เขย่าสนาม : ‘โตเกียว 2020’ ญี่ปุ่นได้หน้า แต่เจ็บปวดเรื่องเงิน

เขย่าสนาม

จริงตนาการ / [email protected]

 

 

‘โตเกียว 2020’

ญี่ปุ่นได้หน้า แต่เจ็บปวดเรื่องเงิน

 

โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปิดฉากลงไปแล้ว ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติที่ไม่มีโรคระบาดอะไร คงจะมีการรายงานข่าวรายได้ของเมืองเจ้าภาพที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดีไปพักใหญ่ แต่ในความเป็นจริง โอลิมปิกหนนี้ไม่ได้สร้างรอยยิ้มให้คนท้องถิ่นนัก เพราะข้อจำกัดหลายๆ อย่าง

คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว 2020 และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มีความเห็นตรงกันว่าจะไม่ให้แฟนกีฬาต่างชาติเข้าชมการแข่งขัน เพื่อป้องกันการรวมตัวที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่หนักหนาขึ้นไปอีก

ก่อนการแข่งขันเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ประกาศห้ามแฟนกีฬาญี่ปุ่นเข้าสนามเพิ่มอีกในบางเมือง โดยเฉพาะกรุงโตเกียว จนใกล้พิธีเปิด สนามต่างๆ ก็งดคนดูเข้า ทั้งโตเกียว, ฮอกไกโด, ไซตามะ, ชิบะ, คานากาวะ, ฟูกุชิมะ ยกเว้นมิยากิ และชิซึโอกะ เท่านั้น

สุดท้ายแล้วมีเพียงไม่กี่สนามที่ให้คนท้องถิ่นอย่างเด็กนักเรียนเข้าไปดูได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยสร้างความคึกคักนัก

 

ความคาดหวังของหน่วยธุรกิจและคนท้องถิ่นถึงขั้นพังทลาย เพราะหน่วยธุรกิจต่างๆ ลงทุนปรับปรุง สร้างอะไรใหม่ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะไหลเข้ามาอย่างมหาศาลในช่วงแข่งโอลิมปิก

โทชิโกะ อิชิอิ เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว บอกว่า ได้ใช้เงิน 6 ล้านบาท ในการปรับปรุงโรงแรมเพื่อต้อนรับโอลิมปิก เพราะมองเห็นโอกาสว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากมายมาชมการแข่งขัน แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด ทำให้ไม่เป็นไปอย่างที่คิด โอลิมปิกยังจัดต่อไป แต่ไม่รู้ว่าจะสามารถประคองให้โรงแรมอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน

ด้าน ทาคาฮิเดะ คิยูชิ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยโนมุระ เปิดเผยว่า การที่ไม่มีแฟนกีฬาเข้าชมในสนามทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นสูญเสียรายได้ถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (46,200 ล้านบาท)

แม้แต่ซันตอรี่ บริษัทผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ยังไม่กล้าที่จะเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ของการแข่งขัน เพราะมองแล้วได้ไม่คุ้มเสีย

ทาเคชิ นิอินามิ ซีอีโอของซันตอรี่ บริษัทผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ โยชิฮิเดะ สึกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า การที่ซันตอรี่เลือกจะไม่เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 เพราะมีราคาที่แพงเกินไป เมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้

“การห้ามทั้งแฟนกีฬาต่างชาติและแฟนกีฬาญี่ปุ่นเข้าชมในสนาม ยิ่งเป็นเรื่องที่สปอนเซอร์ได้รับผลกระทบมาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของญี่ปุ่น เพราะถ้ามีแฟนกีฬาเข้าไปในสนามได้ จะทำให้ห้างร้านต่างๆ มีรายได้เพิ่มอีกอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อพิจารณาแล้วทำให้รู้สึกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีคนดู ได้ลดคุณค่าของโอลิมปิกลงไป ดังนั้นจึงไม่ขอร่วมด้วยกับการสนับสนุนในครั้งนี้”

บริษัทห้างร้านของภาคเอกชนได้ทุ่มเงินรวมกันถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (99,000 ล้านบาท) ในการสนับสนุนให้โตเกียว 2020 จัดแข่งขันจนลุล่วงไปได้ แต่เมื่อเจอการต่อต้านจากประชาชนในประเทศ ที่อยากให้ยกเลิกการแข่งขัน เพราะกลัวว่าระบบสาธารณสุขของประเทศจะพัง เนื่องจากต้องรับภาระดูแลนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่ติดโควิด-19

โตโยต้าถอนโฆษณาและกิจกรรมต่างๆ เฉพาะที่ออกอากาศและมีขึ้นในญี่ปุ่นในช่วงแข่งขันออกทั้งไปหมด

ผู้บริหารใหญ่ที่เป็นสปอนเซอร์ของหลายบริษัทก็เลือกที่จะไม่เข้าร่วมพิธีเปิดตามคำเชิญ เพราะต้องการเคารพเสียงของประชาชนที่ไม่สนับสนุนการแข่งขัน

 

ญี่ปุ่นลงทุนกับการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ไปมหาศาล ยิ่งต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปอีก 1 ปี ยิ่งต้องหางบฯ มาอุดช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทั้งในการบำรุงรักษา ดูแลสนามแข่งขัน หมู่บ้านนักกีฬา ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ ฯลฯ จนมียอดรวมในการจัดการแข่งขันครั้งนี้อยู่ที่ 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 500,000 ล้านบาท แน่นอนว่าสูงที่สุดเท่าที่เคยใช้จัดโอลิมปิกมาทุกยุคทุกสมัย

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็จะได้เงินกลับมาพอสมควร ทั้งสปอนเซอร์ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด รวมทั้งการขายห้องพักในหมู่บ้านนักกีฬาให้ประชาชน แต่ก็คงไม่ได้เป็นไปดังหวัง เพราะประชาชนในประเทศแทบไม่ได้อะไรจากตรงนี้เลย

เบน ฟลีฟเบิร์ก นักเขียนและนักวิชาการของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า ไอโอซีและเจ้าภาพพยายามจะไม่พูดถึงเรื่องงบประมาณในการจัดโอลิมปิก เพราะรู้ดีว่าใช้เกินที่กำหนดไว้อย่างมหาศาล โอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว 2014 ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย ใช้งบฯ ไป 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ใช้งบฯ ไป 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดูจะสูงกว่าโตเกียว 2020 มากทีเดียว แต่งบฯ ที่ว่านี้ของจีนและรัสเซีย นับรวมการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งถนน ทางรถไฟ สนามบิน โรงแรมด้วย แต่ที่โตเกียวอาจจะไม่อะไรแบบนั้น

สิ่งที่โตเกียว 2020 พยายามสื่อสารกับโลก คือการไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา และอย่าให้อุปสรรคมาหยุดการตั้งใจทำอะไรสักอย่าง ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไป หลังจบโอลิมปิกและพาราลิมปิกไปทั้งหมดแล้ว ญี่ปุ่นจะเจ็บตัวจากการเป็นเจ้าภาพท่ามกลางโรคระบาดครั้งนี้อย่างไร

อีกไม่นานก็คงได้เห็น