบาลเจาะข้อมูลเพื่อระบุเป้าหมาย เพราะการส่งข้อความแบบเข้ารหัสที่มีการป้องกันอย่างแน่นหนา

แต่จุดแข็งที่ว่านี้เอง กลับกลายเป็นที่ถกเถียงในบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาโจมตีว่า เป็นเพียงคำโฆษณาเกินจริง ไม่สามารถป้องกันการเจาะเข้าระบบได้สมบูรณ์แบบ หรือหนำซ้ำเจ้าของแอพพ์อาจเป็นคนให้ข้อมูลผู้ใช้งานกับรัฐบาลเสียเอง และจากหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่สามารถเข้าดูได้ว่า ผู้ใช้งานที่เป็นเครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายพูดคุยอะไรกัน กว่าจะรู้ก็เกิดความสูญเสียขึ้นแล้ว

นี่จึงเป็นงานสำคัญอีกชิ้นที่เทเลแกรมต้องทำเหมือนกับโซเชียลมีเดียอีกหลายแห่ง ที่ต้องกำจัดเนื้อหาที่นำไปสู่ความรุนแรงออกไป รวมถึงพิสูจน์จุดยืนของตัวเองว่าโปร่งใส เป็นที่ไว้วางใจให้กับผู้ใช้งานอย่างที่ต้องการจะเป็นหรือไม่