รู้จักประเภทของ “ยันต์ล้านนา” ตั้งแต่ป้องกันผี ถึงปกป้องพืชผล

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ยันต์ล้านนา”

หมายถึง ยันต์โดยทั่วไป และหมายรวมถึงเครื่องรางที่อยู่ในรูปของตะกรุดด้วย

คำว่า “ยันต์” หากจะค้นหาความหมายที่ลึกซึ้งลงไปก็เป็นเรื่องที่ใหญ่โตไม่น้อย เพราะยันต์มีมาแต่โบราณในหลายๆ ลัทธิ หรือศาสนาของชนชาติต่างๆ ทว่าถ้ามองแคบลงมาในไทยและล้านนาก็พอจะมองเห็นความหมายที่ชัดเจนขึ้นได้

อาจารย์เปลื้อง ณ นคร บัญญัติว่า ยันต์ แปลว่า เร็ว คล่อง ง่าย

โบราณาจารย์ต้องการให้คนนำข้อธรรมติดตัวไปปฏิบัติคล่องแคล่วและจำได้ง่ายๆ จึงใช้วิธีย่อโดยถอดเอาอักษรที่เป็นหลักในข้อความหนึ่งๆ ออกมาเขียนลงในแผ่นผ้าหรืออย่างอื่น ในขณะที่เขียนยันต์อาจารย์ก็บริกรรม

ในความหมายดังกล่าว จะเห็นว่าแรกๆ ดูเหมือนจะเป็นพุทธวิธีในการนำข้อธรรมไปปฏิบัติ

แต่พอตอนท้าย บอกว่า “ขณะที่เขียนอาจารย์ก็บริกรรม” ถ้ามีการบริกรรมก็หมายถึงไสยวิธีด้วย เพราะบริกรรมเป็นการร่ายมนต์หรือเสกคาถาซ้ำๆ หลายหนเพื่อให้เกิดความขลัง

สอดคล้องกับคำนิยามของคำว่า “ยันต์” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่า ยันต์หมายถึง ตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระหรือรูปภาพที่เขียน สัก หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น

ถือว่าเป็นของขลัง เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้า 5 พระองค์

เรียกเสื้อหรือผ้าเป็นต้นที่มีลวดลายเช่นนั้นว่า เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ เรียกกิริยาที่ทำเช่นนั้นว่า ลงเลข ลงยันต์

 

ดังนั้น ยันต์จึงมีความหมายโดยนัยทางวัตถุประสงค์สองอย่างใหญ่ๆ คือ

อย่างแรก เพื่อย่นย่อหัวข้อธรรมด้วยรหัสอักขระและตัวเลขลงในที่จำกัดสำหรับไปใช้ปฏิบัติ

อย่างต่อมา คือเพื่อใช้เป็นเครื่องราง เฉพาะอย่างแรกคงใช้กันในวงแคบ แต่อย่างหลังใช้กันมากและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และยันต์อย่างหลังที่ว่าในส่วนของไทยจะลงด้วยตัวเลขและอักษรขอมโดยมีลักษณะปรากฏทั่วไปเป็นแผ่นยันต์

สำหรับ “ยันต์” ของล้านนาจะลงด้วยตัวเลขและอักษรธรรมล้านนา มีทั้งรูปลักษณะที่เป็นแผ่นยันต์และตะกรุด มีวัตถุประสงค์ในการใช้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องรางซึ่งอาจแบ่งเป็นประเภทให้ผลตามคุณสมบัติต่างๆ เช่น

ก. ประเภทให้ผลทางสิริมงคล เช่น ยันต์หัวเสา ยันต์โขงชาตา

ข. ประเภทให้ผลทางโชคลาภ เช่น ยันต์จักกิ้ม (จิ้งจก) สองหาง ยันต์สีวลี

ค. ประเภทให้ผลทางเมตตามหานิยม เช่น ยันต์พรหมสามหน้า ยันต์ม้าเสพนาง

ง. ประเภทให้ผลทางด้านสะเดาะเคราะห์ เช่น ยันต์คลาดแคล้ว ยันต์โพธิสัตว์หลีกเคราะห์

จ. ประเภทให้ผลทางป้องกันผี เช่น ยันต์ปุริสาทกินผี ยันต์เวสสุวรรณ

ฉ. ประเภทให้ผลทางป้องกันอาวุธ เช่น ยันต์เสือโคร่ง ยันต์หรมาน

ช. ประเภทให้ผลทางป้องกันภัย เช่น ยันต์กั้งก่า ยันต์นกขุ้ม

ญ. ประเภทให้ผลทางป้องกันพืชผลและสัตว์เลี้ยง เช่น ยันต์รอก (โปงแขวนคอ) ยันต์นะโมตาบอด

ฏ. ประเภทใช้ไปกระทำกับผู้อื่น เช่น ยันต์ผ่าจ้าน ยันต์หนีบ

เป็นต้น

 

รายละเอียดเกี่ยวกับยันต์ยังมีอีกมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นฤกษ์ยาม มนต์คาถา วัสดุและพิธีกรรม

กล่าวคือ การลงยันต์ต้องหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมกับประเภทของยันต์

เช่น ยันต์บางประเภทต้องลงในวันพญาวัน (วันเถลิงศก)

บางประเภทลงคืนจันทรุปราคา

บางประเภทลงวันสุริยุปราคา

การใช้คาถาจะใช้ตั้งแต่การลากเส้น ขมวดเส้น ลงเลข ลงอักขระ

ส่วนวัสดุมีทั้งวัสดุที่เป็นแผ่นโลหะ ใบลาน เขี้ยว เขา นอ และงา

และโดยรวมทั้งหมดที่เป็นกระบวนการในการผลิตรวมถึงการนำไปใช้ล้วนมีพิธีกรรมรองรับตามที่ตำราโบราณกำหนดในแต่ละประเภทแตกต่างกันไป

 

ยันต์นี้ใช้ฝังหุ่นคนแล