‘รังสิมันต์ โรม’ มอง Watch List หลุด ผลัก ‘อนาคตชาติ’ เป็น ‘ปฏิปักษ์รัฐ’ 8 องค์กรประชาสังคม บีบถอนชื่อ/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘รังสิมันต์ โรม’ มอง Watch List หลุด

ผลัก ‘อนาคตชาติ’ เป็น ‘ปฏิปักษ์รัฐ’

8 องค์กรประชาสังคม บีบถอนชื่อ

ในยุคที่ใครก็เข้าถึง “ข้อมูลข่าวสาร” ได้ จึงไม่แปลกที่จะมีเรื่อง “เอกสารหลุด” ออกมา แม้แต่จะเป็นเอกสาร “ลับ” ของ “ฝ่ายความมั่นคง” ก็ตาม

ซึ่งครั้งล่าสุดนี้เป็นเอกสารที่ถูกอ้างว่าเป็นของตำรวจ

โดย “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่ขบวนการ “หมายหัว” ว่า เอกสารจับตาบุคคล 183 รายชื่อจากรัฐ คนที่ไม่สยบต่อรัฐบาลเป็นภัยความมั่นคงไปแล้ว โดยได้รับเอกสาร “ลับที่สุด” จากบัญชีความมั่นคง แก้ไขวันที่ 1 มิถุนายน 2564 มีลิสต์รายชื่อบุคคล 183 รายชื่อ และบัญชีโซเชียลมีเดีย 19 บัญชี

ระบุเป็นวอตช์ลิสต์และสถานะคดีของผู้ถูกหมายตาจากรัฐ โดยลงชื่อที่มุมขวาล่างว่ามีถึง พ.ต.ท.หญิง โสภิดา สว.กก.สส.ปป.บก.ตม.2

ซึ่งใน 183 รายชื่อ ปรากฏชื่อนักเคลื่อนไหวทางการเมือง สื่อมวลชน นักการเมือง โดยมี ส.ส.ก้าวไกล 4 คน ได้แก่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค, อมรัตน์ โชคปมิตกุล และรังสิมันต์ โรม รวมทั้งอดีตผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่-คณะก้าวหน้า ได้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรณิการ์ วานิช

 

ด้าน พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รองโฆษก สตม. ชี้แจงกรณีมีการระบุว่ามีเอกสาร “ลับที่สุด” มีรายชื่อบุคคลทางการเมืองเป็นบุคคลเฝ้าดูนั้น ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วได้รับการยืนยันจาก พล.ต.ต.วีรพล เจริญศิริ ผบก.ตม.2 ยืนยันว่า พ.ต.ท.หญิงโสภิดาซึ่งเป็นสารวัตรที่ทำหน้าที่ด้านงานธุรการในสังกัด บก.ตม.2 แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดทำ และไม่ใช่เอกสารที่ทาง สตม.ทำขึ้น

หากบุคคลตามที่อ้างถึงตามข่าวไม่ใช่บุคคลตามหมายจับคดีอาญาหรือเป็นบุคคลที่ถูกจับกุมและศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกจากราชอาณาจักร ก็สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้ตามปกติ

ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเดินทางเข้า-ออกประเทศได้ตามปกติ ไม่ได้มีการจับกุมแต่อย่างใด

ส่วน พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการ สตม. ชี้แจงว่า จะตรวจสอบถึงที่มาของเอกสารลับดังกล่าว แต่เบื้องต้นได้รับการยืนยันจาก พล.ต.ต.วีระพล สวัสดี ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ว่าไม่เคยทำบัญชีเฝ้าระวังบุคคลทางการเมือง

เอกสารลับดังกล่าว จึงไม่ใช่เอกสารที่ออกจาก สตม.

