สื่อโซเชียลมีเดีย กับยุคของ ‘ทาลิบัน’/บทความต่างประเทศ

In this Feb. 10, 2016 photo, Afghanis access social media websites at a private internet cafe in Kabul, Afghanistan. As the Taliban negotiates with senior politicians and government leaders following its lightning-fast takeover of Afghanistan, U.S. social media companies are reckoning with how to deal with a violent extremist group that is poised to rule a country of 40 million people. (AP Photo/Rahmat Gul)

บทความต่างประเทศ

 

สื่อโซเชียลมีเดีย

กับยุคของ ‘ทาลิบัน’

 

ดูเหมือนสถานการณ์ในอัฟกานิสถานตอนนี้ จะกำลังเป็นที่จับตาของคนทั่วโลก หลังจากกลุ่ม “ทาลิบัน” เดินหน้ายึดเมืองต่างๆ รวมถึงกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้สำเร็จ จนทำให้ผู้คนในประเทศ ต่างพากันหลบหนีออกนอกประเทศ เพราะไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มทาลิบัน

แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มทาลิบันเองก็เริ่มเปิดการเจรจากับบรรดานักการเมืองอาวุโส และผู้นำรัฐบาลต่างๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตต่อไปของประเทศอัฟกานิสถาน ภายใต้การนำของทาลิบัน

สำนักข่าวเอพีได้รายงานไว้ว่า บรรดาบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังประเมินอยู่ว่า จะจัดการอย่างไรกับกลุ่มทาลิบัน ว่าควรจะปล่อยให้ทาลิบัน สามารถใช้สื่อโซเชียลได้ตามปกติหรือไม่ หากไม่ได้มีการกระทำที่เป็นการฝืนกฎใดๆ เช่น ไม่ได้ใช้เพื่อการเผยแพร่เกี่ยวกับการกระทำที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง แต่เป็นการเผยแพร่เกี่ยวกับการปฏิรูปใหม่ๆ ของทาลิบัน หลังขึ้นมาปกครองประเทศอย่างเป็นทางการ

พร้อมกับคำถามที่ว่า ทาลิบันจะสามารถขึ้นเป็นผู้ปกครองอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการได้หรือไม่ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

เพราะในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ ยังไม่สามารถบอกอะไรได้แน่นอนถึงชะตาชีวิตของประเทศอัฟกานิสถานที่จะเป็นต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้ กลุ่มทาลิบันรีบฉกฉวยโอกาสขณะที่กองทัพสหรัฐกำลังถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน หลังสงครามอัฟกันที่ยืดเยื้อมานาน 20 ปี หากแต่การถอนทหารยังไม่ทันจะเสร็จสมบูรณ์ กลุ่มทาลิบันก็สามารถยึดเมืองใหญ่หลักๆ ของประเทศเอาไว้ได้ภายในเวลาไม่กี่วัน

ในขณะที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของอัฟกานิสถานที่ได้รับการฝึกหัดจากองทัพสหรัฐและพันธมิตร ก็ไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลืออะไรได้เลย

โดยเมื่อสมัยที่ทาลิบันเคยปกครองอัฟกานิสถานก่อนที่จะถูกสหรัฐอเมริกาใช้กองทัพบุกเข้าไปโค่นอำนาจ ในช่วงปลายปี 2001 เพื่อแก้แค้นที่พวกอัลเคด้าก่อเหตุโจมตีสหรัฐในเหตุการณ์ 9/11 ตอนนั้นในอัฟกานิสถานไม่มีทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ

จากตัวเลขของธนาคารโลกระบุว่า ขณะนั้นอัฟกานิสถานมีอินเตอร์เน็ตใช้เพียงแค่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร หากแต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศอัฟกานิสถานมีเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก

เช่นเดียวกัน กลุ่มทาลิบันเองก็มีการใช้งานสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น มีการสร้างวิดีโอต่างๆ ขึ้นมา และมีการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ที่แม้จะถูกแบน เนื่องจากกฎที่เข้มงวดของบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ แต่กลุ่มทาลิบันก็สามารถหาหนทางที่จะหลีกเลี่ยงการถูกแบนจากบนยูทูบ เฟซบุ๊ก และวอตส์แอพพ์ได้ในที่สุด

