ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (85) เปิดรายงาน “เอดีบี”

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม

ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี (Asian Development Bank – ADB) และสถาบันพอตส์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบทางภูมิอากาศแห่งเยอรมนี หรือพีไอเค (Potsdam Institute for Climate Impact Research – PIK) ร่วมกันจัดทำรายงานเรื่องความเสี่ยงของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ เพิ่งนำออกมาเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคมนี้

รายงานชิ้นล่าสุดนี้มีความน่าสนใจตรงที่การให้ข้อมูลและฉายภาพอนาคตของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยใช้ข้อตกลงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสที่เรียกร้องให้ชาวโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม มาเป็นเกณฑ์พิจารณาและวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์

อย่างที่ทราบกันว่า “เอดีบี” เป็นธนาคารที่จัดตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก มีเป้าหมายขจัดความยากจนให้หมดไปจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

สมาชิกเอดีบีมีทั้งหมด 67 ประเทศ อยู่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก 48 ประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย ส่วนที่เหลืออีก 19 ประเทศมาจากภูมิภาคอื่นๆ

รายงานระบุว่า ทวีปเอเชียเป็นดินแดนที่มีขนาดใหญ่สุดบนโลกใบนี้ ขณะที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีความหลากหลายมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาคหรือในเชิงสังคม

ที่ตั้งของสมาชิกเอดีบี 48 ประเทศ มีความหลากหลายทางภูมิอากาศ มีทั้งเขตร้อนชื้น หนาวเย็นยะเยือก อาณาบริเวณครอบคลุมไปถึงมหาสมุทรอาร์กติก มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย

หลายประเทศตั้งอยู่บนที่ราบสูงทิเบต เป็นพื้นที่มีหิมะและน้ำแข็งครอบคลุมใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำหลักในภูมิภาคเอเชียอันประกอบด้วยแม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา แม่น้ำแยงซีและแม่น้ำโขง

จำนวนประชากรของสมาชิกเอบีดีที่เป็นประเทศกำลังพัฒนามีอยู่ถึง 3,900 ล้านคน ในจำนวนนี้มีหลายร้อยล้านคนตั้งถิ่นฐานตามริมฝั่งแม่น้ำและชายฝั่งทะเล

เอดีบีทำรายงานดังกล่าวเพื่อบอกให้มวลสมาชิก นักลงทุน เจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมรับรู้ถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเสี่ยงที่จะเกิดกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานหรือความขัดแย้งในชุมชนนั้นๆ

 

รายงานชิ้นนี้ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก ให้ข้อมูลโดยย่อถึงภาพรวมของเอเซียและแปซิฟิก

ส่วนที่ 2 เน้นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ที่ทำให้ภูมิภาคนี้มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น พายุถี่รุนแรง และภาวะน้ำท่วม

ส่วนสุดท้าย เป็นข้อมูลแสดงให้เห็นว่าโลกร้อนทำให้เกิดผลกระทบกับผู้คนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีผลกับเกษตรกรรม ระบบนิเวศน์ทางทะเล รวมไปถึงการค้าขายอย่างไรบ้าง

บทเกริ่นนำในรายงาน อ้างถึงข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 วัดอุณหภูมิผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม

สถิติปีที่มีอากาศร้อนที่สุด 17 ครั้ง ปรากฏว่ามีจำนวน 16 ครั้งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา

ความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศดังกล่าวนี้ เป็นผลมาจากชาวโลกปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศ ผลที่ตามมาทำให้หิมะละลาย ทะเลมีความเป็นกรด ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง พายุมีระดับความรุนแรงมากขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้คุกคามผู้คนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอย่างมาก

เอดีบียกตัวอย่าง ประเทศปากีสถานเกิดเหตุน้ำในแม่น้ำสินธุเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนเมื่อปี 2553 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 3,000 คน ต้นตอมาจากพายุในช่วงฤดูมรสุมที่มีปริมาณฝนมากผิดปกติ

ในปี 2558 และ 2559 ชาวอินเดียเจอคลื่นความร้อนกระหน่ำ เป็นผลจากฝนทิ้งช่วง อุณหภูมิในพื้นที่ทะลุขึ้นถึง 50 องศาเซลเซียส

 

อุณหภูมิที่สูงขึ้น มีผลต่อผิวน้ำทะเลทำให้มวลอากาศแปรปรวนและก่อตัวเป็นพายุที่มีความรุนแรง อย่างเช่น พายุไห่เยี่ยน ถล่มประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2557

น้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ยังมีผลกระทบกับแหล่งปะการังเพราะทะเลมีความเป็นกรดเข้มข้นขึ้น

แหล่งปะการังถือเป็นคลังอาหารอันยิ่งใหญ่ที่ธรรมชาติสรรค์สร้างให้นอกเหนือจากป่าไม้

ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีแหล่งปะการังมากถึงหนึ่งในสามของโลก

ภาวะโลกร้อนจึงมีผลกระทบกับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีหลายประเทศยังคงเป็นพื้นที่ยากจน

ระหว่างปี 2539-2558 เกิดเหตุการณ์รุนแรง มีความเสียหายทางเศรษฐกิจและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกอันเป็นผลจากความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชีย 6 ครั้งจากเหตุเกิดขึ้นทั่วโลก 10 ครั้ง

ได้แก่ เหตุน้ำท่วมในเมียนมา ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ เวียดนาม ปากีสถานและประเทศไทย

หนทางที่จะช่วยบรรเทาหายนภัยนั้น คือการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดของมนุษยชาติในศตวรรษนี้ แต่ปรากฏว่าชาวเอเชียและแปซิฟิกกลับตระหนักถึงเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงสูงจากหายนภัยเหล่านี้

ในทางกลับกันหลายประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มากขึ้นอีกต่างหาก

ก๊าซพิษที่ปล่อยสู่ท้องฟ้า ไม่เพียงจะทำให้สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน แต่ยังทำให้อากาศในพื้นที่นั้นๆ ปนเปื้อนไปด้วยมลพิษมีผลกระทบทางสุขภาพกับผู้คน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพฯ ปักกิ่ง เดลฮี การาจี และในอีกหลายพื้นที่ของเอเชียแปซิฟิก เสียชีวิตเพราะมลพิษทางอากาศราวๆ 3.3 ล้านคนมากกว่าคนป่วยตายเพราะติดเชื้อเอชไอวีและมาลาเรียรวมกันเสียอีก