 

ทั้งนี้ “รังสิมันต์ โรม” มองปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายความมั่นคง ที่มีหน้าที่ทำให้ประชาชนอยู่อย่างสงบสุขนั้น ดูเหมือนจะไม่เกิดขึ้นแล้ว กลายเป็นว่าเงินภาษีของประชาชนถูกใช้ไปกับกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อทำลายความสงบสุขของสังคมเสียเอง

อีกทั้งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อยู่ในลิสต์รายชื่อดังกล่าว มีคนจำนวนมากที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ดังนั้น เราจึงเห็นการนำเครื่องมือของรัฐที่ควรใช้ปกป้องประชาชน แต่กลับถูกนำมาใช้ติดตามบุคคลเหล่านี้ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

นอกจากนี้ “รังสิมันต์ โรม” กล่าวถึงการพบรายชื่อเยาวชนอยู่ด้วย ซึ่งความรู้สึกแรกคือ รัฐบาลกำลังเป็นปฏิปักษ์กับอนาคตของชาติหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับได้แล้วว่าผู้มีอำนาจจะอยู่ในโลกนี้ได้อีกนานแค่ไหน แต่กลับใช้เครื่องมือของรัฐปกป้องตัวเอง เพื่อจับตาเด็กอายุ 15 ปี และจับตาคนที่เกิดปี 2540-2549 ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 66 คน สะท้อนว่าผู้มีอำนาจจะทำอะไรกับอนาคตของประเทศเหล่านี้ และเชื่อว่าลิสต์ที่มีการเผยแพร่ยังไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ลิสต์นี้จึงเป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” โดยตัวเลขที่แท้จริงนั้นมากกว่านี้เยอะ

 

อย่างไรก็ตาม “รังสิมันต์ โรม” มองถึงปัญหาเรื่องนี้ว่า เราไม่ทราบถึงกระบวนการทำวอตช์ลิสต์ ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่มีเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร ซึ่งอย่างน้อยการติดต่อสื่อสารระหว่าง “ระบบราชการ” เมื่อไปอยู่ในวอตช์ลิสต์แล้วอาจได้รับผลกระทบบางอย่างด้วย

เช่น กรณีของตนเองนั้น ภรรยาถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งภายหลังได้มีการสืบค้นและทราบว่าเป็น จนท.สันติบาล ดังนั้น วอตช์ลิสต์ที่ออกมา มีชื่อนายตำรวจกำกับลงท้ายกระดาษ เป็นบุคคลที่ทำงานอยู่ใน สตม. รวมทั้งมีเลขพาสปอร์ตของลิสต์รายชื่อ และถึงขั้นเป็นเลขพาสปอร์ตราชการ

จึงมองว่าคนที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่ใช่คนธรรมดา รวมทั้งรูปถ่ายจำนวนมากที่อยู่ในเอกสาร พบว่าเป็นรูปถ่ายที่หน่วยงานรัฐจะเข้าถึงได้เท่านั้น เพราะมีรูปถ่ายที่เหมือนในบัตรประชาชน

ซึ่งบุคคลในลิสต์โดยประสบการณ์ส่วนตัวพวกเขา ก็โดนการข่มขู่ติดตามอยู่ตลอด และปรากฏข้อมูลสถานะทางคดี

สิ่งเหล่านี้เชื่อได้ว่าหน่วยงานราชการน่าจะเป็นคนจัดทำขึ้นมา เพราะจะมีสักกี่คนที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้

“ผมมองว่าบ้านเมืองเราในขณะนี้ กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่กลไกรัฐถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้ประชาชนเป็นศัตรูกับรัฐ ซึ่งผมมองว่าคนที่เป็นเหยื่อไม่ได้อยู่แค่เพียงในลิสต์นี้เท่านั้น ผมอยากให้มองว่ามีเจ้าหน้าที่อีกกี่คนที่ถูกบังคับให้มาทำในสิ่งเหล่านี้ โดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจทำ เพราะอยากเป็น ตร.ที่ทำคดีต่างๆ มากกว่ามาตามนักกิจกรรม ตามนักการเมือง ทั้งที่ไม่ได้มีความผิดหรือเป็นโจรผู้ร้าย แต่พวกเขาเป็นเพียงคนที่คิดไม่เหมือน พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น และเรากำลังเห็นบรรยากาศแห่งความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นมาจากผู้ถือครองอำนาจรัฐเอง” รังสิมันต์ โรม กล่าว