อย่างเมื่อปีก่อน กลุ่มทาลิบันได้ใช้กลุ่มในวอตส์แอพพ์ ในการแชร์ภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่น ในชุดกาวน์สีขาว และสวมหน้ากาก ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ

ส่วนบนทวิตเตอร์ นายซาบิฮัลลาห์ มูจาฮิด โฆษกของกลุ่มทาลิบัน มักจะโพสต์ข้อความต่างๆ อัพเดตสถานการณ์ของทาลิบันตลอดเวลา บนทวิตเตอร์บัญชีดังกล่าวมีคนติดตามอยู่กว่า 3 แสนราย รวมไปถึงบรรดาสื่อต่างชาติด้วย

 

เอพีรายงานว่า ในขณะที่เฟซบุ๊กและยูทูบกำลังพิจารณาให้กลุ่มทาลิบันเป็นองค์กรก่อการร้าย และจะห้ามเปิดบัญชีใช้งานบนแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่ทวิตเตอร์กลับไม่ได้มีการแบนกลุ่มทาลิบันแต่อย่างใด แม้ว่าทางทวิตเตอร์จะออกมายืนยันว่า จะเดินหน้าบังคับใช้กฎเกณฑ์ของแพลตฟอร์มตัวเองต่อไป รวมไปถึงนโยบายในการห้ามยกย่องเชิดชูการก่อความรุนแรง

นั่นหมายความว่า ทาลิบันสามารถใช้งานทวิตเตอร์ได้ ตราบเท่าที่ยังไม่มีการละเมิดกฎว่าด้วยการยุยงให้เกิดความรุนแรง

โดยทวิตเตอร์มองว่า ผู้คนในอัฟกานิสถานสามารถใช้ทวิตเตอร์เพื่อร้องขอความช่วยเหลือได้ เพราะการทำให้ผู้คนปลอดภัย คือความสำคัญลำดับต้นๆ ของผู้ใช้งานทวิตเตอร์

อย่างไรก็ตาม มีการเปรียบเทียบเหตุการณ์ครั้งนี้ กับการที่ทวิตเตอร์แบนโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี แต่กลับปล่อยมูจาฮิด โฆษกของทาลิบันสามารถโพสต์อะไรก็ได้ โดยทวิตเตอร์แบนบัญชีของทรัมป์ตลอดไป หลังจากมองว่าการทวีตของทรัมป์อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้

ส่วนตอนนี้ ทางเฟซบุ๊กเองยังไม่มีนโยบายอะไรที่แน่ชัด และยังไม่บอกเป็นที่ชัดเจนว่า จะมอบบัญชีเฟซบุ๊กของรัฐบาลอัฟกานิสถานเดิมให้แก่ทาลิบันหรือไม่ หากทาลิบันได้การรับรองว่าเป็นรัฐบาลอย่างเป็นทางการของอัฟกานิสถาน

โดยเฟซบุ๊กได้ออกแถลงการณ์มาว่า ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับรัฐบาลที่ได้รับการรับรอง แต่จะเคารพการตัดสินใจของประชาคมระหว่างประเทศ

ส่วนทวิตเตอร์ยังไม่ตอบคำถามใดๆ ในเรื่องนี้ ขณะที่ยูทูบออกแถลงการณ์ตามแนวทางทั่วไป โดยยืนยันจะทำตามมาตรการคว่ำบาตรและกฎหมายการค้าทั้งหมด และแบนทุกการยั่วยุที่ทำให้เกิดความรุนแรง

 

ซาราห์ เครปส์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ เทคโนโลยี และความมั่นคงของชาติ เตือนไว้ว่า บางทีอาจดูเหมือนต้องหาเหตุผลที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้

แต่สำหรับตนนั้นคิดว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่จำเป็นที่จะต้องมาพิจารณาว่า กลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย

และที่ผ่านมา บรรดาบริษัทโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กเอง ก็มีบทเรียนยิ่งใหญ่มาแล้ว เกี่ยวกับการถูกนำไปใช้เพื่อช่วยให้เกิดพฤติกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมา

ดังนั้น ก็ขออย่าให้เกิดเหตุสลดเช่นนั้นขึ้นอีกเลย

เครดิตภาพ AP