“โดยปกติแล้วหน่วยงานพวกนี้ เวลาหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาถามเขา จะต้องตอบให้ได้ ซึ่งมีผลต่อการเลื่อนขั้น ทำให้ตำรวจต้องแสดงผลงาน ดังนั้น ต้องมีการทำข้อมูลอย่างนี้ออกมา หากถามว่าถูก พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้ทำหรือไม่นั้น ในระดับหนึ่งก็ต้องตอบว่าใช่ แต่ในอีกระดับหนึ่ง เขาก็ต้องทำเอง ดังนั้น จึงมาบรรจบพบกันเพื่อให้ผู้บังคับบัญชามีผลงานมากขึ้น และเพื่อเอาใจนายกฯ ให้มากที่สุด หากถามว่าเป็นการกล่าวหานายกฯ หรือไม่นั้น เพราะนายกฯ คุมตำรวจ ซึ่งตำรวจอยู่ภายใต้จากยุค พล.อ.ประวิตร มายัง พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงเวลาที่ตำรวจอยู่ภายใต้ทั้ง 2 คนนี้ ค่อนข้างมีความต่อเนื่องและยาวนาน ดังนั้น การทำวอตช์ลิสต์ต้องอยู่ภายใต้หูตาหรือการรับรู้ของคนที่กำกับดูแล ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร” รังสิมันต์ โรม กล่าว

ส่วนพรรคก้าวไกลจะดำเนินการต่อไปอย่างไร นายรังสิมันต์ โรม เปิดเผยว่า เราอาจต้องดำเนินการทางกฎหมาย โดยส่วนตัวกำลังอยู่ระหว่างหารือภายในพรรค จะดำเนินการต่อไปได้มากแค่ไหน เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจง ซึ่งทางพรรครอฟังเหตุผลของเจ้าหน้าที่

แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วการชี้แจงก็ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับคนที่อยู่ในลิสต์รายชื่อดังกล่าวได้

และสุดท้ายแล้วเวลาเราจับได้ว่าเขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เขาก็จะเงียบไป เพื่อให้เรื่องเงียบไป พอเวลาผ่านไปแล้ว ก็จะกลับมาใหม่ สังคมไทยก็จะอยู่ในความกลัว ซึ่งทางพรรคก้าวไกลจะไม่ปล่อยให้เกิดเรื่องดังกล่าวต่อไปอีก

ส่วนเรื่องนี้อยู่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้น ขอให้ติดตามต่อไป

 

ในฝั่งภาคประชาสังคม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม 8 องค์กร ประกอบด้วย กลุ่มด้วยใจ, เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ Jasad, Patani Human Rights Organization Network, ภาคี Save บางกลอย, Manushya Foundation, มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการจัดทำรายชื่อบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง (Watchlist) เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการแสดงออก และคุกคามสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

โดยขอสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบวอตช์ลิสต์ที่ปรากฏเป็นข่าว ผ่านการตั้งกระทู้ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการชุดที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้ได้ความจริงจากรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงความชอบด้วยกฎหมายของการจัดทำ อีกทั้งตรวจสอบวอตช์ลิสต์บัญชีดำอื่นๆ ที่หน่วยงานของรัฐได้ทำ การแจกจ่าย และยึดถือปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน

พร้อมขอให้ สตช. และหน่วยงานที่สร้าง หรือมีวอตช์ลิสต์ทำลายและถอนชื่อบุคคลออกจากวอตช์ลิสต์ทันที โดยเฉพาะบุคคลที่ศาลไม่ได้มีคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างมืออาชีพ มีความสำนึกในการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยึดถือกฎหมายอย่างเคร่งครัด .

อย่าได้ตกเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการเมือง